กต. ส่งหนังสือโต้ “กัมพูชา” ถึง “ยูเอ็น” ปมข้อพิพาทเขตแดนย้ำยึดเจรจาทวิภาคีแก้ปัญหา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (5 ก.ค.68) นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามที่มีการสอบถามจากสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับกรณีหนังสือของเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรกัมพูชา ณ นครนิวยอร์ก ถึงเลขาธิการสหประชาชาติ (UNSG) ซึ่งมีเนื้อหาแสดงความประสงค์ของกัมพูชา ที่จะยื่นเรื่องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ในประเด็นเขตแดนกับประเทศไทยนั้น
นายนิกรเดช ระบุว่า เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2568 เอกอัครราชทูตกัมพูชาได้มีหนังสือถึง UNSG เพื่อขอให้เวียนเป็นเอกสารของสมัชชาสหประชาชาติ ภายใต้ระเบียบวาระที่ 32 ของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 79 เรื่อง Prevention of Armed Conflict โดยอ้างถึงสถานการณ์ความตึงเครียดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2568 เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทย ณ นครนิวยอร์ก ได้ส่งหนังสือถึง UNSG แนบท้ายแถลงการณ์รัฐบาลไทย ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2568 ซึ่งชี้แจงข้อเท็จจริง รวมถึงท่าทีและแนวทางดำเนินการของฝ่ายไทยต่อประเด็นดังกล่าว โดยยืนยันว่าทุกขั้นตอนเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ บันทึกความเข้าใจปี พ.ศ. 2543 (MOU 2000) และข้อตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ในการแก้ปัญหาผ่านช่องทางทวิภาคี พร้อมขอให้เวียนหนังสือและแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นเอกสารประกอบระเบียบวาระที่ 32 ด้วยเช่นกัน
สำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติ ได้ลงทะเบียนหนังสือของทั้งฝ่ายกัมพูชาและไทยเข้าสู่ระเบียบวาระที่ 32 ของการประชุมแล้ว ซึ่งมีนัยสำคัญคือ การเวียนเอกสารดังกล่าวให้ประเทศสมาชิกได้รับทราบ และบันทึกท่าทีของประเทศสมาชิกไว้ในระบบอย่างเป็นทางการ
“ขณะนี้ UNSG ได้ลงทะเบียนหนังสือของ ออท. ผทถ. กพช./นครนิวยอร์ก และหนังสือของ ออท. ผทถ. ณ นครนิวยอร์ก ข้างต้นเข้าสู่ระเบียบวาระที่ 32 ของสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 79 แล้ว ซึ่งมีนัยเป็นการเวียนหนังสือให้ประเทศสมาชิก UN รับทราบ”
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำว่า ในหลักการ การเวียนหนังสือของประเทศสมาชิกภายใต้ระเบียบวาระของสมัชชาสหประชาชาติ ถือเป็นกระบวนการปกติของยูเอ็น เพื่อบันทึกท่าทีหรือข้อมูลของประเทศสมาชิกไว้เป็นหลักฐาน (place on record) และเผยแพร่ให้เกิดการรับรู้ร่วมกัน ในกรณีนี้ ฝ่ายไทยจึงดำเนินการในแนวทางเดียวกัน เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงและจุดยืนของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ