ทหารไทยเร่งเคลียร์ทุ่นระเบิดชายแดน เตรียมมาตรการตอบโต้กัมพูชา
วันที่ 20 กรกฎาคม 2568 – สถานการณ์ตึงเครียดบริเวณแนวชายแดนไทย–กัมพูชากลับมาร้อนแรงอีกครั้ง หลังเกิดเหตุทหารไทยจากหน่วยร้อย ร.6021 เหยียบกับทุ่นระเบิดขณะปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนในพื้นที่ช่องบก จังหวัดศรีสะเกษ ส่งผลให้กำลังพลได้รับบาดเจ็บถึง 3 นาย
ล่าสุด กองทัพภาคที่ 2 ได้จัดส่งชุดทหารช่างพร้อมยุทโธปกรณ์หนักเข้าสนับสนุนในพื้นที่เกิดเหตุทันที โดยมีการระดมรถแทรกเตอร์หุ้มเกราะ รถถางป่า และอุปกรณ์เก็บกู้ทุ่นระเบิดขั้นสูง พร้อมทีมช่างผู้เชี่ยวชาญในการกวาดล้างทุ่นระเบิด (Mine Clearing) เพื่อทำให้แนวชายแดนปลอดภัย และเปิดทางให้กำลังพลสามารถลาดตระเวนได้โดยไม่เสี่ยงชีวิต
ไม่เพียงแค่เป็นปฏิบัติการเชิงยุทธวิธี แต่ภารกิจครั้งนี้ยังมีเป้าหมายสำคัญในการ “เก็บหลักฐาน” เพื่อชี้ชัดว่า มีการละเมิดอนุสัญญาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ “อนุสัญญาออตตาวา” (Ottawa Treaty) ที่ห้ามมิให้มีการผลิต ครอบครอง โอน หรือใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามและให้สัตยาบันเมื่อปี 2542 ขณะที่กัมพูชาแม้จะเป็นภาคีเช่นกัน แต่เหตุการณ์ครั้งนี้อาจแสดงให้เห็นถึงการฝ่าฝืนพันธกรณีดังกล่าว
แม้ทางฝั่งกัมพูชาจะยังปฏิเสธความรับผิดชอบ แต่กระทรวงการต่างประเทศของไทยเตรียมยื่นหนังสือประท้วงอย่างเป็นทางการต่อองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน
ขณะเดียวกัน กองทัพบกไทยก็เตรียมมาตรการตอบโต้ทางทหารอย่างเหมาะสม หากพบว่าการใช้ทุ่นระเบิดเกิดจากความจงใจละเมิดอธิปไตย
ทุ่นระเบิด ฝันร้ายที่ยังไม่จบ
แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 30 ปีหลังสงครามเย็น แต่ “ทุ่นระเบิด” ยังคงเป็นภัยคุกคามเงียบที่คร่าชีวิตผู้คนในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา ที่เคยเป็นสมรภูมิรบและเส้นทางของกองกำลังเขมรแดง ทุ่นระเบิดหลายแสนลูกยังคงหลงเหลืออยู่ใต้พื้นดิน
ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากทุ่นระเบิดในประเทศไทยกว่า 3,000 ราย ขณะที่พื้นที่เสี่ยงภัยทุ่นระเบิดยังเหลือมากกว่า 300 ตารางกิโลเมตรทั่วประเทศ
ทั้งนี้ โพสต์ทูเดย์รายงานข่าวก่อนนี้ระบุว่า เมื่อมีการตรวจสอบชิ้นส่วนอย่างละเอียด นักวิเคราะห์พบว่ามันคือทุ่นระเบิดรุ่นใหม่แบบ PMN2 ไม่ใช่ Type 72B ที่คุ้นเคย แถมพื้นที่ที่เกิดเหตุยังเป็น "เขตสีเขียว" ที่ประกาศว่าปลอดภัยและผ่านการกวาดล้างทุ่นระเบิดมาแล้ว คำถามตัวโตจึงผุดขึ้นมาว่า ทุ่นระเบิดใหม่นี้มาได้อย่างไร? ใครเป็นผู้วางลงบนเส้นทางลาดตระเวนปกติของทหารไทย?
สำหรับประชาชนที่อาศัยใกล้พื้นที่แนวชายแดน ความหวาดระแวงจากภัยที่มองไม่เห็นนี้ยังคงเป็นชีวิตประจำวัน การกลับมาของปฏิบัติการกวาดล้างในครั้งนี้จึงไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงภารกิจที่ยังไม่เสร็จสิ้นของการทำให้ดินแดนไทยปลอดภัยจาก “ปีศาจใต้ดิน” อย่างแท้จริง