อากาศเปลี่ยน อาหารแพง คนจนเดือดร้อนก่อนใคร เศรษฐกิจ-การเมืองอาจผันผวน
เมื่อปีก่อน ราคาค่าอาหารเพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ทั้งราคามันฝรั่งในสหราชอาณาจักรที่เพิ่มขึ้นถึง 22% หลังประเทศเผชิญฝนตกหนักช่วงฤดูหนาว ในปีเดียวกันราคากะหล่ำปลีในเกาหลีใต้ยังเพิ่มขึ้นถึง 80% เทียบกับปีก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากสภาพอากาศสุดขั้วและการแทรกแซงของรัฐบาล ยังมีอินเดียที่ราคาหัวหอม มันฝรั่ง และมะเขือต่างก็เพิ่มขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ ประเทศกานาเองก็ต้องเจอราคาเมล็ดโกโก้ที่สูงขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2020
ราคาอาหารขึ้น สุขภาพคนรายได้ต่ำเสี่ยง
รายงานจาก UK’s Energy & Climate Intelligence Unit, ธนาคารกลางยุโรป, และสถาบันวิจัย Potsdam Institute for Climate Impact Research สำรวจกลุ่มตัวอย่างจาก 18 ประเทศระหว่างปี 2022–2024 ในที่ที่ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น ด้วยสาเหตุที่มาจาก ความร้อน ภัยแล้ง หรือฝนตกหนัก พบว่า ประเทศ 10 อันดับแรกที่เผชิญราคาอาหารเพิ่มมากที่สุดในรอบ 3 ปีดังกล่าวคือ
- ออสเตรเลีย มิถุนายน 2022 ราคาผักกาดหอมเพิ่ม 300%
- กานา–ไอวอรีโคสต์ เมษายน 2024 ราคาโกโก้เพิ่ม 280%
- เวียดนาม กรกฎาคม 2022 ราคากาแฟโรบัสตาเพิ่ม 100%
- อินเดีย มิถุนายน 2024 ราคามันฝรั่ง–หัวหอมเพิ่ม 89%
- สหรัฐฯ พฤศจิกายน 2022 ราคาผักเพิ่ม 80%
- เกาหลีใต้ กันยายน 2024 ราคาผักกาดเพิ่ม 70%
- บราซิล สิงหาคม 2024 ราคากาแฟเพิ่ม 55%
- อิตาลี–สเปน มกราคม 2022 ราคาน้ำมันมะกอกเพิ่ม 50%
- ปากีสถาน สิงหาคม 2022 ราคาอาหารในพื้นที่ห่างไกลเพิ่ม 50%
ราคาผักผลไม้ที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ อย่างเช่นปริมาณน้ำฝนที่มากเกินไป อุณหภูมิที่ต่ำหรือสูงกว่ารูปแบบปกติที่เหมาะจะปลูกพืชผัก ปริมาณและคุณภาพของผลิตจึงเปลี่ยนไปตามสภาพอากาศ ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการปลูกพืชพันธุ์
แต่ดูเหมือนรูปแบบสภาพอากาศนี้จะไม่ได้มาแล้วไป แต่มีแนวโน้มจะคงอยู่อีกหลายทศวรรษ และประเทศยากจนคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์นี้ที่สุด และรายงานชี้ว่า เมื่ออาหารมีราคาแพง สิ่งที่ตามมาคือครอบครัวรายได้ต่ำตัดการบริโภคผักและผลไม้ราคาสูงออกไป แต่หากเราลองมองรายการผลิตภัณฑ์ที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นมากในแต่ละประเทศดูแล้วจะพบว่า ส่วนมากเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภคที่จำเป็น ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ฟุ่มเฟือยแต่อย่างใด ฉะนั้นหากราคาสิ่งเหล่านี้เพิ่มขึ้น ครอบครัวรายได้ต่ำจะมีความเสี่ยงขาดแคลนสารอาหารก่อน
พืชผักแพง เศรษฐกิจปั่นป่วน
รายงานพบว่า ราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นอาจส่งผลวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจ คือระบบเศรษฐกิจต่าง ๆ จะควบคุมภาวะเงินเฟ้อได้ยากขึ้น และยังทำให้อัตราดอกเบี้ยลดต่ำลงด้วย
ฤดูใบไม้ผลิอันแห้งแล้งในสหราชอาณาจักรปีนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดตัวเลขเงินเฟ้ออย่างไม่คาดคิดในสหราชอาณาจักรเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับลดลงอีกฤดูร้อนนี้ ไม่เพียงเท่านี้ รายงานยังชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นสามารถส่งผลโดยตรงเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งได้ในระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่
ราคาอาหารอาจเปลี่ยนกระแสการเมือง
แม็กซิมิเลียน ค็อตซ์ นักวิจัยหลังปริญญาเอกในโครงการมารี กูว์รี ประจำศูนย์ซูเปอร์คอมพิวติงแห่งบาร์เซโลนา และเป็นผู้เขียนหลักของรายงานฉบับนี้กล่าวถึง
“แน่นอนว่าค่าครองชีพมีผลมากต่อผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อปีก่อน […] ผลกระทบเหล่านี้จะยิ่งแย่ลงเรื่อย ๆ ในอนาคต จนกว่าเราจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เป็นศูนย์ สภาพอากาศสุดขั้วก็มีแต่จะแย่ลงเรื่อย ๆ ตอนนี้มันก็ทำลายผลการผลิตและผลักให้ราคาอาหารทั่วโลกสูงขึ้นพออยู่แล้ว […] คนเริ่มสังเกตเห็นแล้วว่า ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นเป็นผลกระทบจากสภาพอากาศอันดับสองรองจากความร้อนเท่านั้น”
ราจ พาเทล ศาสตราจารย์วิจัยประจำวิทยาลัยกิจการสาธารณะลินดอน บี. จอห์นสัน มหาวิทยาลัยเทกซัสแห่งออสตินกล่าวว่า
“ราคาอาหารเฟ้อเป็นเรื่องการเมืองเสมอ”
ตัวอย่างหนึ่งคือเมื่อปี 2553 เมื่ออากาศร้อนรุนแรงในรัสเซีย ส่งผลกระทบการผลิตข้าวสาลี ทำให้รัสเซียหยุดส่งออก และส่งผลให้ราคาข้าวสาลีเพิ่มขึ้นทั่วโลก ผลยังข้ามเขตแดนประเทศมาถึงโมซัมบิก ที่ผู้คนในโมซัมบิกลงประท้วงบนถนนเพราะราคาขนมปังพุ่งสูงขึ้นมาก
อ้างอิง: Breezeinflow, EUIC, The Guardian, CNN