ไม่พร้อมมีลูกตอนนี้ Gen Z เลื่อนสร้างครอบครัว เศรษฐกิจไม่เอื้อ
ผลกระทบจากปัญหาสังคมสูงวัยและเด็กเกิดใหม่น้อย ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก อาจยิ่งรุนแรงมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ เพราะไม่นานมานี้เพิ่งมีรายงานชิ้นใหม่ชี้ว่า คนรุ่น Gen Z ไม่พร้อมมีลูกตอนนี้ ขอเลื่อนการสร้างครอบครัวออกไปก่อน ซึ่งส่วนใหญ่มีแนวคิดนี้มากกว่าคนรุ่นก่อน สะท้อนความกังวลต่อโลกอนาคต ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ภาวะโลกร้อน และความไม่มั่นคงในชีวิต
ในยุคที่ค่าครองชีพพุ่งสูง เศรษฐกิจผันผวน และโลกเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ Gen Z (เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2540 - 2555) แม้จะแต่งงานแล้ว แต่ก็เลือกที่จะชะลอการมีลูกออกไป โดยผลสำรวจจาก Pearl.com ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มด้าน AI พบว่า Gen Z ชะลอการมีลูกด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจมากกว่าคนรุ่นมิลเลนเนียลเล็กน้อย
กล่าวคือ 39% ของคน Gen Z ระบุว่าเลือกเลื่อนการมีลูกเพราะสภาพเศรษฐกิจ ขณะที่คนรุ่นมิลเลนเนียลมีสัดส่วน 36% ที่คิดเช่นเดียวกัน แต่เบื้องหลังเหตุผลทางเศรษฐกิจยังมีปัจจัยอื่นที่ลึกกว่านั้นอีกมาก
ไม่ใช่แค่ไม่อยากมีลูก แต่คนรุ่นใหม่กำลังตั้งคำถามกับโลกที่เปลี่ยนไวไม่มั่นคง
เคที โทรบริดจ์ (Katie Trowbridge) นักกลยุทธ์ด้านสถานที่ทำงานแบบข้ามเจเนอเรชัน และซีอีโอขององค์กร Curiosity 2 Create ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า การที่คนรุ่นใหม่เลือกที่จะเลื่อนการมีลูกออกไป ไม่ได้มาจากความเฉยชาหรือไม่ใส่ใจ แต่เป็นเพราะพวกเขากำลังคิดวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง
“พวกเขาไม่ได้แค่เลื่อนการมีลูกออกไป แต่กำลังนิยามใหม่ว่า ‘การมีลูก’ คืออะไร และมีความหมายแบบไหนในโลกยุคปัจจุบัน”
ขณะที่ โทอาย โง้ว (Thoai Ngo) ศาสตราจารย์ด้านประชากรและสุขภาพครอบครัว จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เสริมว่า Gen Z เติบโตมาในยุคที่โลกเผชิญทั้งวิกฤติภูมิอากาศ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และภาระหนี้สิน ทำให้พวกเขาให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวเองและอาชีพ ก่อนจะเริ่มต้นครอบครัว
“ความกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นหนี้การศึกษา ค่าเช่าบ้าน ค่าดูแลเด็ก ล้วนทำให้ความมั่นคงทางการเงินกลายเป็นเรื่องยากขึ้นทุกวัน”
บ้านก็ยังไม่มี อาชีพการงานไม่มั่นคง ยิ่งไม่พร้อมจะมีลูก
ไม่เพียงเท่านั้น จากรายงานของ Pearl.com ยังพบอีกว่า 36% ของ Gen Z ยอมรับว่า “ล้มเลิกความหวังในการมีบ้านเป็นของตัวเอง” ขณะที่ 33% ของ Gen Z และ 40% ของมิลเลนเนียล หันไปใช้ AI ช่วยวางแผนงบประมาณส่วนตัว เพราะรู้สึกว่า การวางแผนทางการเงินด้วยตัวเองแทบจะเป็นไปไม่ได้ในเศรษฐกิจยุคนี้
แนวคิดเรื่องการไม่อยากมีลูกของคนรุ่นใหม่สมัยนี้ อาจยิ่งส่งผลให้อัตราการเกิดลดลง และกระทบกับภาคแรงงานในอนาคตมากขึ้น ทั้งนี้ มีรายงานว่าอัตราการเกิดในสหรัฐฯ ลดต่ำเป็นประวัติการณ์ในปี 2023 และมีแนวโน้มจะอยู่ในระดับ “ต่ำกว่าจำนวนทดแทน” ไปอีกหลายทศวรรษ ซึ่งหมายถึงจำนวนเด็กที่เกิดไม่พอจะมาทดแทนคนรุ่นก่อน
ผลกระทบจากแนวโน้มนี้คือโครงสร้างประชากรที่ไม่สมดุล แรงงานน้อยลง ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจอาจซบเซา และค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก
คนรุ่นใหม่บางคนเลือกไม่มีลูกอย่างถาวร
ในรายงานฉบับข้างต้น รายงานอีกว่า กลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่า “ไม่อยากมีลูกเลย” หรือกลุ่ม “child-free” กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงานในเมือง คนผิวขาว และคนที่มีงานประจำ
ขณะที่ ผลสำรวจของ Newsweek และ Independent Center เปิดเผยว่า 23% ของคนรุ่นใหม่ เชื่อว่า “การมีลูกเป็นเรื่องไม่รับผิดชอบต่อโลก” เพราะเหตุวิกฤติโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นในทุกวันนี้ อีกทั้ง 1 ใน 3 (กว่า 33%) ของ Gen Z และมิลเลนเนียล ระบุชัดว่าพวกเขา “ไม่มีลูก และไม่คิดจะมีลูกในอนาคต”
โมอิรา คอร์โคแรน (Moira Corcoran) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน มองว่า “ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนว่า คนรุ่นใหม่รู้สึกสิ้นหวังกับอนาคตทางการเงิน คล้ายกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008” ด้าน เควิน ธอมป์สัน (Kevin Thompson) ซีอีโอ 9i Capital Group เสริมว่า “ทุกวันนี้ต้องให้พ่อแม่ทำงานเต็มเวลาทั้งคู่ถึงจะอยู่รอดได้ แทบไม่มีที่ว่างให้คิดเรื่องเพิ่มภาระอีก”
ส่วน อเล็กซ์ บีน (Alex Beene) อาจารย์ด้านการรู้เท่าทันการเงิน มองว่า “การตัดสินใจไม่รีบมีลูกในช่วงเศรษฐกิจยากลำบากแบบนี้ แม้จะไม่สนุก แต่ก็เป็นทางเลือกที่ฉลาด”
อนาคตที่ต้องเตรียมรับมือ คนทำงานน้อยลง ผลิตภาพลดลง ประเทศโตช้า
เควิน ธอมป์สัน เสริมอีกว่า “หากมองผ่านแว่นเศรษฐกิจ เรื่องปัญหาเด็กเกิดน้อยลง อัตราการเกิดต่ำ เป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะแรงงานจะน้อยลง GDP เติบโตช้า ระบบนิเวศทางเศรษฐกิจอาจชะงักงัน”
การมีเด็กเกิดน้อยลงอาจไม่ใช่ปัญหาที่ “เห็นผลทันที” แต่จะค่อยๆ สะสมผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อประเทศต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุ และมีนวัตกรรมน้อยลงจากแรงงานที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ของคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่แค่ชี้ว่าพวกเขาไม่อยากมีลูก แต่มันกำลังสะท้อนว่า พวกเขาไม่แน่ใจว่าโลกใบนี้น่าอยู่พอหรือยัง จึงเกิดการทบทวนคุณค่าของชีวิตในยุคที่ไม่มีอะไรแน่นอน ทั้งนี้ คำถามสำคัญไม่ใช่แค่ “พร้อมจะมีลูกหรือยัง?” แต่คือ “โลกที่ฉันจะมีลูกนั้น ..เหมาะจะให้เขาเติบโตหรือเปล่า?” ต่างหาก