เห็นชอบแล้ว ครม. เดินหน้า 2 มาตรการ แก้มลพิษข้ามแดนสู่ลุ่มน้ำภาคเหนือ
วันที่ 15 กรกฎาคม 2568 — คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเด็นมลพิษข้ามพรมแดน หลังพบการปนเปื้อนของโลหะหนักในแม่น้ำกกและแม่น้ำสายจากแหล่งกำเนิดในประเทศเมียนมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ชายแดนของไทย และอาจลุกลามสู่ลุ่มแม่น้ำโขงในอนาคต
2 มาตรการหลัก
รัฐบาลได้จัดทำแนวทางแก้ไขเป็น 2 มาตรการหลัก ได้แก่
1. มาตรการภายในประเทศ
- กรมควบคุมมลพิษ จะเพิ่มความถี่ในการเก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนดิน พร้อมทั้งพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และครอบคลุมพื้นที่เสี่ยง
- กระทรวงสาธารณสุข เร่งดำเนินการตรวจคัดกรองโรคจากโลหะหนักให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- การประปาส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันจัดหาน้ำดื่มสะอาดสำรอง และวางแผนระยะยาวเพื่อจัดหาแหล่งน้ำดิบที่ปลอดภัย
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมประเมินผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและการท่องเที่ยว พร้อมกำหนดมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
- สนับสนุนงบประมาณ เพื่อขจัดสารพิษ ฟื้นฟูแหล่งน้ำที่ปนเปื้อน และอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศ
- คณะกรรมการลุ่มน้ำโขงเหนือ เป็นหน่วยประสานหลักและเสนอให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ปรับปรุงองค์ประกอบของอนุกรรมการทรัพยากรน้ำใน จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ ให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
2. มาตรการระหว่างประเทศ
- กระทรวงการต่างประเทศ จะเร่งเจรจากับประเทศต้นทางของมลพิษ เพื่อให้ยุติกิจกรรมเหมืองแร่ที่เป็นสาเหตุของมลภาวะ โดยใช้กลไกความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค
- กระทรวงการต่างประเทศจะมีการกำหนดแนวทางความร่วมมือในการแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดน ผ่านกรอบความร่วมมือต่างๆ รวมถึงพัฒนากฎหมายภายในประเทศให้สามารถรองรับการจัดการ ป้องกัน และเยียวยาผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ครม. มอบหมายให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักในการประสานและดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมรายงานผลความคืบหน้าต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน