รีวิว GWM TANK 500 DIESEL พร้อมปะทะพีพีวี ญี่ปุ่น-อเมริกัน
TANK 500 DIESEL ยอดขายอาจจะไม่สูงไปกว่า TANK 300 ด้วยราคาหรือระดับการทำตลาดที่ถูกแพงกว่ากันเกิน 4 แสนบาท แต่เชื่อว่าหลังการเปิดตัวรุ่นเครื่องยนต์ดีเซลวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ การตอบรับจะดีกว่าเดิมครับ (ปี 2567 TANK 500 รุ่นไฮบริดขายได้ 176 คัน)
GWM TANK 500 DIESEL ราคาน่าจะปรับลดลงมาหลายแสนบาท เมื่อเทียบกับรุ่นไฮบริด แม้ต้องแบกภาษีสรรพสามิตที่เพิ่มขึ้นจาก 10.5% (ไฮบริดประกอบไทย ปล่อยไอเสียไม่เกิน 200 กรัม/กม.) เป็น 20% (พีพีวี ดีเซล)
เกรท วอลล์ มอเตอร์ ยืนยันว่า GWM TANK 500 DIESEL วางตัวอยู่ในเซกเมนต์พีพีวีพรีเมี่ยม แบ่งการตลาดเป็น 3 รุ่นย่อย คือรุ่นขับเคลื่อนสองล้อ 2.4T PRO และ 2.4T ULTRA ส่วนตัวท็อป 2.4T ULTRA 4WD ขับเคลื่อนสี่ล้อ จะมีรุ่นพิเศษ “นักรบทมิฬ” Black Warrior เพิ่มเข้ามา ที่จะโดดเด่นด้วยพาร์ทสีดำ ทั้ง กระจังหน้า โลโก้ โคมไฟหน้า ล้อขนาด 20 นิ้ว
เหนืออื่นใด ตอนแรกที่ผมเห็นสเปกก็ “งง” ว่า ทำไมตัวรถสั้นลงไม่ถึง 5 เมตร แต่พอเจอคันจริงก็ถึงบางอ้อ เพราะวิศวกรเขาย้ายตำแหน่งยางอะไหล่จากแปะไว้ที่ฝาประตูท้าย ไปอยู่ด้านใต้ของรถ เหมือนกับพีพีวีทั่วไป ซึ่งในรุ่นไฮบริดตำแหน่งนี้จะถูกกินพื้นที่ ไปจากชุดแพกแบตเตอรี่
อย่างไรก็ตาม การเปิดฝาท้ายแบบประตูตู้เย็น ถ้ากางออกมาสุดๆ ยังกินพื้นที่กว่า 1 เมตร ส่วนการปิด GWM ติดตั้งระบบ Soft Close ประตูดูดมาให้ด้วย
ก่อนการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ผมมีโอกาสได้ลองขับ GWM TANK 500 DIESEL ULTRA 4WD เส้นทางกรุงเทพ-กาญจนบุรี
พีพีวีน้องยักษ์โครงสร้างบอดี้ออนเฟรม ระยะต่ำสุดจากพื้น 224 มม. ตำแหน่งผู้ขับทัศนวิสัยดี แต่ต้องใช้เวลาปรับตัวกับรถพอสมควร โดยเฉพาะการควบคุมพวงมาลัยที่น้ำหนักเบา และการตอบสนองของเบรก
ตัวเครื่องยนต์เดินเรียบ เงียบนิ่ง แล้วจริงๆ GWM TANK 500 น่าจะเป็นรถในกลุ่มพีพีวี ที่ภายในห้องโดยสารเงียบที่สุด ด้วยการซีล การแดมป์ทั่วคัน และใช้กระจกลามิเนตสองชั้น พร้อมฟังก์ชัน Active noise cancellation ที่คอยส่งคลื่นเสียงตรงข้ามกับเสียงรบกวนมาหักล้างกัน
ส่วนเครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบ ขนาด 2.4 ลิตร เทอร์โบแปรผัน ให้กำลังสูงสุด 184 แรงม้า ที่ 3,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 480 นิวตันเมตร ที่ 1,500 - 2,500 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 9 สปีด อัตราเร่งช่วงออกตัวไม่อุ้ยอ้าย รถขับเคลื่อนได้ตามที่ใจคิด
ส่วนช่วงล่างที่วิศวกรของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ บอกว่าปรับปรุงใหม่ ขับจริงๆ ยังออกแนวนุ่ม มีอาการย้วยนิดๆ ซึ่งในภาพรวม ฟอร์ด เอเวอเรสต์ ยังให้ความรู้สึกเนียนกว่าทั้งการทรงตัว และการเก็บแรงสะท้านจากพื้นถนน
โครงสร้างการรองรับของ GWM TANK 500 DIESEL รุ่น Ultra ด้านหน้าเป็นปีกนกสองชั้น หลังมัลติลิงค์ ประกบล้อ อัลลอย 20 นิ้ว ยาง Continental ขนาด 265/50 R20 (ถ้ารุ่น PRO ใช้ล้อ 18 นิ้ว กับยางจีน Westlake 265/60 R18)
ฟังก์ชันการขับขี่อู้ฟู่ หรูหรา ทั้งขับสอง-ขับสี่ รวม 8 โหมด คือ 2H, 4H, 4L, โหมดพื้นหิมะ, พื้นโคลน, พื้นทราย, พื้นหิน และโหมดผู้เชี่ยวชาญ ขับในเมืองดี ลุยออฟโรดได้พอสมควร
ข้อมูลของ GWM ระบุว่า การออกแบบรถรุ่นนี้ คำนึงถึงโครงสร้างนิรภัย ถ่ายเทแรงกระแทกรอบทิศทาง ช่วยกระจายแรงปะทะได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบริเวณโครงสร้างรับแรงหลัก ใช้เหล็กกล้าแรงดึงสูงพิเศษ (Ultra-High Strength Steel) ที่มีค่าความเค้นสูงสุด(Yield Strength) เกิน 1,500 MPa เพื่อลดการยุบตัวของหลังคาในกรณีเกิดแรงกระแทก
โครงสร้างหลังคาสามารถรองรับแรงกดได้สูงถึง 96.58 กิโลนิวตัน ขณะที่ตัวถังมีความแข็งแรงต่อแรงบิด (Torsional Stiffness) สูงถึง 23,076 นิวตันเมตร และความแข็งแรงต่อการดัดงอ (Bending Stiffness) 5,602 นิวตันเมตร ซึ่งสามารถทนต่อแรงกดบนหลังคาได้มากกว่ามาตรฐานถึง 4 เท่า ทั้งหลายทั้งปวงส่งผลให้ GWM TANK 500 มีน้ำหนัก 2.56 ตัน หนักที่สุดในตลาดพีพีวี
ดังนั้น เครื่องยนต์ดีเซล 2.4 ลิตร เทอร์โบ จึงแบกภาระความคาดหวังไว้เต็มๆ แต่ยังดีที่ได้เกียร์ 9 สปีดมาช่วยส่งกำลัง สุดท้ายอัตราบริโภคน้ำมันที่ผมทำได้ ช่วงขับลงจากเขื่อนศรีนครินทร์มุ่งหน้า กำแพงแสน จ.นครปฐม อยู่ที่ 10-11 กม./ลิตร
รวบรัดตัดความ… GWM TANK 500 DIESEL จะต้องทำราคาให้น่าสนใจมากขึ้น หรือควรจะอยู่แถวๆ 1.5-1.7 ล้านบาท เพราะตัวท็อป Ultra ตัดออพชันไปจากรุ่นไฮบริดพอสมควร เช่น ระบบปรับไฟฟ้าของเบาะนั่งแถวสาม พวงมาลัย และบันไดข้างไฟฟ้า ทว่าฟังก์ชันอื่นๆ ที่อำนวยความสะดวก-ความปลอดภัย ยังจัดเต็มเหนือคู่แข่ง ดูคุ้มราคาเมื่อเทียบกับพีพีวีรุ่นอื่นๆในตลาด ขณะที่สมรรถนะการขับขี่ออกแนวกลางๆ ช่วงล่าง ไม่ได้ดีที่สุด แต่ก็ไม่เลวร้าย ใช้งานในชีวิตประจำวันได้สบายครับ
รีวิว GMW TANK 500 DIESEL : กรกิต กสิคุณ