‘สภาล่ม’ ทำผลาญงบฯ
หลายคนจับตามองคดีสำคัญ ที่มีผลต่อความเป็นไปของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งหนีไม่พ้นกรณีคลิปเสียงหัวหน้ารัฐบาล กับ "สมเด็จฮุน เซน" ประธานวุฒิสภากัมพูชา ซึ่งขณะที่กระบวนการตรวจสอบขององค์กรอิสระ 2 องค์กร เดินหน้าในการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดย "นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข" ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการตรวจสอบกรณีร้องเรียนกล่าวหากรณีคลิปเสียง ขั้นตอนของ ป.ป.ช หลังจากรับคำร้องเรียนมาแล้ว จะมีขั้นตอนของการรับเรื่องเพื่อตรวจสอบก่อน แต่หากมีมูลก็จะเสนอเข้าสู่กรรมการชุดใหญ่เพื่อตั้งคณะกรรมการไต่สวน โดยเรื่องนี้มาถึงขั้นตอนการไต่สวนแล้ว โดยกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะ เป็นคณะกรรมการไต่สวน มีตนนั่งเป็นประธาน และเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนร่วมกับ "นายประภาส คงเอียด" ส่วนระยะเวลาเป็นไปตามกฎหมาย คือ 2 ปี + 1 ปี แต่ตนเองได้มอบนโยบายไปแล้วว่า คดีอะไรที่มีความสำคัญที่ประชาชนสนใจ เราจะทำให้เร็วยิ่งขึ้น มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน
ถ้าหากไล่ดูเงื่อนเวลา คงต้องใช้เวลาพอสมควร ไม่สามารถหาข้อยุติได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ ซึ่งถ้าเทียบกับศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) กระบวนการน่าจะเร็วกว่า โดย "ศาล รธน." มีมติเอกฉันท์รับคำร้อง สว. และมีมติ 7 ต่อ 2 สั่งให้ "น.ส.แพทองธาร" หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ โดยหัวหน้ารัฐบาล ขอขยายเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของ 36 สว. ออกไปอีก 15 วัน ซึ่งจะทำให้ครบกำหนดส่งคำชี้แจงข้อกล่าวหาในวันที่ 31 ก.ค. จากนั้น "ศาล รธน." จะส่งคำชี้แจงของนายกฯ ให้ผู้ร้อง (36 สว.) หักล้างข้อชี้แจงภายใน 15 วัน ต่อมาวันที่ 16 ส.ค. จะครบกำหนดของ สว. ที่จะส่งข้อหักล้างคำชี้แจงของนายกฯ โดยศาล รธน. จะส่งข้อหักล้างของ 36 สว. ให้นายกฯ หากต้องการแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติม จะต้องส่งศาล รธน. ทันที
หลังจากนั้นศาล รธน. จะอภิปรายคำร้อง คำชี้แจง ข้อหักล้าง หากสิ้นข้อสงสัยทั้งหมด จะนัดลงมติ โดยจะต้องทอดเวลาไปไม่น้อยกว่า 15 วัน รวมขั้นตอนทั้งหมด จะใช้เวลาราว 45-60 วัน ซึ่งคาดการณ์ว่า ศาล รธน. อาจจะอ่านคำวินิจฉัยช่วงปลายเดือน ส.ค. สำหรับแนวทางคำวินิจฉัย หากศาล รธน. วินิจฉัยว่า น.ส.แพทองธาร พ้นผิด ก็คงกลับไปมีอำนาจเต็มในฐานะนายกฯ แต่ถ้าต้องพ้นจากตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล การเมืองคงมีความปั่นป่วนน่าดู เมื่อถึงเวลานั้นต้องรอดูว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) จะคุมสภาพการเมืองได้หรือไม่ แม้จะมีแคนดิเดตนายกฯ เหลืออยู่อีก 1 คนคือ "นายชัยเกษม นิติศิริ"
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การชิงปิดประชุมสภา 3 ครั้งติดของ "นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน" รองประธานสภา คนที่ 1 ทำให้มีเสียงวิจารณ์ถึงการทำงานด้านนิติบัญญัติของรัฐบาล ด้าน "นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ" สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้ความเห็นว่า ต้องปรับปรุงเรื่ององค์ประชุมให้ได้ การเสนอนับองค์ประชุม เป็นสิทธิของฝ่ายค้าน แต่ถ้านับทุกสัปดาห์แล้วประธานสั่งปิดประชุม เสียหายหลายแสนบาทสำหรับค่าอาหาร
วันนั้นทั้งวันยังมีเวลาอีก 2-3 ชั่วโมง ที่จะประชุมต่อ ก็ต้องหยุดไป ความเสียหายเกิดขึ้นกับค่าใช้จ่าย บางครั้งฝ่ายค้านขอนับองค์ประชุม แค่เรื่องรับทราบ ไม่ใช่การพิจารณากฎหมาย แม้มีสิทธิทำได้ แต่ก็เป็นอำนาจประธานจะปิดประชุม เสียงรัฐบาลขณะนี้เกินมา 10 กว่าเสียง แต่บางครั้งการพิจารณาที่ไม่ใช่เรื่องกฎหมาย สส. บางส่วนอยู่ในห้องประชุมงบประมาณ ลงมาห้องประชุมใหญ่ไม่ทัน ที่สำคัญคือข้าราชการที่มารอชี้แจงงบต่อกรรมาธิการ (กมธ.) มากันแต่เช้า หลายคนมาจากต่างจังหวัด มีการจองตั๋วกลับ
"..ถามว่าเมื่อขอนับองค์ประชุมแล้วได้อะไร ฝ่ายค้านต้องคิดด้วย ไม่ใช่เอาชนะคะคานด้วยเทคนิคเช่นนี้ ข้าราชการที่มาชี้แจงงบประมาณ อาจต้องเลื่อนตั๋วกลับ เสียเวลาค้างคืน สร้างปัญหาอีกมากมาย เห็นใจข้าราชการ ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น.." ประธานวิปรัฐบาล กล่าวและตอบคำถาม จะประสานฝ่ายค้านไม่ให้เสนอนับองค์ประชุมบ่อยเกินไปหรือไม่ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า เป็นสิทธิของฝ่ายค้านที่ต้องรู้ด้วยตัวเองว่า สิ่งที่ทำเพื่ออยากชนะเกมนี้ เราไม่ขอร้อง แต่ฝ่ายค้านต้องรู้ว่า ถ้าทำเช่นนี้ทุกสัปดาห์ ความเสียหายที่เกิดขึ้นขนาดไหน รัฐบาลพยายามระดมคนมาประชุมให้มากที่สุดแล้ว ขอให้ สส. รัฐมนตรีอยู่สภา ทุกวันพุธ วันพฤหัสบดี แต่บางครั้งรัฐมนตรีมีเรื่องสำคัญต้องไปทำ ในขณะที่มีเสียงปริ่มน้ำ ก็ยอมรับข้อเท็จจริง
เมื่อถามว่า การประชุมสภาสัปดาห์หน้าจะทำอย่างไรให้การประชุมราบรื่น ไม่ให้ปิดประชุมหนีตลอด นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า เป็นเทคนิคของประธานที่ชิงปิดประชุม เพราะไม่อยากให้การประชุมล่ม ถ้าฝ่ายค้านนับองค์ประชุมทุกสัปดาห์ องค์ประชุมก็อาจล่มอีก อาจจะเป็นอย่างนี้ 1-3 เดือน ถามว่าใครได้ประโยชน์ จริงๆ ก็อยากระดมคน การประชุมสัปดาห์หน้าต้องไปขอร้องให้อยู่ประชุมให้ครบ อย่าไปคิดว่าวันพุธวันเดียวที่เป็นกฎหมาย ต้องให้ความสำคัญวันพฤหัสบดีด้วย
ส่วนฝ่ายค้านก็ต้องไปคิดให้ดีเช่นกัน ส่วนการเลือกรองประธานสภา คนที่ 2 ว่า จะมีการเลือกวันที่ 24 ก.ค. นี้ ยืนยันเป็นของพรรค พท. แต่ขอไปคุยกันในการประชุมพรรค พท. ในวันที่ 22 ก.ค. นี้ ว่าจะเสนอชื่อใคร เพราะไม่สามารถมีใครมาชี้นำได้ ต้องให้ สส. โหวตกันเอง เมื่อถามว่า ส่วนที่พรรคร่วมรัฐบาลก็อยากได้ตำแหน่งรองประธานสภา คนที่ 2 นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ทุกพรรคอยากได้หมด แต่ต้องดูข้อเท็จจริง คิดว่าไม่มีใครเสนอแข่ง เพราะโดยมารยาทไม่ทำกัน จึงไม่กังวลเรื่องนี้
กลายเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาล ในประเด็นการทำงานด้านนิติบัญญัติ หลังฝ่ายค้านเสนอให้นับองค์ประชุม ทำให้นายพิเชษฐ์ รองประธานสภา คนที่ 1 ต้องชิงปิดประชุมไป 3 ครั้ง ต้องรอดูฝ่ายบริหารจะรับมืออย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบกับความเชื่อมั่นของเสถียรภาพรัฐบาล
ส่วนกรณี "พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ" อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้มอบหมายให้ "พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม" ผอ.กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทางสาธารณประโยชน์ในพื้นที่สนามบินส่วนบุคคล ในบริเวณพื้นที่ ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา หลังจากดีเอสไอได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือทนายอั๋น บุรีรัมย์ ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการขออนุญาตใช้ถนนสาธารณะเป็นทางวิ่ง (Runway) ของอากาศยานในสนามบินขนงพระ ซึ่งจากการตรวจสอบพื้นที่อยู่ในความดูแลของนิคมสร้างตนเองลำตะคอง ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ขนงพระ
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ รอการชี้แจงจาก 5 หน่วยงาน ได้แก่ 1.อบต.ขนงพระ เรื่องการขออนุญาตสร้างสนามบิน และมีการทำประชาพิจารณ์ เพื่อขออนุญาตจัดตั้งสนามบินส่วนบุคคล ที่ขึ้นลงชั่วคราว ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา หรือไม่ 2.กรมที่ดิน เรื่องโฉนดที่ดิน ว่าเป็นที่ดินที่อยู่ในเขต-นอกเขต อย่างไรบ้าง 3.นิคมสร้างตนเองลำตะคอง เรื่องไทม์ไลน์วันที่เวลาที่ปรากฏการก่อสร้างสนามบินขนงพระ การสร้างทางวิ่งอากาศยาน หรือรันเวย์ (Runway) 4.สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องการสร้างสนามบิน
และ 5.สำนักงานปฏิรูปที่ดิน จ.นครราชสีมา เรื่องพื้นที่คาบเกี่ยวที่ดิน ส.ป.ก. โดยถ้าหากทาง อบต.ขนงพระ มีการชี้แจงเอกสารว่าได้อนุญาตให้สร้างสนามบินจริงตามคำขอ ก็ต้องดูประกอบข้อเท็จจริงกับสิ่งที่นิคมสร้างตนเองลำตะคองชี้แจงมาด้วย เนื่องจากทางสาธารณะแห่งนี้ อยู่ในพื้นที่ของนิคมสร้างตนเองลำตะคอง อย่างไรก็ต้องมีการขออนุญาตมาทางนิคมสร้างตนเองลำตะคองก่อน ดังนั้น หากนิคมสร้างตนเองลำตะคองมีการอนุญาต จากนั้นจึงจะไปยื่นขออนุญาต อบต.ขนงพระ ในการสร้างทางวิ่งอากาศยาน หรือรันเวย์ (Runway) ได้ เนื่องด้วยมี พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่กำกับดูแลอยู่
หากได้คำชี้แจงครบทั้ง 5 หน่วยงานแล้ว ดีเอสไอจะลงพื้นที่อีกครั้ง เพื่อไปพบกับบุคคล 2 ส่วน คือ 1.เจ้าของสนามบินขนงพระ ซึ่งปรากฏเอกสารมีชื่อ xxxx เป็นคนขอสร้างสนามบิน ภายหลังจากที่สนามบินสร้างเสร็จตั้งนานแล้ว (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ตามแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ) ทั้งยังมีการทำประชาพิจารณ์ภายหลังอีกด้วย และจะได้ไปพบกับ 2.เจ้าของสนามกอล์ฟเอกชน ซึ่งตามเอกสารปรากฏชื่อหญิงไทยรายหนึ่ง มีสถานะเป็นน้องสาวของ xxxx เพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริงต่อไป ซึ่งพนักงานสอบสวนระบุว่า สนามบินขนงพระมีอยู่แล้ว แต่ไปทับทางสาธารณะ
ขณะที่ทางสาธารณะดังกล่าว ก็มีความยาวเข้าไปในสนามกอล์ฟเอกชน แต่สนามกอล์ฟเอกชนกลับเหมือนมีการปิดทาง จึงต้องตรวจสอบดูว่ามีการขอใช้ประโยชน์หรือไม่ หรือว่าไม่มีการขอใช้ประโยชน์ จึงย้ำว่าดีเอสไอต้องรอคำชี้แจงจากกรมที่ดิน กรณีนี้ หากมองภาพรวม คนที่เสียหาย คือ นิคมสร้างตนเองลำตะคอง ต้องรอดูกระบวนการตรวจสอบ จะมีบทสรุปอย่างไร จะเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่ เพราะดีเอสไอก็มีบทบาทในการตรวจสอบคดีฮั้ว สว. และยังเข้ามาหาข้อเท็จจริงเรื่องรันเวย์วีไอพี นี้ด้วย
ทีมข่าวการเมือง