โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

10 ปีการต่อสู้ของลูกเกด ชลธิชา จากนักศึกษา เลขาธิการม็อบ สู่ผู้แทนราษฎร และจำเลยม.112

iLaw

อัพเดต 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • iLaw

รัฐประหารปี 2557 ผ่านมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว เรามีรัฐบาลทหาร มีการเลือกตั้งที่ทำให้ได้นายกฯ ซึ่งเป็นผู้ทำการรัฐประหาร จนมาสู่รัฐบาลพลเรือนภายใต้รัฐธรรมนูญจากทหาร ขณะที่การเมืองมีพัฒนาการเปลี่ยนไปตามเวลา ‘ลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว’ เริ่มเป็นที่รู้จักจากบทบาทของนักศึกษาที่ชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร กลายมาเป็นนักเคลื่อนไหวเต็มตัว และล่าสุดกับบทบาทสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน ซึ่งยังคงนิยามตัวเองว่า ‘นักปกป้องสิทธิ’

ลูกเกดยังคงบทบาทในสภา ไปพร้อมกับการสู้คดี มาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งเธอเองก็บอกว่า คดีนั้นไม่กระทบกับงานในสภา และจิตใจที่เตรียมพร้อมเสมอของเธอ แต่ตั้งใจทำหน้าที่เต็มที่เพื่อไม่ให้ตัวเองเสียดายภายหลัง แต่ก็ยังหวังว่าหากวันนึงการเมืองดี เธอจะได้พักจากการต่อสู้ ไปทำความฝันของตัวเอง

จากจำเลย ม.116 สู่ จำเลย ม.112 - 10 ปีที่กระบวนการยุติธรรมยังคงมีปัญหาไม่เปลี่ยนไป

ลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว ผู้แทนราษฎร พรรคประชาชนเขต 3 จังหวัดปทุมธานี แม้ เธอจะมีหน้าที่ตำแหน่งในสภาที่มักเป็นปากเป็นเสียงให้กับประเด็นสิทธิมนุษยชน แต่ในอีกมุมหนึ่ง เธอยังคงเป็นผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง กับ มาตรา 112 ที่คดียังไม่สิ้นสุด

“เกดถูกดำเนินคดี ม.112 ทั้งหมด 2 คดี คดีแรกเป็นคดีที่เราเรียกว่าคดีราษฎรสาสน์ เป็นคดีที่เขียนจดหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ ซึ่งก็โดน พ.ร.บ.คอมฯ กับมาตรา 112 ส่วนอีกคดีหนึ่งเป็นคดีการปราศรัยที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี ซึ่งในครั้งนั้นเราปราศรัยเพื่อพูดถึงข้อเสนอ และข้อเรียกร้องเรื่องปัญหาของกฎหมายที่ออกมาในยุค คสช. ที่ขัดกับหลักการปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง รวมไปถึงข้อเสนอในเรื่องของการปฏิรูปสถาบันฯ

คดีของศาลจังหวัดธัญบุรี ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว กําลังอยู่ในระหว่างศาลอุทธรณ์ซึ่งจะพิพากษาในเดือนนี้ ส่วนคดีราษฎรสาส์น น่าจะพิพากษาในเดือนกันยายน” ลูกเกดกล่าวในเดือนกรกฎาคม 2568

ลูกเกดเล่าว่า แม้เหตุการณ์ที่เป็นสาเหตุของการถูกฟ้อง จะผ่านมาถึง 4-5 ปีแล้ว แต่เธอยังคงจำเหตุการณ์ในวันนั้น และการปราศรัยของตัวเองได้ แต่ก็ยืนยันว่า การปราศรัยของตัวเองนั้น เป็นไปตามข้อเท็จจริง

“คดีราษฎรสาส์น เป็นกิจกรรมที่เราไปร่วมชุมนุม เดินขบวนไปที่หน้าพระบรมมหาราชวัง เพื่อยื่นจดหมายในการปฏิรูป ซึ่งหลังการชุมนุมไม่ได้มีผู้ที่ถูกดําเนินคดีในตอนนั้น แต่ว่ามาถูกดําเนินคดีหลังจากที่มีการโพสต์ตัวจดหมาย เนื้อหาในจดหมายที่เรายื่นเข้าไป”

“ส่วนคดีที่ธัญญบุรี มันคือการจัดคาร์ม็อบ เพื่อไปที่หน้าศาล แล้วก็พูดถึงเรื่องสิทธิในการประกันตัว ซึ่งวันนั้นเราก็ได้ขึ้นเวทีพูดด้วยว่า คนที่ถูกดําเนินคดีอยู่แล้วก็ยังไม่ได้สิทธิในการประกันก็ล้วนแล้วแต่มีความปรารถนาดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และพวกเขาเองก็มองเห็นปัญหาที่มันเกิดขึ้น ซึ่งเราก็ได้ปราศรัยเพื่อตอกย้ำว่ามันมีกฎหมายหลายๆ ฉบับที่ออกมาในยุค คสช. ที่มันมีปัญหาจริงๆ ทั้ง พ.ร.ก.โอนอัตรากําลังพลฯ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ที่ออกมาแล้วมีปัญหา การปราศรัยในวันนั้นก็ไม่ได้มีคําหยาบคาย เป็นการปราศรัยใจความตามกฎหมายที่ออกมา ซึ่งคือข้อเท็จจริงเพียงแต่ว่า เราเอามาพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นแค่นั้น” ในเหตุการณ์ชุมนุมครั้งเดียวกันนั้น มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีหลายคน แต่ลูกเกด เป็นเพียงคนเดียวที่ถูกแจ้งความ ม.112

แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็ได้ประเมินอยู่แล้ว และรู้ตั้งแต่ตอนแรกว่า ท้ายที่สุดคงจะถูกดำเนินคดี แต่ก็ตัดสินใจและยืนยันที่จะเคลื่อนไหวต่อ และเตรียมใจในกรณีที่แย่ที่สุดไว้อยู่เสมอ

"ประเมินไว้อยู่แล้วว่ายังไงก็ต้องถูกดําเนินคดีด้วยมาตรา 112 เพราะว่า"มันมีหลายเคสหลายกรณีที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้มาก่อนโดยตลอด เราก็ยังยืนยันนะคะว่าสิ่งที่เราพูด และสื่อสารออกไปเป็นข้อเท็จจริง แล้วก็เป็นความปรารถนาดีที่ต้องการให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้พระองค์ท่าน และสถาบันได้อยู่อย่างมั่นคง สถาพรในประเทศไทย ดังนั้นแล้ว เราค่อนข้างมั่นใจว่า เราจะพยายามต่อสู้คดีความในกระบวนการยุติธรรมให้เต็มที่ที่สุด”

“เราย้ำกับตัวเองว่าเราทําไปเพื่ออะไร ที่เราสู้อยู่ เราสู้ไปเพื่ออะไร แล้วคําตอบของเรา เราไม่ได้สู้แค่เพื่อเป็นฮีโร่ หรือต้องการมีชื่อเสียง เราไม่เคยอยากได้ชื่อเสียงเหล่านั้น แต่เราค่อนข้างที่ชัดเจนว่า เราต่อสู้หรือสิ่งที่เราทําอยู่ เพราะว่าเราอยากได้สังคมที่มันมีอนาคตมากกว่านี้ เราอยากเห็นสังคมที่มันดีขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นแล้วก็พยายามทําทุกวันให้เต็มที่ที่สุด ให้ดีที่สุด จะได้ไม่ต้องเสียใจหลังจากที่ไม่ว่าคําพิพากษาหรือสิ่งที่ตามมาหลังจากนี้มันคืออะไร”

“ในส่วนของการเตรียมความพร้อม มันเริ่มต้นจากการทําความเข้าใจตัวเองก่อนว่าเราทําไปเพื่ออะไร แล้วเรารู้อยู่ว่าในทุกการเปลี่ยนแปลงมันค่อนข้างใช้ระยะเวลามาก ดังนั้นแล้วในสิ่งที่เรากําลังเผชิญอยู่ มันก็คงเป็นหนึ่งในสิ่งที่จะเกิดขึ้น

ในอีกร้อยแปดพันอย่างก่อนที่ประเทศจะเปลี่ยนในแบบที่เราอยากให้เป็น”

ประสบการณ์หลายคดี หลายยุค ยังเห็นกระบวนการยุติธรรมมีปัญหา

ก่อนจะมาตกเป็นจำเลยในคดีที่ร้ายแรงที่สุดของยุคสมัย ลูกเกดเคยถูกดำเนินคดีมาแล้วหลายข้อหาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การชุมต่อต้านการรัฐประหาร ด้วยข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 หรือข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ซึ่งแม้ระยะเวลาต่างกันหลายปี เธอก็ได้เห็นความแตกต่างของคดี รวมไปถึงประสบการณ์ และการถูกปฏิบัติต่างๆ ที่หล่อหลอมเธอจนเป็นอย่างที่เป็นอยู่ในวันนี้

“คดีในตอนนั้น กับตอนนี้ มันมีความแตกต่างค่อนข้างเยอะ อย่างตอนช่วงนั้น สถานการณ์มันก็ค่อนข้างยากมากๆ เช่นเดียวกัน คือ ตอนนั้น แม้มันจะเป็นแค่ มาตรา 116 โทษมันเบากว่า 112 แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า 116 ในวันนั้น ถูกขึ้นศาลทหาร และกระบวนการต่อสู้คดี ในชั้นศาลทหารก็ไม่ได้ง่ายสําหรับพลเรือน ทีนี้พอย้อนกลับมามาตรา 112 ในปัจจุบัน แน่นอนว่าโทษมันสูงกว่า สิ่งที่มันแตกต่างจาก 116 ในคดีหอศิลป์ฯ คือมันได้ขึ้นศาลพลเรือน แต่เกดมองว่าไม่ว่าจะเป็นคดีที่ศาลทหารในตอนนั้น หรือคดี 112 ในตอนนี้ เราพบว่ากระบวนการยุติธรรมยังมีปัญหาไม่แตกต่างกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นศาลพลเรือนก็ตาม”

“สำหรับคดี 116 ในตอนนั้น เกดเคยติดคุก ระหว่างที่ไม่ได้สิทธิประกันตัว ตอนปี 2568 เขาให้เข้าเรือนจำไปประมาณ 14 วัน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลําบาก และทำให้เห็นปัญหาข้างในเรือนจําค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพความเป็นอยู่ แนวคิดของผู้คุมในเรือนจําด้วย ที่ตอนนั้นอาจจะไม่ได้คํานึงถึงเรื่องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์มากนัก มีเรื่องของการถูกล่วงละเมิดภายในเรือนจํา อย่างเช่นการบังคับให้ขึ้นขาหยั่ง แล้วก็ตรวจภายใน ใช้นิ้ว สอดเข้ามาในอวัยวะเพศ เพื่อตรวจภายใน อันนี้เป็นประสบการณ์ที่ยากลําบาก

ส่วนกรณีต้องติดสาย EM เป็นคดี 112 หลังช่วงม็อบปี 63-64 ตอนนั้นในระหว่างที่ต้องประกันตัว หลังจากที่อัยการสั่งฟ้อง ศาลมีคําสั่งให้ประกันตัวได้ แต่ว่าก็ต้องใส่กําไล EM และมีเรื่องของเคอร์ฟิว ซึ่งในช่วงนั้นเราก็รู้สึกว่า เงื่อนไขที่ได้มา มันไม่เป็นธรรมมากๆ ก็พยายามเดินสายทํางานเพื่อให้ความรู้ เพื่อสื่อสารถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่ไปตั้งเงื่อนไขการประกันตัวที่มันมีปัญหาในลักษณะเช่นนี้กับทั้งเวทีโลก รวมไปถึงสื่อมวลชนด้วย”

10 ปีบนถนนที่ยากเย็น ทุกเรื่องมีความก้าวหน้าของมันเอง

ประสบการณ์เหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในช่วงไม่กี่ปี แต่ยาวนานในชีวิตของลูกเกดถึง 10 ปี หรืออาจเรียกได้ว่าถึงหนึ่งในสามของช่วงชีวิตเธอ ซึ่งเธอก็เห็นว่าการต่อสู้ของเธอเปลี่ยนไปตามช่วงวัย

“แน่นอนค่ะว่าในแต่ละช่วงวัย แล้วก็บริบททางการเมือง รูปแบบการเคลื่อนไหว หรือว่าการเรียกร้องของเรา มันก็แตกต่างกันออกไปในแต่ละยุค แต่ละสมัย คิดว่า 10 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นการทํางานในหลายๆ รูปแบบการเรียกร้อง ที่สําคัญคือประเด็นที่เราเรียกร้อง ไม่ได้อยู่แค่ประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ว่าทุกเรื่องมันเชื่อมกัน ไม่ว่าเราอยากจะทําประเด็นเรื่องของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หรือว่าประเด็นเกี่ยวกับโครงการพัฒนาที่อาจจะไปละเมิดสิทธิแรงงาน หรือเรื่องของสิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อมใดๆ ทุกเรื่องล้วนมีความเชื่อมโยงกันอยู่ ก็รู้สึกว่าในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เราได้สู้ในหลายๆ เรื่องไปพร้อมๆ กับคนอื่น และได้ขยับทั้งรูปแบบ ทั้งแนวทางยุทธศาสตร์ในการเรียกร้อง ควบคู่ไปกับเรื่องของประเด็นที่เราเรียกร้องอยู่”

“ที่ผ่านมา มันก็มีหลายเรื่องที่มันประสบความสําเร็จไปแล้ว อาจจะเป็นความสําเร็จเล็กๆน้อยๆ ที่มันเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่นตอนปี 63-64 ช่วงนั้นก็นํามาสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงของนโยบายหลายๆ อย่าง เรื่องของ พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน ที่หลายคนก็พยายามสู้มาหลายสิบปี ก็เพิ่งผ่าน หลังกระแสของพี่ต้า วันเฉลิม และมีการชุมนุมเพื่อทวงคืนความเป็นธรรมตามหาพี่ต้า ที่ถูกอุ้มหาย หรือเรื่องของสมรสเท่าเทียมที่ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ค่อนข้างชัดเจนมากที่ข้างนอกพยายามเรียกร้องกดดันมาโดยตลอด

หรือประเด็นเรื่องของการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แน่นอนค่ะว่ามันยังไม่ได้สําเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยเกดคิดว่าก็เริ่มมีการตั้งคําถามมาถึงบทบาทถึงความสัมพันธ์ของสถาบันกับสังคมไทยมากขึ้น และเรื่องของการจัดสรรงบประมาณ

ทุกเรื่องมันมีความมันมีความก้าวหน้าในตัวของมัน แค่ว่ามันอาจจะเป็นแค่สเต็ปที่เล็กมากๆ จนบางครั้งเราไม่ได้ให้ความสําคัญกับมัน หรือว่าละเลยมันไป แต่เกดยังคิดบวกมากๆ ว่าทุกอย่างที่สู้มาเกือบ 10 กว่าปี ไม่ใช่แค่เราคนเดียว แต่หมายถึงคนอื่นๆ ด้วยว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมามันไม่เคยสูญเปล่า”

จากนักเคลื่อนไหว สู่ผู้แทนราษฎรของประชาชน

หากพูดถึงบทบาทการต่อสู้ของลูกเกด ชลธิชา บทบาทนึงที่เราต้องพูดคุยคือบทบาทการเป็น สส.หรือผู้แทนของประชาชน ซึ่งลูกเกดก็ได้พูดกับเราตรงๆ ว่า จริงๆ แล้วไม่เคยคิดอยากเป็นนักการเมืองมาก่อน ทำให้เราถามต่อถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอตัดสินใจว่า จะลงรับสมัครเลือกตั้ง และเป็นนักการเมือง

“หลังจากช่วงตอนการชุมนุม 63-64 ประมาณปี 65 ก่อนเลือกตั้งนิดเดียวเอง ตอนนั้นแค่รู้สึกว่า มันมีการชุมนุมจํานวนมากแล้วที่เกิดขึ้น มีข้อเรียกร้องจํานวนมากที่เกิดขึ้นบนท้องถนนน่ะค่ะ แต่เราต้องการคนที่จะเข้าไปช่วยเราผลักดัน ข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ในสภา ก็เลยเป็นเหตุผลที่ทําให้ตัดสินใจเข้ามาทํางานในสภา เพื่อผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนที่สนใจเป็นข้อเรียกร้อง

จริงๆ ในสภาเราก็เห็นคนที่ทำเรื่องแบบนี้อยู่ แต่มันไม่เพียงพอ แน่นอนว่าถ้าจะผ่านกฎหมายอะไรสักอย่าง หนึ่งคือเสียงของเรามันก็ต้องพอด้วย มันก็ต้องคนที่เข้าใจประเด็นจริงๆ ที่เข้ามาทําอะไรอย่างนี้ ดังนั้นวันนี้ เกดก็เข้ามาแค่เป็นอีกหนึ่งเสียงเท่านั้น”

แน่นอนว่า การขยับบทบาทจากนักเคลื่อนไหว มาเป็น สส. ที่มีบทบาทหน้าที่และต้องเป็นผู้แทนของประชาชนจริงๆ ก็ทำให้เธอได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง และเมื่อเป็น สส. เองแล้วนั้น ก็แตกต่างจากภาพที่เธอเคยคิดไว้ด้วยเช่นกัน

“ก่อนจะเป็น สส. ประเด็นที่เราทําหลักๆ เป็นแค่เรื่องสิทธิมนุษยชน แต่พอเป็น สส.ก็ต้องรู้หลายเรื่องที่กว้างมากขึ้น ยิ่งพอเราได้ไปคลุกคลีกับประชาชน เพราะเป็น สส.เขต แล้วเห็นถึงปัญหา ความต้องการของคนในพื้นที่เยอะขึ้นมากเช่นเดียวกัน วันนี้เราต้องดูว่ามีอะไรบ้างที่ประชาชนให้ความสําคัญ หรือเป็นเรื่องที่เขาเดือดร้อน จริงๆ แล้ว ประชาชนก็ค่อนข้างเข้าใจว่าปัญหาเรื่องปากท้องเศรษฐกิจ มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องการเมือง และเรื่องในรัฐสภาด้วย

ทั้งพอมาเป็น สส. เราก็รู้ว่าหน้าที่ของ สส. มันทําอะไรได้บ้าง ต้องยอมรับว่าหลายคนอาจจะเข้าใจว่า สส. ทำได้หมดทุกเรื่อง ซ่อมถนนให้ได้ เอางบประมาณมาซ่อมไฟให้ได้ ซึ่งในความเป็นจริง เราทําไม่ได้ขนาดนั้น แล้วจริงๆ เราตัดหน้าที่ของสส. มันคือในฝ่ายของนิติบัญญัติ หรือว่าเรื่องของการทํางานในสภา การพิจารณาเรื่องของงบประมาณ หรือว่าการติดตามตรวจสอบการทํางานของของของรัฐ แต่แน่นอนมันก็มีหลายเรื่องที่เราทําไม่ได้ หมายถึงว่า ไม่ใช่ขอบเขตอํานาจของ สส.”

แต่สิ่งหนึ่งที่เธอยืนหยัด และตั้งใจทำในสภามาตลอด คือการพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน และแม้การเป็น สส.อาจทำให้ถูกจำกัดการพูด และต้องทำตามมติพรรคบ้าง แต่เธอก็ยืนยันว่า คุณค่า และอุดมการณ์ยังเป็นสิ่งที่เธอยืนหยัดในการทำหน้าที่ สส. อยู่

“เกดพยายามเป็นปากเป็นเสียงมาโดยตลอดกับประเด็นสิทธิมนุษยชน ดังนั้นแล้ว ถ้ามันมีประเด็นอย่างเช่นกระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหา หรือปัญหาในเรือนจํา เราก็พยายามที่จะรับเรื่องเหล่านี้โดยตลอด ตอนนี้เราพยายามทําเรื่องของการปฏิรูปเรือนจํา พยายามแก้กฎหมายอยู่ ไปถึงการแก้กฎหมาย สิทธิในการประกันตัว แล้วก็มีเรื่องที่มันเกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในภาพรวม อย่างเช่น พ.ร.บ.คอมฯ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ด้วย”

"เรื่องนึงที่เราพยายามทำคือทำให้สภามันเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่มันพูดได้ทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องสถาบันที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น เรื่องงบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ใด เราก็คิดว่ามันเป็นงบประมาณภาษีของประชาชน เกี่ยวข้องกับพี่น้องประชาชน ก็พยายามที่จะทําให้มันพูดได้เป็นเรื่องปกติ”

เมื่อเป็นทั้งสส. และจำเลยคดีการเมือง ในเวลาเดียวกัน

ในระหว่างการทำหน้าที่ สส. ก็เป็นช่วงที่มีการพิจารณาคดีมาตรา 112 แล้วลูกเกดเองก็ต้องไปขึ้นศาลเพื่อร่วมการพิจารณาคดี และไปฟังการตัดสินคดีด้วย แต่ถึงอย่างนั้น ลูกเกดก็บอกว่า คดีไม่ได้กระทบต่อการทำงานของเธออย่างใด และไม่ได้มีผลต่อสภาพจิตใจของเธอด้วย

“คดีไม่ได้มีผลกระทบขนาดนั้น เพราะว่าเราก็ยังทําหน้าที่ สส.ของเรา ทั้งในแง่ของงานในสภา รวมไปถึงงานในพื้นที่อย่างเต็มที่ที่สุด ยังลงพื้นที่ปกติ แล้วจริงๆ ประชาชนในพื้นที่ก็ค่อนข้างรู้อยู่แล้ว ตั้งแต่ตอนช่วงเลือกตั้งหลายคนก็ให้กําลังใจอะไร หลายคนบอกเราว่าติดตามการทำงาน การเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ตอนรัฐประหาร มีน้อยมากที่มาแสดงความเห็นในแง่ลบ อาจจะมีคนที่พูดในเชิงว่า ยังไม่อยากให้ยุ่งเรื่อง เพราะกลัวว่าจะติดคุกไปก่อน ไม่อยากให้ติดคุก แต่ยังไม่เคยเจอกับตัวที่มาพูดในเชิงด่าทอเลย”

“เรื่องสภาพจิตใจไม่ค่อยห่วงเลย เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้น ถ้าตราบใดก็ตามที่เราไม่สามารถพึ่งพาหรือไว้วางใจกับกระบวนการยุติธรรม ค่อนข้างเตรียมสภาพจิตใจตัวเองในระดับหนึ่งมาโดยตลอด แต่ท้ายที่สุดแล้ว เราก็คงคาดหวังว่า กระบวนการยุติธรรมจะเป็นธรรมมากกว่านี้สําหรับคดีในมาตรา 112 ในระหว่างการต่อสู้คดี เพราะว่าเราต้องยอมรับว่าคดี 112 หลายๆ คดีมีปัญหาค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการไม่ให้เบิกเอกสารออกมา ไม่ให้เบิกพยาน หรือแม้กระทั่งการไม่รับฟังข้อโต้แย้งจากฝั่งจําเลยในระหว่างคําพิพากษา รวมถึงการไม่ให้ประกันตัวด้วย”

จากคนที่ไม่เคยอยากทำงานการเมือง สู่ความหวังว่าถ้าการเมืองดี จะได้ออกไปทำฝันของตัวเอง

10 ปีสำหรับใครหลายๆ คน อาจเป็นระยะเวลาที่นานจนอาจทำให้รู้สึกหมดศรัทธากับการเมือง หรือหมดหวังในการเปลี่ยนแปลงได้ แต่สำหรับลูกเกด เธอค่อนข้างบอกเสมอว่า เธอคิดแง่บวก มีความหวังเสมอ และยังหวังว่าการเมืองจะดีขึ้น จนเธอสามารถวางมือจากบทบาทนี้ได้

เธอเล่าว่า เธอมีความหวังเพราะเธอเห็นพัฒนาการของสังคม จากตัวเธอที่เคยเป็นคนไม่กี่คนที่ออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐประหารในปี 2557 แต่ 10 ปีต่อมาเมื่อมีการชุมนุมพูดถึงความเป็นไปได้ของการรัฐประหารขึ้นมาอีกครั้ง ได้เห็นกระแสของประชาชนที่ไม่เอารัฐประหาร ต่อต้านมันเยอะขึ้น ทำให้เธอเห็นว่าสิ่งที่สู้มา ทำให้คนเห็นข้อเสียของรัฐประหาร และประชาธิปไตยยังเป็นคำตอบ

“ทุกๆ การเคลื่อนไหว หรือการต่อสู้มันใช้เวลาอยู่แล้ว สิบปีที่ผ่านมา มันเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ ยิ่งพอมาเป็น สส. เราได้ลงไปคุยกับประชาชนจริงๆ เราเห็นว่า คนค่อนข้างตื่นตัวทางการเมืองมาก การตื่นตัวทางการเมืองมันไม่ได้นับรวมแค่การชุมนุมเท่านั้น การชุมนุมมันเป็นแค่เครื่องมือ ไม่ใช่ผลสําเร็จ แต่ว่าเราหลายๆ คนมักจะเข้าใจว่า พอชุมนุมแล้วคนน้อย กระแสตก มันควรจะดูที่ผลลัพธ์มากกว่า มันเป็นเรื่องของการที่คนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งประชาชนที่พยายามติดตามการผ่านกฎหมายในสภา การทํางานของ สส. ในสภาที่มันเกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขา มันก็ยังมีอยู่”

ชีวิตของลูกเกด ตลอดช่วงเวลานี้เป็นการเติบโตที่ชีวิตอยู่กับการต่อสู้ในทุกๆ วัน ในทุกบทบาท เราจึงสงสัยว่า หากไม่เป็นนักเคลื่อนไหว หรือ สส.แล้ว เธอเคยจินตนาการชีวิตของตัวเองในเวอร์ชันอื่นๆ หรือไม่ ซึ่งเธอก็ตอบกับเราเลยว่า “จริงๆ เกดไม่เคยอยากเป็นนักการเมืองเลย”

“ไม่เคยอยากมาทํางานตรงนี้เลย จริงๆ อยากเป็นนักออกแบบสวน หรือนักประวัติศาสตร์ เพราะเรียนมาสายนี้ คือมีสองอาชีพที่อยากเดิน ถ้าวันหนึ่งไม่ได้เป็นนักการเมืองก็อยากทำสองอย่างนี้ แต่พอเราเปลี่ยนมาทํางานเคลื่อนไหวแล้วมันก็ทําให้เราเริ่มอินประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น แต่จริงๆ ก็ตั้งใจไว้ว่า คงไม่เป็นนักการเมืองไปตลอดอยู่แล้ว ถ้าวันหนึ่งมีคนที่มาทําหน้าที่ตรงนี้ มาช่วยเราสานฝันได้เพิ่มได้มากขึ้น ก็คิดว่าอาจจะเป็นช่วงเวลาที่เราได้ขอไปพักได้"

ซึ่งสุดท้ายลูกเกดก็มองว่า หากการเมืองดี ชีวิตเธอคงได้ไปพักจากการต่อสู้ที่ยาวนานนี้จริงๆ ซึ่งระหว่างการต่อสู้นี้ เธอยังมีหวัง เพื่อให้สุดท้ายเธอได้ไปทำฝันของตัวเองอย่างที่เคยวาดฝันไว้

“ถ้าการเมืองดี ก็คงได้กลับไปทําตามความฝันตัวเองค่ะ จริงๆ เกดเป็นคนโลกส่วนตัวสูง อยากใช้ชีวิตง่ายๆ อยู่กับสวนทําสวน อยากกลับไปทํางานที่ตัวเองอยากทํา ถ้าการเมืองมันดี แล้วไม่ต้องมาต่อสู้แบบเข้มข้นขนาดนี้ หรือว่ามีคนจํานวนมากแล้วที่ทํา เราก็คงกลับไปใช้ชีวิตของตัวเอง แต่ว่าวันนี้เรายังไม่เห็น เรายังรู้สึกว่ามันยังต้องสู้อีกนาน ถ้าไม่เป็น สส. ก็คงกลับไปเรียน แล้วกลับมาทํางานเรื่ององค์กรระหว่างประเทศ เรื่องสิทธิไปเลย เมื่อไหร่ก็ตามที่ทุกอย่างมันดีแล้ว เราก็อยากกลับไปทําฝัน ทําเรื่องการจัดสวน หรือไปเป็นนักประวัติศาสตร์”

‘คิดว่าในวันนึง เราจะได้กลับไปใช้ชีวิตของตัวเองแบบนั้นใช่ไหม ?’ เป็นคำถามสุดท้ายที่เราพูดคุยกับเธอ ซึ่งเธอก็ยังคงตอบอย่างหนักแน่นว่า “เชื่อว่ามีแน่นอนค่ะ แต่แค่ต้องใช้เวลานาน”

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก iLaw

6 วิธีที่ประชาชนช่วยผลักดันนิรโทษกรรม รวมคดีมาตรา 112

19 ชั่วโมงที่ผ่านมา

iTAX ชวนลงชื่อเสนอร่าง #แก้รัฐธรรมนูญ เข้ารัฐสภา คืนอำนาจประชาชน เข้าชื่อถอดถอนองค์กรอิสระ

1 วันที่แล้ว

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความการเมืองอื่น ๆ

ข่าวและบทความยอดนิยม