อัตราเด็กเกิดใหม่ตกต่อเนื่อง สธ.เร่งตั้งคลินิกส่งเสริมการมีบุตร 901 แห่ง
19 กรกฎาคม 2568 นายอนุชา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์ด้านประชากร พบว่า จำนวนการตายมากกว่าการเกิด เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน โดยในปี 2566 จำนวนการเกิดเหลือเพียง 462,240 คน จำนวนการตาย 571,646 คน และจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยลดลงจาก 6 คนเหลือเพียง 1.12 คน
การลดลงของจำนวนประชากร คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีก อย่างน้อย 15 – 20 ปี ซึ่งปัญหาความไม่มั่นใจในการมีบุตรส่วนหนึ่งเกิดจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ
กระทรวงสาธารณสุข เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้เร่งดำเนินการจัดตั้งคลินิกเพื่อส่งเสริมการมีบุตร ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 901 แห่ง แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
ระดับที่ 1 เป็นการให้คำปรึกษาในการวางแผนครอบครัว เพื่อเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ และลดความเสี่ยงในการมีบุตร โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคทางพันธุกรรม
ระดับที่ 2 จะมุ่งเน้นการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก (IUI) โดยขณะนี้ดำเนินการแล้ว 65 จังหวัด
ระดับที่ 3 จะเป็นการให้บริการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ที่จะผลักดันให้ครบทุกภาค ปัจจุบันมีคลินิกเปิดให้บริการแล้ว 3 ภาค คาดว่า จะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ภายในปี 2568
กระทรวงสาธารณสุขพร้อมที่จะสนับสนุนและช่วยเหลือแก่ผู้ที่ต้องการมีบุตร และมีบุตรยาก ด้วยบริการด้านสุขภาพต่างๆมีทีมแพทย์คอยให้คำปรึกษาในทุกด้าน ตั้งแต่ก่อนมีบุตร จนถึงหลังคลอด ไม่ว่าจะเป็นด้านการวางแผนครอบครัว ด้านยา เวชภัณฑ์ต่าง ๆ ตลอดจนด้านโภชนาการที่จำเป็นต่อการมีบุตร มีโครงการอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็ก ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี รายละ 600 บาท ต่อเดือน สำหรับครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคนต่อปี
ตั้งเป้าส่งเสริมและพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก เด็กปฐมวัยของภาครัฐ ให้ครอบคลุมทุกจังหวัด โดยมุ่งเน้นที่การจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กในบริเวณที่ใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัยของประชาชน เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในด้านการเดินทาง และจะมีการให้ความรู้กับผู้ดูแลศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ ยกระดับศูนย์เด็กเล็กให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในที่สุด