เข้าใจกันใหม่เด้อ! ‘อีสาน’ ไม่ได้จนที่สุดในประเทศ พบครัวเรือนยากจนอยู่ที่ ‘ภาคใต้’ มากสุด
ภูมิภาค-สช.ร่วมกับThe ActiveจัดเวทีนโยบายสาธารณะPolicy Dialogueมาตรวัดความเป็นธรรมของคนจนเมือง
พบ 10 ปีที่ผ่านมา คนจนเมืองลดน้อยลงกว่าคนจนชนบท “ภาคใต้” มีครัวเรือนยากจนกระจุกตัวมากที่สุด ไม่ใช่ภาคอีสานอย่างที่เคยเข้าใจ และเมืองยิ่งเจริญยิ่งมีคนไร้บ้านมาก ชี้ระบบสุขภาพไม่ได้ออกแบบรองรับมาเพื่อทุกคน คนไร้บ้านไร้บัตรประชาชนเข้าถึงการรักษายาก ด้าน สช. เดินหน้าสร้างพื้นที่กลางพูดคุยแก้ไขปัญหา
ขับเคลื่อนตามกรอบธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดเวทีเสวนาสาธารณะ Policy Dialogue “มาตรวัดความเป็นธรรมของคนจนเมือง” ภายใต้งาน เท่าหรือเทียม: เส้นทางความเหลื่อมล้ำคนจนเมือง ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-27 กรกฎาคม 2568 เพื่อรับฟังความเห็นจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและเป็นพื้นที่กลางให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์ปัญหา และร่วมเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาคนจนเมือง
น.ส.มนต์ทิพย์ สัมพันธวงศ์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า สถานการณ์การแก้ปัญหาคนจนเมืองตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าคนจนที่อยู่นอกเขตเทศบาลหรือชนบทมีจำนวนลดลงมากกว่าคนจนเมือง โดยปัจจุบันพบว่า กว่า 2 ใน 5 ของคนจนเมืองไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ขณะที่คนจนชนบทอยู่ที่ไม่ถึง 1 ใน 5 ซึ่งการที่จำนวนคนจนเมืองลดลงได้น้อย อาจกำลังสะท้อนความซับซ้อนของปัญหาที่แก้ไขได้อย่างยากลำบาก
ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) ซึ่งกำหนดหมุดหมายเอาไว้ทั้งสิ้น 13 หมุดหมาย โดยหมุดหมายที่ 7 – 9 เป็นหมวดหมู่ของการสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค ซึ่งระยะเวลาเพียง 1 ปี หลังจากมีการขับเคลื่อนตามแผนพัฒนาฯ พบว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่ายมีแนวโน้มลดลง และครัวเรือนที่ถูกคัดกรองว่ามีแนวโน้มกลายเป็นครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นลดลง
“อย่างไรก็ดี ยังพบข้อมูลตัวเลขที่บ่งชี้สถานการณ์ไว้อย่างน่าสนใจว่า ข้อมูลครัวเรือนที่ยากจนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ภาคใต้มากที่สุด รวมไปถึงความไม่เสมอภาคในการกระจายรายได้ ภาคใต้ก็ครองแชมป์เช่นกัน ดังนั้น ภาพความเข้าใจที่ว่าภาคอีสานคือภาคที่ยากจนที่สุด ตอนนี้จึงได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว” น.ส.มนต์ทิพย์ กล่าว
นพ.อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มอาสาทางการเเพทย์สุขภาวะข้างถนน กล่าวว่า กลุ่มอาสาทางการแพทย์ฯ เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ขับเคลื่อนการดูแลสุขภาวะให้กับคนไร้บ้าน อาทิ การออกหน่วยตรวจสุขภาพพื้นที่เป็นประจำทุกเดือน จัดทำบ้านพักให้ไร้บ้านได้มาฟื้นฟูร่างกาย รวมไปถึงการทำดนตรีบำบัดให้กับคนไร้บ้านที่เป็นโรคจิตเภท ฯลฯ
ความไร้บ้านของผู้คนเป็นปรากฏการณ์ที่พบมากในเขตเมือง เมื่อแยกปริมาณของคนไร้บ้านออกมาเป็นรายตำบลและรายเขต จะพบว่าคนไร้บ้านมากถึง 15 พื้นที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่วนอีก 15 พื้นที่อยู่ในอำเภอเมืองของแต่ละจังหวัด และเมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนคนไร้บ้านกับผลิตภัณฑ์ของจังหวัด ก็จะพบว่าจังหวัดใดยิ่งมีรายได้มากก็ยิ่งก็จะพบคนไร้บ้านมากขึ้นเช่นกัน
นพ.อานนท์ กล่าวอีกว่าในเมืองที่เศรษฐกิจดีทำให้ผู้คนอยากจะมาอยู่ แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่เขาต่อสู้กับความปากกัดตีนถีบในเขตเมืองไม่ได้ และหลุดจากระบบเศรษฐกิจหรือหลุดจากความช่วยเหลือต่างๆ จนกลายมาเป็นคนไร้บ้าน ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบบ่อยคือคนไร้บ้านมักไม่มีบัตรประชาชนจนทำให้เข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ แม้เวลาโทรไปที่ 1330 สปสช. จะบอกว่าสามารถใช้บริการได้เพราะเป็นคนไทยมีเลข 13 หลัก แต่พอเดินทางไปยังสถานบริการสุขภาพ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข พบว่าคำแรกที่เจ้าหน้าที่ถามก่อนเลยก็คือบัตรประชาชนอยู่ไหน? ไม่มีบัตรใช้บริการไม่ได้ สิ่งเหล่านี้กำลังเป็นช่องว่างที่สะท้อนว่าระบบสุขภาพไม่ได้ออกแบบมาสำหรับทุกคน และเจ้าหน้าที่ก็ยังไม่เข้าใจถึงเงื่อนไข ความเปราะบางของคนไร้บ้าน
ด้าน ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SDG Move) กล่าวว่า SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาระดับโลก ที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ลงนามขานรับแนวทางดังกล่าว โดย SDGs มีทั้งสิ้น 17 เป้าหมายหลัก ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาในทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม แม้ว่าการแก้ปัญหาความยากจนจะถูกระบุชัดเจนไว้ในเป้าหมายที่ 1 ว่าต้องขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ แต่แท้จริงแล้วการแก้ไขปัญหาความยากจนนั้นครอบคลุมและเชื่อมโยงกันทั้ง 17 เป้า จนไม่อาจแยกขาดจากกันได้
“เวลาผู้คนมองมาที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มักจะมองแบบแยกส่วน เช่น บางคนมองเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม ที่แยกห่างจากกัน แต่การแก้ไขแบบ SDGs เราไม่สามารถมองการแก้ไขปัญหาแบบแยกส่วนจากกันได้” ดร.ณัฐวิคม กล่าว
ดร.ทิพิชา โปษยานนท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (รองเลขาธิการ คสช.) กล่าวสำทับตอนท้ายว่า ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 ถือเป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายที่มุ่งเน้นให้เกิดความเป็นธรรม ไม่เกิดเหลื่อมล้ำและให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการมีสุขภาวะที่ดีได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหล
ทั้งนี้ ภายใต้ธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ได้กำหนดเป้าหมายที่สำคัญของการสร้างระบบสุขภาพเขตเมืองไว้ว่าจะต้องสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพและสวัสดิการสังคมของประชาชนกลุ่มเปราะบาง รวมไปถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความสะอาด ปลอดภัย และเอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาวะของผู้คนที่หลากหลาย ซึ่งการจะผลักดันสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องเกิดจาก กระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบและจัดสรรทรัพยากรให้เกิดความเท่าเทียม
ศ. ดร.นฤมล นิราทร ประธานคณะอนุกรรมการวิชาการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของกรุงเทพมหานคร ถือเป็นหนึ่งในมติของสมัชชากรุงเทพมหานครครั้งที่ 1 ปี 2563 และจากวันนั้น มาจนถึงวันนี้ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) กำลังอยู่ในยุคที่มีการยกเลิกจุดค้าขายหาบเร่แผงลอยเพื่อคืนทางเท้าให้ประชาชน ซึ่งประกาศดำเนินการมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2568 แต่มาจนถึงขณะนี้ยังไม่อาจทราบได้ว่าจุดผ่อนผันที่จะเปิดให้หาบเร่แผงลอยสามารถกลับมาค้าขายได้เป็นสถานที่ใดบ้าง ส่วนตัวมองว่าจนถึงตอนนี้ กทม. ควรจะต้องมาแจ้งได้แล้วว่าพื้นที่จุดผ่อนผันอยู่ตรงไหน
นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการ คสช. กล่าวว่า สช. จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาคนจนเมือง ด้วยการเปิดพื้นที่กลางของการพูดคุยให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้เข้ามาหารือร่วมกัน ภาพรวมการเสวนาโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายหน่วยในวันนี้ จึงเป็นการนำเสนอสถานการณ์สภาวะคนจนเมืองของประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครว่าเป็นอย่างไร และมีหนทางใดในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถึงเข้าทรัพยากรต่างๆ
“การเปิดเวทีสาธารณะ Policy Dialogue ในวันนี้ ข้อเสนอสถานการณ์ แนวคิด ที่ได้จากการพูดคุย จะถูกนำไปส่วนหนึ่งของการนำเสนอในนิทรรศการ บริเวณชั้น 3 ในพื้นที่หอศิลป์ กทม. ซึ่งจะนำเสนอไปตลอดทั้งสัปดาห์นี้ บรรยากาศของกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้น ถือเป็นการกระตุกให้สังคมรับทราบร่วมกันว่ายังมีคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีกมากมาย และ สช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สร้างสรรค์นโยบายสาธารณะ พร้อมที่จะเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้เข้ามาร่วมกันหาทางออกและพูดคุย ในวาระโอกาสต่อๆ ไป เพื่อทำให้การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วม และไม่หลงลืมใครไว้ข้างหลัง” นพ.อภิชาติ กล่าว
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO