โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

การเจรจาภาษีสหรัฐที่ยังไม่ลุล่วง กับเส้นตาย 1 ส.ค. ‘SCB EIC’ ประเมินนัยต่อไทย

The Bangkok Insight

อัพเดต 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • The Bangkok Insight

SCB EIC ประเมินผลกระทบภาษีสหรัฐ นัยต่อไทย หลังการเจรจาสหรัฐที่ยังไม่ลุล่วงกับเส้นตาย 1 สิงหาคมนี้

ตั้งแต่วันที่ 7 กรฎาคม 2568 สหรัฐ ทยอยส่งหนังสือแจ้งเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) อัตราล่าสุดให้ 23 ประเทศคู่ค้าอย่างเป็นทางการ และเลื่อนวันเริ่มบังคับใช้เป็น 1 สิงหาคม สำหรับทุกประเทศ (เดิมกำหนดเริ่ม 9 ก.ค.) ซึ่งไทยจัดอยู่ในประเทศกลุ่มแรกนี้ด้วย

ภาษีสหรัฐ

ทั้งนี้ สหรัฐ ระบุจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 36% เท่ากับที่เคยประกาศไว้เมื่อวันที่ 2 เมษายน

SCB EIC มองว่า ประเทศที่ได้รับหนังสือจากสหรัฐ เป็นกลุ่มแรกนี้ ส่วนใหญ่เป็นประเทศคู่ค้าหลักและเกินดุลการค้าสหรัฐสูง รวมถึงสหรัฐอาจมองว่า ตนมีอำนาจการต่อรองสูงกว่า และอยากเร่งการเจรจาที่ยืดเยื้อมานานให้ได้ข้อสรุปที่ดีต่อสหรัฐ มากขึ้น

ในรอบที่สอง สหรัฐได้ส่งหนังสือฯ ให้อีก 9 ประเทศในช่วง 9-10 กรกฎาคม สำหรับประเทศคู่ค้าที่เหลือกว่าร้อยประเทศ สหรัฐ ระบุว่าอาจจะส่งหนังสือฯ เช่นนี้ให้ในรอบต่อ ๆ ไป และขู่ว่าหากเจรจาไม่คืบหน้า จะเก็บภาษีตอบโต้สูงสุดตามที่ประกาศไว้ ณ 2 เมษายน

มุ่งกดดันให้คู่ค้าเร่งเจรจาด้วยข้อเสนอที่ดีขึ้น

หนังสือสหรัฐ ที่ส่งให้แต่ละประเทศมีข้อความคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะในตอนท้ายที่ย้ำชัดว่า สหรัฐ อาจลดอัตราภาษีตอบโต้ลงได้ หากติดต่อยื่นข้อเสนอที่ดีขึ้นให้สหรัฐ ก่อนเส้นตายใหม่ที่ขยับเป็น 1 สิงหาคม ดังนั้น ในช่วงที่เหลือของเดือนกรกฎาคมนี้ อัตรากำแพงภาษีสหรัฐ ที่จะเรียกเก็บจาก 14 ประเทศนี้ และอาจรวมถึงประเทศคู่ค้าอื่น ๆ จะยังคงเป็นอัตราภาษีขั้นต่ำ (Universal Tariffs) 10% เท่ากันทุกประเทศอยู่

ในครั้งนี้ สหรัฐคงอัตราภาษีตอบโต้ไทยที่ 36% แต่ลดให้บางประเทศคู่แข่งของไทย นับเป็นสัญญาณน่ากังวล

SCB EIC ตั้งข้อสังเกตว่า

1. ไทยโดนอัตราภาษีตอบโต้สูงกว่าค่าเฉลี่ยอาเซียน (28% หากไม่รวมไทย) ค่าเฉลี่ยภูมิภาคเอเชีย (19%) และค่าเฉลี่ยโลก (16%)

2. ไทยมีพัฒนาการในการเจรจาสหรัฐ ค่อนข้างช้ากว่าประเทศคู่แข่งในอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนามที่เร่งเจรจาหลายรอบจนได้ข้อสรุปดีลกับสหรัฐ สามารถต่อรองลดอัตราภาษีตอบโต้จาก 46% เหลือเพียง 20% สำหรับสินค้าที่ผลิตในเวียดนาม และเหลือ 40% สำหรับสินค้าสวมสิทธิการส่งออกจากเวียดนาม (Transshipping tariff)

3. ไทยอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในตลาดสหรัฐ หากโดนสหรัฐ เก็บภาษีตอบโต้ที่ 36% ซึ่งสูงกว่าอัตราภาษีตอบโต้ล่าสุดของสินค้าจีน (30%) และสินค้าเวียดนาม (20%) ซึ่งเป็นคู่แข่งหลักของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐ รวมถึงคู่แข่งในอาเซียนที่ยังไม่ได้ดีลกับสหรัฐ แต่พยายามเร่งเจรจาในช่วงนี้ เพื่อให้เสียภาษีตอบโต้ต่ำลงกว่าอัตราปัจจุบัน หรือเสียอัตราต่ำกว่าสินค้าจีนหรือเวียดนาม เพื่อไม่ให้เสียเปรียบความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในตลาดสหรัฐ มากนัก

ทีมเจรจาไทยยืนเดินหน้าเจรจาขอลดกำแพงภาษี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้นำทีมเจรจาฯ ของไทยให้สัมภาษณ์ว่า ไทยได้ยื่นข้อเสนอปรับปรุงใหม่ให้สหรัฐ ไปแล้วเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม หลังกลับจากการเดินทางไปเจรจาสหรัฐ อย่างเป็นทางการครั้งแรกในช่วงวันที่ 1-3 กรกฎาคม จึงสะท้อนว่าสหรัฐ ยังไม่ได้พิจารณาข้อเสนอใหม่ก่อนส่งหนังสือฯ ออกมาในวันที่ 7 กรกฎาคม จึงแจ้งเก็บภาษีตอบโต้ไทยในอัตราเดิม

ทั้งนี้ข้อเสนอใหม่ของไทยที่ยื่นต่อสหรัฐในภาพรวม ไทยจะลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐลง 70% ใน 5 ปี และสมดุลการค้ากับสหรัฐให้ได้ภายใน 7-8 ปี ซึ่งเร็วขึ้นกว่าข้อเสนอเดิม

นอกจากนี้ ไทยเสนอเปิดตลาดสำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมจากสหรัฐให้มากขึ้น ผ่านการลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90% ของรายการสินค้าทั้งหมดเหลืออัตรา 0% และลดมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี รวมถึงเพิ่มการจัดซื้อพลังงานและเครื่องบินจากบริษัทของสหรัฐ

ภาษีสหรัฐ นัยต่อเศรษฐกิจไทย

ผลกระทบต่อสินค้าส่งออก

ความสามารถการแข่งขันของหลายสินค้าอุตสาหกรรมหลักของไทยกำลังเผชิญแรงกดดันมากขึ้นในตลาดสหรัฐ หลังสหรัฐคิดภาษีตอบโต้สินค้าไทยสูงกว่าคู่แข่งสำคัญในอาเซียนและเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, เวียดนาม, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และจีน

SCB EIC ประเมินความเสี่ยงต่อการส่งออกไทยในเบื้องต้น พบว่า หากไทยเจรจาขอลดภาษีสหรัฐไม่สำเร็จ หรือเจรจาลดภาษีลงได้บางส่วน แต่คาดว่าอัตราภาษีที่ไทยจะถูกจัดเก็บจะยังสูงกว่าคู่แข่งอยู่ ซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐอาจอ่อนแอลง

ผลจากต้นทุนทางการค้าที่สูงกว่าคู่แข่งสำคัญในภูมิภาค โดยเฉพาะหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ อาจถูกมาเลเซียและฟิลิปปินส์แย่งส่วนแบ่งตลาดได้

ขณะที่สินค้าจากจีน เวียดนาม และเม็กซิโก มีแนวโน้มเข้ามาแทนที่สินค้าไทยในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ คอมพิวเตอร์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ รวมถึงอุปกรณ์ส่งสัญญาณ นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า (สินค้ารายการอื่น ๆ ที่ยังไม่โดนเก็บ Specific tariffs ภายใต้ HS code 84 และ 85) ยังอาจเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งโดนกำแพงภาษีตอบโต้ 25% ต่ำกว่าไทย

สำหรับสินค้ากลุ่มยางล้อ ไทยต้องเผชิญข้อเสียเปรียบจากมาตรการยกเว้นภาษีที่สหรัฐ ให้สิทธิประโยชน์ประเทศสมาชิก USMCA ได้แก่ เม็กซิโก และแคนาดา ส่งผลให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียสถานะคู่ค้าอันดับ 1 ได้ในอนาคต

ส่วนสินค้ากลุ่มอาหารทะเลแปรรูป โดยเฉพาะทูน่ากระป๋อง ไทยอาจมีแต้มต่อในตลาดสหรัฐลดลง จากกำแพงภาษีที่สูงกว่าคู่แข่งหลักอย่างเวียดนามค่อนข้างมาก แม้ปัจจุบันไทยจะเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของสหรัฐที่มีส่วนแบ่งตลาดมากเกือบครึ่งหนึ่งของการนำเข้าทูน่ากระป๋องทั้งหมดของสหรัฐแต่อัตราภาษีตอบโต้สินค้าไทยที่จะโดนเก็บสูงกว่า จึงมีความเสี่ยงที่ไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ มากขึ้นในระยะต่อไป

อย่างไรก็ดี การประเมินผลกระทบและความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยด้านศักยภาพทางการผลิตเทียบประเทศคู่แข่งร่วมด้วย เนื่องจากบางอุตสาหกรรมไทยมีศักยภาพการผลิตและแต้มต่อเหนือคู่แข่งค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในระยะสั้น เช่น สินค้ากลุ่มยางล้อ ซึ่งไทยมีความได้เปรียบในการเป็นเจ้าของวัตถุดิบหลัก เช่น ยางธรรมชาติ รวมถึงมีโครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่อุปทานในประเทศที่แข็งแกร่งและครบวงจร เช่นเดียวกับสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท อาทิ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งไทยยังคงมีบทบาทในการเป็นฐานการผลิตสำคัญระดับโลก

สำหรับการรักษาความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยภายใต้บริบทการค้าโลกผันผวนเช่นนี้ ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการผลิตและคุณภาพสินค้า พัฒนานวัตกรรม และยกระดับมาตรฐานให้สอดคล้องกับกฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป

ขณะเดียวกัน ภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการและผู้เล่นในห่วงโซ่การผลิตที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงต้องเร่งขยายตลาดส่งออกใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐที่มีแนวโน้มชะลอลง ควบคู่กับการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบกิจกรรมสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้า ที่อาจทำให้สินค้าไทยถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐฯ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าจากไทยในอนาคต

ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูล Trade Map และ The White House

นอกจากประเด็น Reciprocal tariffs ของสหรัฐแล้ว อีกประเด็นที่ควรจับตาคือ ความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะใช้มาตรการทางภาษีเพิ่มเติมต่อสินค้าที่มีลักษณะสวมสิทธิ หรือมีสัดส่วนการพึ่งพาวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตจากการนำเข้าในระดับสูง (High-import content) ดังเช่นกรณีของเวียดนาม ที่แม้จะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐ จนนำไปสู่อัตราภาษีตอบโต้ที่ 20% แต่สำหรับสินค้าที่เข้าข่ายสวมสิทธิกลับถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงถึง 40%

ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่า สหรัฐจะจัดเก็บภาษีการสวมสิทธิในรูปแบบเจาะจงอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ประกอบการไทยบางกลุ่มจะอาจถูกเหมารวมและเผชิญกับมาตรการลักษณะเดียวกัน แม้จะดำเนินกิจการในรูปแบบปกติ อาทิ อุตสาหกรรมที่พึ่งพาการนำเข้าในระดับสูง เช่น แผงวงจรไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และแผงโซลาร์เซลล์ รวมถึงอุตสาหกรรมที่เดิมอยู่ภายใต้การจับตาด้านกิจกรรมสวมสิทธิ เช่น ยางล้อ ชิ้นส่วนยานยนต์ อะลูมิเนียม และเครื่องใช้ไฟฟ้า

อุตสาหกรรมเหล่านี้ ต่างก็มีแนวโน้มจะเผชิญกับต้นทุนทางการค้าที่สูงขึ้น จากทั้งมาตรการทางภาษีและมาตรการด้านแหล่งกำเนิดสินค้าที่จะยิ่งเข้มงวดมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางการลงทุนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในระยะข้างหน้า

ผลกระทบจากการถูกกดดันให้เปิดตลาดสินค้าให้สหรัฐ

ความคืบหน้าของผลการเจรจาไทยกับสหรัฐ เป็นประเด็นที่ต้องจับตาใกล้ชิดในช่วงข้างหน้า หากไทยเจรจาสำเร็จอาจนำไปสู่การผ่อนปรนมาตรการทางภาษีและช่วยลดภาระต้นทุนของผู้ส่งออกไทย อย่างไรก็ดี ยังต้องพิจารณาผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยในบางอุตสาหกรรม หากไทยถูกกดดันให้เปิดตลาดเสรีให้สินค้าสหรัฐโดยไม่มีเงื่อนไข โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและปศุสัตว์

ตลาดสินค้ากลุ่มปศุสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์ จัดว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจไทยที่มีความอ่อนไหวต่อการเจรจากับสหรัฐ เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐมองว่า ได้รับการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากไทย ทั้งจากกำแพงภาษีสูงและข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barriers) ด้านต่าง ๆ เช่น เนื้อสุกร ซึ่งไทยกำหนดภาษีนำเข้าไว้ 40% และสหรัฐถูกแบนการนำเข้าจากไทยในประเด็นการใช้สารเร่งเนื้อแดง (Ractopamine)

ที่ผ่านมา สหรัฐพยายามผลักดันและกดดันให้ไทยเปิดตลาดสินค้านี้มาโดยตลอด ตัวอย่างเช่น ในปี 2563 ช่วงประธานาธิบดีทรัมป์สมัยแรกได้ประกาศระงับสิทธิพิเศษทางการค้าสำหรับสินค้าไทย 232 รายการภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP เนื่องจากไทยไม่ยอมเปิดตลาดเนื้อหมูและเครื่องในให้สหรัฐ

ดังนั้น การตอบสนองต่อข้อเรียกร้องเดิมเหล่านี้ อาจกลายมาเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สหรัฐ ใช้แลกเปลี่ยนกับการพิจารณาปรับลดอัตราภาษีตอบโต้ของไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่องของไทยในวงกว้างได้

จากการประเมินของ SCB EIC พบว่าอุตสาหกรรมสุกร ไก่เนื้อ และข้าวโพดของไทยมีความอ่อนไหวสูง หากภาครัฐจำเป็นต้องเปิดตลาดเสรีให้สหรัฐ โดยไม่มีเงื่อนไข (กรณีแย่สุด) เนื่องจากต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าสหรัฐฯ อย่างชัดเจน ประกอบกับโดยปกติแล้วไทยใช้ผลผลิตภายในประเทศเป็นหลักและมีผู้ผลิตที่เป็นเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก

ตัวอย่างเช่น ในปี 2567 ต้นทุนการเลี้ยงสุกรและไก่ในไทยสูงกว่าต้นทุนในสหรัฐค่อนข้างมากถึงราว 27% หรือต้นทุนผลิตข้าวโพดของไทยสูงกว่าสหรัฐราว 9% ทั้งนี้ในปี 2567 ไทยนำเข้าข้าวโพดเพียง 22% ของการบริโภคในประเทศเท่านั้น และไม่ได้นำเข้าเนื้อสุกรและไก่เลย

ดังนั้น หากรัฐบาลยอมเปิดตลาดกลุ่มสินค้าเหล่านี้เพื่อแลกกับการลดอัตราภาษีตอบโต้ลง ผู้ผลิตในประเทศและผู้เล่นที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตจะได้รับผลกระทบในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ที่มีต้นทุนสูงและเป็นผู้ผลิตส่วนใหญ่ในไทย เนื่องจากต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า

กล่าวคือ การเปิดตลาดให้สหรัฐ จะทำให้ราคาสินค้าในประเทศปรับลดลงจากปริมาณการนำเข้าสินค้าราคาถูกที่เพิ่มขึ้น เช่น ราคาสุกรและข้าวโพดอาจปรับลดลงจากปริมาณการนำเข้าเนื้อสุกรและข้าวโพดราคาถูกจากสหรัฐที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตอาหารสัตว์ ที่จะได้อานิสงส์จากราคาสินค้าและต้นทุนวัตถุดิบที่ถูกลง แต่ในทางกลับกัน ก็จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารและวัตถุดิบสำหรับไทย เนื่องจากต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าจากตลาดต่างประเทศมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ราคาที่ลดลงอาจจะทำให้รายได้เกษตรกรโดยรวมปรับลดลงและจะกดดันให้เกษตรกรที่ผลิตด้วยต้นทุนสูงอยู่แล้วต้องหยุดผลิตเพราะแข่งขันไม่ได้ และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังรายได้ของผู้ผลิตอาหารปศุสัตว์และเกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบ จากความต้องการใช้อาหารปศุสัตว์ในประเทศที่ลดลง

สำหรับกลุ่มเนื้อวัวเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวในระดับปานกลาง เนื่องจากแม้ต้นทุนการผลิตในไทยจะสูงกว่าสหรัฐค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันไทยมีการนำเข้าเนื้อวัวและเครื่องในจากต่างประเทศอยู่แล้ว จากการทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับคู่ค้าอย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ง

หากไทยต้องเปิดตลาดให้สหรัฐเพิ่มเติม ก็จะทำให้กลุ่มผู้ผลิตในประเทศต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในบางกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะเนื้อวัวเกรดพรีเมียม ในทางกลับกัน กลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่ำ เช่น ถั่วเหลือง, ก๊าซธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์นม เป็นสินค้าที่ในปัจจุบันไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าค่อนข้างมากอยู่แล้ว จึงจะได้รับผลกระทบค่อนข้างต่ำและในวงจำกัด

ในระยะยาว ภาครัฐควรเร่งยกระดับขีดความสามารถของผู้ผลิตในประเทศให้สามารถแข่งขันได้ อาทิ ส่งเสริมมาตรฐานฟาร์มและโรงงาน การปรับกระบวนการผลิตที่ตอบโจทย์เทรนด์ ESG หรือการลดต้นทุนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมการผลิตที่ทันสมัยเข้ามาช่วย ทั้งนี้ไทยควรกำหนด Red Line ที่ชัดเจนสำหรับกลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูงเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางอาหารของประเทศในระยะยาว

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ

แม้ล่าสุดอัตราภาษีนำเข้าที่ทำเนียบขาวสหรัฐ แจ้งจะเก็บจากสินค้าไทยอยู่ที่ 36% SCB EIC ประเมินว่าในระยะข้างหน้า ประเทศไทยจะสามารถเจรจากับสหรัฐขอปรับลดอัตราภาษีตอบโต้นี้ลงได้บ้าง แต่อัตราภาษีจะยังสูงกว่าคู่แข่งสำคัญในอาเซียน-5 ได้แก่ เวียดนาม, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ เนื่องจาก 2 สาเหตุหลัก คือ

ล่าสุด สหรัฐประกาศอัตราภาษีตอบโต้ไทยสูงกว่าอาเซียน-5 โดยเปรียบเทียบ (Relative positioning) โดยไทยโดนอัตราภาษีตอบโต้ที่ 36% ขณะที่อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์โดนอัตราภาษีที่ 32%, 25%, 20%, 20% และ 10% ตามลำดับ ซึ่งล้วนแต่อยู่ในอัตราต่ำกว่าไทยเป็นทุนเดิม ค่าเฉลี่ยอัตราภาษีตอบโต้กลุ่มประเทศอาเซียน-5 ของสหรัฐอยู่ที่ 21% เท่านั้น

นอกจากนี้ ประเทศเหล่านี้อาจพยายามจะขอเจรจาลดภาษีลงได้อีกในช่วงเวลาที่เหลือ ยิ่งจะทำให้อัตราต่ำลงกว่าไทย ยกเว้นแต่ว่าข้อเสนอของไทยจะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐมากกว่ามาก จนได้รับพิจารณาปรับลดเหลืออัตราต่ำลงมากจากอัตราปัจจุบัน

การเข้าถึงตลาดและการเปิดการลงทุนที่เอื้อประโยชน์สหรัฐ

กรณีเวียดนามยอมเปิดตลาดทั้งหมดให้สหรัฐโดยเสรี และลดภาษีนำเข้าเหลืออัตราศูนย์ ขณะที่ไทย แม้จะยื่นข้อเสนอใหม่ยอมเปิดตลาดสินค้าหลายรายการมากขึ้น แต่ยังต้องการปกป้องสินค้าบางรายการที่อาจกระทบผู้ผลิตภายในประเทศอยู่

สำหรับการจูงใจการลงทุนจากสหรัฐ ประเทศอาเซียน-5 เสนอเปิดตลาดให้การลงทุนจากสหรัฐ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของเวียดนามอนุญาตให้บริษัท Starlink ของสหรัฐ เข้าไปลงทุนบริการอินเทอร์เน็ต อินโดนีเซียอนุญาตการเข้าร่วมทุนจากสหรัฐในกลุ่มแร่ธาตุหายาก ซึ่งช่วยให้สหรัฐลดการพึ่งพาแร่หายากจากจีนได้ในอนาคต ขณะที่ไทยยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับแผนเปิดการลงทุนอุตสาหกรรมสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐในเชิงยุทธศาสตร์

สำหรับเศรษฐกิจไทยในภาพรวม SCB EIC มองว่า อัตราภาษีตอบโต้ของสหรัฐที่อาจเก็บไทยสูงกว่าคู่แข่ง จะเป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านองค์ประกอบหลัก คือ

การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มแผ่วลงในครึ่งปีหลัง โดยอาจเริ่มเห็นมูลค่าการส่งออกพลิกกลับมาหดตัวในช่วงท้ายไตรมาส 3 และหดตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 4 ทั้งจากผลของการเร่งนำเข้าสินค้าในช่วงก่อนหน้าที่อัตราภาษีตอบโต้จะมีผลบังคับใช้หมดไป ตลอดจนผลจากอัตราภาษีตอบโต้ของไทยเองที่สูงกว่าคู่แข่ง ซึ่งจะทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนาม ที่มีความเป็นไปได้สูงว่าสินค้าเวียดนามจะเสียภาษีตอบโต้ในอัตราต่ำกว่าไทย

การลงทุนภาคเอกชนจะกลับมาหดตัวในช่วงครึ่งปีหลัง จากการชะลอการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่มีแผนจะลงทุนในไทยเพื่อรอความชัดเจนของผลการเจรจาการค้าเทียบคู่แข่งสำคัญ เช่น เวียดนามที่สามารถเจรจาให้สหรัฐลดอัตราภาษีลงได้มากก่อนหน้าแล้ว

นอกจากนี้ การที่สหรัฐและจีนสามารถบรรลุข้อตกลงชั่วคราว ลดอัตราภาษีที่สหรัฐเรียกเก็บสินค้าจีนลงจากอัตราเกิน 100% เช่นก่อนหน้านี้แล้ว

ขณะที่กำลังซื้อในประเทศที่จะชะลอลงอีกจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันการลงทุนภาคเอกชนในครึ่งปีหลังในระยะต่อไป ความสามารถและระยะเวลาปิดจบดีลเจรจาการค้าของไทยกับสหรัฐ จะเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความสามารถในการแข่งขันของไทย เพราะการเจรจาสำเร็จได้เร็วจะเป็นสิ่งที่เรียกความเชื่อมั่นจากทั้งนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนไทยได้ สะท้อนถึงประสิทธิภาพของภาครัฐ รวมทั้งความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และไทย ซึ่งจะช่วยให้เกิดการลงทุนในไทยต่อเนื่องในระยะยาว

การบริโภคภาคเอกชนจะแผ่วลงต่อเนื่อง แต่จะชะลอลงแรงขึ้นในช่วงสิ้นปีที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าสหรัฐแรงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การจ้างงานที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศที่จะซบเซาลงตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว

สำหรับมุมมองนโยบายการเงิน SCB EIC ยังคงประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดลงอีก 0.25% ในเดือน สิงหาคม และอีก 1 ครั้งในไตรมาส 4 เหลือ 1.25% ภายในสิ้นปี แม้ กนง. มองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่า 2% ไม่มาก แต่เหตุผลที่ กนง. ประเมินเช่นนี้ เพราะมองเศรษฐกิจครึ่งปีแรกจะขยายตัวได้ดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เป็นหลัก

ด้านมุมมองเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง กนง. มอง Momentum จะปรับแย่ลง โดยพัฒนาการใหม่ของอัตราภาษีสหรัฐนี้ อาจทำให้ กนง. ต้องปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังลงอีก เนื่องจาก กนง. ประเมินว่าไทยจะถูกเก็บภาษีนำเข้าเพียง 18% เท่านั้น

SCB EIC จึงประเมินว่า มีโอกาสมากขึ้นที่จะเห็น กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2 ครั้งในปีนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าที่จะแย่ลงกว่าที่ กนง. เคยประเมินไว้ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยจะเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำที่สูงขึ้นอีก หากการเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ ไทยถูกสหรัฐจัดเก็บภาษีในอัตรา 36% เท่าเดิมอยู่ ซึ่งในกรณีนี้อาจเห็น กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากกว่า 2 ครั้งในปีนี้

ผู้เขียนบทวิเคราะห์: ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก The Bangkok Insight

‘รมช.คลัง’ ลั่นเจรจาภาษีทรัมป์นาทีนี้ไม่ง่าย ต้องรอบคอบเพื่อข้อสรุปที่ดีที่สุด

32 นาทีที่แล้ว

ดาราสาวประกาศข่าวดี เบบี๋คนแรกมาแล้ว เผยกว่าจะท้องไม่ง่าย

33 นาทีที่แล้ว

‘อนุทิน’ มั่นใจไม่ผิด คดีฮั้ว สว. ลั่นเป็นเกมการเมือง คิดล้างบางภูมิใจไทย ระวังโดนเอง

36 นาทีที่แล้ว

แม่ทัพภาค 2 ยอมรับ สร้างรั้วล้อมตาเมือนธม อาจทำให้บานปลาย แต่พร้อมทำหากรัฐบาลสั่ง

51 นาทีที่แล้ว

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความไอที ธุรกิจอื่น ๆ

GCAP GOLD ชี้จับตาสงครามการค้าระลอกใหม่ หนุนทองคำทะยาน $3,400

ทันหุ้น

Standard Chartered ธนาคารใหญ่แรกของโลก เปิดทางสถาบันเทรด Spot BTC-ETH

ทันหุ้น

เบื้องลึกยังไม่เคาะชื่อ วิทัย ผู้ว่าแบงก์ชาติ ตรวจคุณสมบัติเข้ม

กรุงเทพธุรกิจ

สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าไทย 36% ฉุดมูลค่าส่งออกสูญกว่า 1.62 แสนล้าน

Businesstoday

‘รมช.คลัง’ ลั่นเจรจาภาษีทรัมป์นาทีนี้ไม่ง่าย ต้องรอบคอบเพื่อข้อสรุปที่ดีที่สุด

The Bangkok Insight

โบรกฯ ส่องประเด็น เฟ้น 4 หุ้นเด่น AWC-BBL-GULF-PTTEP

ทันหุ้น

ORIปิดดีลขายบิ๊กล็อก มูลค่ากว่า500ล้านบาท

ทันหุ้น

เครือซีพีคว้า 2 รางวัลเก็บขยะเชิงสร้างสรรค์ รองชนะเลิศอันดับ 1 และอันดับ 7 ใน SPOGOMI World Cup 2025 Thailand Qualifiers

สยามรัฐ

ข่าวและบทความยอดนิยม

‘ดาวโจนส์’ ปิดตลาดเพิ่มขึ้น 88.14 จุด จับตาข้อมูลเศรษฐกิจ-ผลประกอบการบริษัท

The Bangkok Insight

ส่องค่าเงินบาทสัปดาห์นี้! คาดแกว่ง 32.10-32.80 บาท/ดอลลาร์ จับตาภาษีทรัมป์

The Bangkok Insight

‘ดาวโจนส์’ ลดลง 2.31 จุด ตลาดยังจับตา ‘ภาษีทรัมป์’

The Bangkok Insight
ดูเพิ่ม
Loading...