นาซาเปิดภาพถ่ายดวงอาทิตย์ระยะใกล้สุดในประวัติศาสตร์ หวังไขความลับลมสุริยะ
จากกรณียานสำรวจ “ปาร์กเกอร์โซลาร์โพรบ” (Parker Solar Probe) ขององค์การนาซา ได้สร้างประวัติศาสตร์โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 24 ธ.ค. 2024 ล่าสุดทางองค์การนาซาได้เผยแพร่ภาพที่ยานปาร์กเกอร์ถ่ายมาได้แล้ว
โดยเมื่อวันที่ 10 ก.ค. นาซาได้เผยแพร่ภาพและคลิปวิดีโอที่ยานปาร์กเกอร์บันทึกมาได้ขณะปฏิบัติภารกิจเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ทำให้นี่เป็นภาพถ่ายดวงอาทิตย์ที่ใกล้ที่สุดในประวัติศาสตร์
ภาพนี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจอิทธิพลของดวงอาทิตย์ที่มีต่อระบบสุริยะได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อโลก
นิกกี ฟ็อกซ์ รองผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ของนาซา กล่าวว่า “ยานสำรวจปาร์กเกอร์ได้พาเราเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้เราที่สุดอีกครั้ง”
เธอเสริมว่า “เรากำลังเห็นจุดเริ่มต้นของภัยคุกคามจากสภาพอากาศในอวกาศต่อโลก ด้วยสายตาของเราเอง ไม่ใช่แค่แบบจำลอง ข้อมูลใหม่นี้จะช่วยให้เราปรับปรุงการพยากรณ์อากาศในอวกาศของเราได้อย่างมาก เพื่อรับประกันความปลอดภัยของนักบินอวกาศและการปกป้องเทคโนโลยีของเราทั้งบนโลกและทั่วทั้งระบบสุริยะ”
ยานสำรวจปาร์กเกอร์บินห่างจากพื้นผิวดวงอาทิตย์เพียง 6.1 ล้านกิโลเมตร ขณะที่มันเคลื่อนผ่านชั้นบรรยากาศชั้นนอกของดวงอาทิตย์ที่เรียกว่า “โคโรนา” (Corona) และได้รวบรวมข้อมูลด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มากมาย รวมถึงกล้องถ่ายภาพมุมกว้างสำหรับยานสำรวจสุริยะ หรือ WISPR
ภาพ WISPR ใหม่เผยให้เห็นโคโรนาและลมสุริยะ (Solar Wind) หรือกระแสอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าจากดวงอาทิตย์ซึ่งเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่องและแผ่กระจายไปทั่วระบบสุริยะ
ลมสุริยะแผ่ขยายไปทั่วระบบสุริยะและส่งผลกระทบในวงกว้าง เมื่อรวมกับการปะทุของสสารและกระแสแม่เหล็กจากดวงอาทิตย์ มันคือตัวการสร้างแสงเหนือ ทำลายชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ และเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสไฟฟ้าที่อาจทำให้ระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสารบนโลกขัดข้อง
ภาพ WISPR ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับลมสุริยะได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นหลังจากที่มันหลุดออกจากโคโรนาไม่นาน และยังจับภาพการชนกันของการปลดปล่อยมวลโคโรนา (CMEs) จำนวนมากได้
แองเจโลส วูลลิดาส นักวิทยาศาสตร์ที่ดูแล WISPR แห่งห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์จอห์นส์ ฮอปกินส์ กล่าวว่า “ในภาพเหล่านี้ เราเห็น CMEs ทับซ้อนกัน เรากำลังใช้ข้อมูลนี้เพื่อศึกษาว่า CMEs รวมตัวกันอย่างไร ซึ่งอาจมีความสำคัญต่อสภาพอากาศในอวกาศ”
เมื่อ CMEs ชนกัน วิถีโคจรของมันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้ยากต่อการคาดเดาว่าจะไปสิ้นสุดที่ใด การชนกันของ CMEs ยังช่วยเร่งอนุภาคมีประจุและรวมสนามแม่เหล็กเข้าด้วยกัน ซึ่งทำให้อาจเป็นอันตรายต่อนักบินอวกาศและดาวเทียมในอวกาศและเทคโนโลยีบนพื้นโลก
ลมสุริยะมี 2 ประเภท คือ ลมสุริยะเร็ว (Fast Solar Wind) ซึ่งเดินทางด้วยความเร็วสูงสุด 800 กิโลเมตรต่อวินาที ก่อให้เกิดกระแสสสารที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ ในขณะที่ ลมสุริยะช้า (Slow Solar Wind) มีความเร็วประมาณ 350 กิโลเมตรต่อวินาที มีความหนาแน่นมากกว่าและคาดเดาได้ยากกว่า โดยพัดแบบกระโชกแรงแทนที่จะเป็นกระแสลมที่ต่อเนื่อง
ยานปาร์กเกอร์พบว่า เมื่อยานอวกาศเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะ 23.6 ล้านกิโลเมตร มันได้เผชิญกับสนามแม่เหล็กแบบซิกแซก ซึ่งเป็นลักษณะที่เรียกว่า “สวิตซ์แบ็ก” (Switchback)
จากข้อมูลของยานาปาร์กเกอร์ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ปรากฏการณ์สวิตช์แบ็กเกิดขึ้นบ่อยกว่าที่คาดไว้ และลมสุริยะเร็วได้รับพลังงานบางส่วนจากสวิตช์แบ็ก ซึ่งยิ่งเพิ่มความลึกลับของลมสุริยะ
นูร์ ราวาฟี นักวิทยาศาสตร์โครงการปาร์เกอร์ แห่งห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ จอห์น ฮอปกินส์ กล่าวว่า “สิ่งที่ยังไม่ทราบแน่ชัดคือ ลมสุริยะเกิดขึ้นได้อย่างไร และมันหนีจากแรงดึงดูดมหาศาลของดวงอาทิตย์ได้อย่างไร”
ราวาฟีเสริมว่า “การทำความเข้าใจกระแสอนุภาคที่ต่อเนื่องนี้ โดยเฉพาะลมสุริยะช้า ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาถึงความหลากหลายของคุณสมบัติของกระแสเหล่านี้ แต่ด้วยยานปาร์กเกอร์ ทำใหเราเข้าใกล้การค้นพบต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของอนุภาคเหล่านี้มากขึ้นกว่าที่เคย”
ลมสุริยะช้ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษา เนื่องจากปฏิสัมพันธ์ของลมสุริยะช้ากับลมสุริยะเร็วสามารถสร้างสภาวะพายุสุริยะที่รุนแรงปานกลางบนโลกได้
นอกจากนี้ ยานปาร์กเกอร์ยังพบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับลมสุริยะช้า
โดยที่ผ่านมา การสังเกตการณ์จากระยะไกลชี้ให้เห็นว่า ลมสุริยะช้าสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท ซึ่งแตกต่างกันตามทิศทางหรือความแปรปรวนของสนามแม่เหล็ก
ประเภทแรกเรียกว่า อัลฟ์เวนิก (Alfvénic) มีการเคลื่อนที่แบบสวิตซ์แบ็กขนาดเล็ก ส่วนอีกประเภทคือ นอน-อัลฟ์เวนิก (non-Alfvénic) ไม่แสดงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ในสนามแม่เหล็ก
เมื่อยานปาร์กเกอร์โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น มมันสามารถยืนยันได้แล้วว่า ลมสุริยะช้ามี 2 ประเภทจริง ๆ ภาพระยะใกล้ที่ถ่ายมายังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถแยกแยะต้นกำเนิดของลมสุริยะทั้งสองประเภทได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีลักษณะเฉพาะต่างกัน
ลมสุริยะที่แบบนอน-อัลฟ์เวนิกอาจเกิดจากลักษณะที่เรียกว่า “Helmet Streamer” ซึ่งเป็นวงวนขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อบริเวณที่มีอนุภาคบางชนิดสามารถร้อนขึ้นจนหลุดออกมาได้ ในขณะที่ลมอัลฟ์เวนิกอาจมีต้นกำเนิดใกล้กับหลุมโคโรนา (coronal hole) หรือบริเวณที่มืดและเย็นในโคโรนา
ยานปาร์กเกอร์จะยังคงรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมในระหว่างการโคจรผ่านโคโรนาที่กำลังจะมาถึง เพื่อช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ยืนยันต้นกำเนิดของลมสุริยะช้าได้ โดยการโคจรรอบถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 15 ก.ย. 2025
เรียบเรียงจาก NASA
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สะเทือนจักรวาล! นักวิทย์ตรวจพบการชนกันครั้งใหญ่ที่สุดของหลุมดำ 2 หลุม
จะเกิดอะไรขึ้น? ถ้า “โยนเครื่องบินกระดาษลงมาจากสถานีอวกาศนานาชาติ”
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : นาซาเปิดภาพถ่ายดวงอาทิตย์ระยะใกล้สุดในประวัติศาสตร์ หวังไขความลับลมสุริยะ
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
- Website : https://www.pptvhd36.com