โฆษกดีอี เตือนสายมูระวังโจรออนไลน์ หลอกเสริมดวง-สะเดาะเคราะห์
โฆษกดีอี เตือนภัยสายมู ระวังโจรออนไลน์ ระบาด เผยข้อมูล ศูนย์ AOC 1441 ชี้ หลอกเสริมดวง-สะเดาะเคราะห์ สูญเงินกว่า 11 ล้านบาท
น.ส.วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 7 - 13 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง ที่น่าสนใจ 5 คดีซึ่งมูลค่าความเสียหาย รวม 11,143,520 บาท ซึ่งจำเป็นจะต้องแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนระมัดระวังไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 5,593,952 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Instagram ชักชวนลงทุนเทรดหุ้นทองคำและหุ้นน้ำมัน ผู้เสียหายสนใจ จึงเพิ่มเพื่อนทาง Line จากนั้นมิจฉาชีพให้ติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อลงทุน และแนะนำวิธีการลงทุนเทรดหุ้น โดยต้องลงทุนจำนวนเงินที่มากจึงจะได้รับผลตอบแทนกลับมาเร็ว ในช่วงแรกสามารถถอนเงินจากระบบได้ จึงโอนเงินลงทุนเพิ่มมากขึ้น ภายหลังไม่สามารถถอนเงินได้ มิจฉาชีพอ้างว่ามูลค่าในการลงทุนยังไม่ถึงจำนวนที่กำหนด ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) มูลค่าความเสียหาย 1,222,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ใช้โพรไฟล์เป็นชายหนุ่มหน้าตาดี อาชีพวิศวกร ติดต่อผ่าน Messenger Facebook และเพิ่มเพื่อนทาง Line พูดคุยกันจนสนิทใจแต่ไม่เคยพบเจอกัน จากนั้นมิจฉาชีพอ้างว่าขอยืมเงินซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการสร้างบ้านเพื่อในอนาคตจะใช้อยู่ร่วมกันและจะคืนเงินให้ภายหลัง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป ต่อมามีการยืมเงินอีกหลายครั้ง ผู้เสียหายจึงขอนัดหมายเพื่อพบเจอกัน ฝ่ายชายตอบตกลง เมื่อถึงเวลาที่นัดหมายฝ่ายชายไม่มาตามนัดและไม่สามารถติดต่อได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 1,752,617 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณารับสมัครพนักงานประจำร้านค้าออนไลน์ผ่านช่องทาง Facebook
ผู้เสียหายสนใจจึงทักไปสอบถามรายละเอียดผ่านทาง Messenger Facebook และเพิ่มเพื่อนผ่าน Line ต่อมามิจฉาชีพแจ้งว่าต้องมีช่วงทดลองงาน เป็นการกดถูกใจสินค้าเพื่อเพิ่มยอดขาย
ให้กับร้านค้าและจะได้รับค่าคอมมิชชันเป็นการตอบแทน ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป ในช่วงแรกได้รับผลตอบแทนจริง ต่อมาให้โอนเงินเพิ่มมากขึ้น จนเงินในระบบมีมูลค่าสูงแต่ไม่สามารถ
ถอนเงินได้ มิจฉาชีพแจ้งว่ารายรับมีมูลค่าสูงต้องชำระค่าภาษีก่อน เมื่อโอนเงินชำระค่าภาษีเสร็จสิ้นยังคงไม่สามารถถอนเงินได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 4 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 1,919,951 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Line อ้างเป็นแฮกเกอร์ แจ้งว่าสามารถดึงเงินที่ผู้เสียหายเคยถูกหลอกลวงคืนมาได้ โดยมีการสอบถามรายละเอียดการถูกหลอกลวงและข้อมูลส่วนตัว จากนั้นแจ้งว่าจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่าเงิน อยู่ในระบบการลงทุนเทรดหุ้นแห่งหนึ่ง จะต้องทำการโอนเงินเข้าไปเพื่อเป็นการโจมตีระบบและจะสามารถดึงเงินกลับคืนมาได้ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปหลายครั้ง ต่อมาเริ่มให้โอนเงินสูงขึ้น จึงขอถอนเงินคืนแต่ไม่สามารถติดต่อได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก
และคดีที่ 5 คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 655,000 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณารับทำพิธีเสริมดวงชะตาผ่านช่องทาง Facebook
ผู้เสียหายสนใจจึงทักไปสอบถามรายละเอียดผ่านทาง Messenger Facebook และเพิ่มเพื่อนผ่าน Line มีมิจฉาชีพอ้างเป็นหมอดู แจ้งว่าผู้เสียหายกำลังจะพบกับปัญหาร้ายแรงในชีวิต จำเป็นจะต้องทำพิธีเพื่อเสริมดวงชะตา ให้โอนเงินเพื่อเข้าร่วมพิธี เมื่อทำเสร็จแล้วจะโอนเงินคืนให้ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปหลายครั้ง ต่อมาเมื่อทำพิธีเสร็จสิ้นทักไปสอบถามเพื่อขอเงินคืน แต่ไม่สามารถติดต่อได้ จึงทำการตรวจสอบผ่านทาง Facebook เดิมอีกครั้งพบว่ามีบุคคลอื่นที่โอนเงินไปและไม่ได้รับเงินคืนเช่นเดียวกัน ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก
ทั้งนี้ การดำเนินงานของศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 11 กรกฎาคม 2568 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า
1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,901,580 สาย โดยเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 3,072 สาย
2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 767,933 บัญชี โดยเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 1,241 บัญชี
3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่
(1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 242,592 บัญชี คิด เป็นร้อยละ 31.59
(2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 175,178 บัญชี
คิดเป็นร้อยละ 22.81
(3) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 112,716 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.68
(4) หลอกลวงลงทุน 106,085 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 13.81
(5) หลอกลวงให้กู้เงิน 54,661 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.12 (และคดีอื่นๆ 76,701 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 9.99)
จากกรณีตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพใช้โฆษณาหลอกลวงผู้เสียหาย เพื่อให้ลงทุนเทรดหุ้น และคดีหลอกให้รักแล้วโอนเงิน นอกจากนี้ยังมีหลอกให้ลงทุนหารายได้พิเศษ รวมทั้งยังมีเคส
ที่มิจฉาชีพหลอกลวงเป็นหมอดู ให้โอนเงินเสริมดวงชะตา ซึ่งพบว่ามีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 11 ล้านบาท
ทั้งนี้ขอย้ำว่า การลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขณะเดียวกันหากมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่องค์กรต่างๆ หรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการ ควรตรวจสอบให้แน่ชัด โดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ จะไม่มีการ ติดต่อกับประชาชนโดยตรง หรือติดต่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย” โฆษกกระทรวงดีอีกล่าว
พร้อมย้ำว่า ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดยกระทรวงดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรม ออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook: https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews