ไทยยังสุ่มเสี่ยงเจอ ภาษี สหรัฐฯ 36% การเมืองไร้เอกภาพเพิ่มความยากในการเจรจา
KKP คาดไทยเผชิญความเสี่ยงสูงเจรจาการค้า ประเมินหากถูกเก็บภาษีนำเข้า 36% จาก สหรัฐฯ นาน 1 ปี GDP ไทยอาจหายไป 0.4-0.5% การเมืองไม่นิ่งไร้เสถียรภาพเพิ่มความยากในการเจรจา
8 กรกฎาคม 2568 ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเพียงสองประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักรและเวียดนาม ที่บรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ยังคงไม่มีกรอบความตกลงทางการค้าอย่างชัดเจน
กรณีของเวียดนามสะท้อนให้เห็นถึงผลสำเร็จจากการเจรจา ในฐานะที่เป็นประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ส่วนสหราชอาณาจักรที่ไม่เกินดุลกกับสหรัฐได้รับอัตราภาษี 10% นับว่าเป็นค่าเริ่มต้น (default)
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ใช้การเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของโลกเป็นข้อต่อรอง โดยสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับโลกกว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้แต่ประเทศที่มีตัวเลขขาดดุลสูงอันดับสอง เช่น อินเดีย ยังมีการขาดดุลอยู่ในระดับหลักแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตลอดช่วงที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ย้ำถึงปัญหาการถูกเอาเปรียบทางการค้า พร้อมทั้งผลักดันมาตรการทางภาษีนำเข้า (Tariff) และมุ่งเน้นการบรรลุข้อตกลงการค้าใหม่
ภายหลังจากเว้นช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเพื่อเข้าสู่กระบวนการเจรจา จนมาถึงวันที่มีหนังสือแจ้งไปยัง 14 ประเทศ ซึ่งกลุ่มแรกนี้ถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจา ซึ่งเป็นประเทศในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงไทย มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่แม้จะมีการพูดคุยต่อเนื่องแต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน
อีกกลุ่มหนึ่งที่คาดว่าสหรัฐฯ จะออกหนังสือเพิ่มเติมไปยังกลุ่มประเทศที่ขาดดุลกับสหรัฐฯ เพื่อกำหนดอัตราภาษี 10% สำหรับสินค้านำเข้า ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศยุโรปยังคงต้องจับตาสถานการณ์การเจรจา ซึ่งเส้นตายล่าสุดถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 1 สิงหาคม 2568 (เพิ่มเติม…)