“สว.” ห่วงกยศ.ถูกหั่นงบฯเงินขาดมือ 1.6 หมื่นล้าน กระทบเด็กแสนรายหลุดระบบการศึกษา
“โฆษก กมธ.เศรษฐกิจฯ วุฒิฯ” ออกโรงเตือน กยศ.ส่อวิกฤตหนัก หลังงบฯ 69 จัดสรรแค่ 5,100 ล้าน ต่ำกว่าที่ขอไปถึง 16,000 ล้าน หวั่นกระทบนักศึกษาใหม่กว่าแสนราย ย้ำกยศ.คือหัวใจลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เรียกร้องรัฐบาลเร่งอัดฉีดงบประมาณด่วน พร้อมเสนอ 7 มาตรการแก้ปัญหาเร่งด่วน
วันที่ 21 ก.ค.2568 นายพละวัต ตันศิริ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง วุฒิสภา กล่าวถึงสถานการณ์กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่กำลังเผชิญกับภาวะเงินขาดมืออย่างรุนแรงว่า กยศ.เป็นกลไกสำคัญในการกระจายโอกาสทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างกำลังคนที่มีคุณภาพให้ประเทศชาติ แต่ กยศ.กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก คาดการณ์ว่าจะมีกระแสเงินสดติดลบ 30,000 ล้านบาทในปี 2568 และล่าสุดข้อมูลระบุว่าปี 2568 จะมีเงินขาดมือสุทธิประมาณ 14,000 ล้านบาท ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าคือ งบประมาณปี 2569 ที่ กยศ.เสนอขอไป 21,900 ล้านบาท แต่กลับได้รับการจัดสรรเพียง 5,100 ล้านบาท ทำให้เกิดช่องว่างทางการเงินสูงถึงเกือบ 16,000 ล้านบาท หากเป็นเช่นนี้ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อนักศึกษาใหม่ในปี 2569 ที่คาดการณ์ว่าจะได้รับเงินกู้เพียง 25% จากจำนวนทั้งหมด 182,255 ราย
นายพละวัต กล่าวเตือนว่า หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ยอดเงินสดคงเหลือของกองทุนอาจลดลงถึง 7-8 หมื่นล้านบาทภายในปี 2570 ซึ่งจะกระทบต่อโอกาสทางการศึกษาของนักศึกษาใหม่กว่าแสนคน จึงเสนอ 7 มาตรการเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.เร่งจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม ให้ กยศ.ในปี 2569 โดยด่วน 2.ปรับปรุงความยืดหยุ่นของกองทุน เช่น เปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้สูงสามารถชำระคืนได้เร็วขึ้น 3.ส่งเสริมแหล่งเงินทุนทางเลือก เช่น ทุนการศึกษาจากบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI 4.บริหารจัดการกองทุนเชิงรุก 5.ปรับรูปแบบการชำระคืน ให้สอดคล้องกับรายได้และการจ้างงานของลูกหนี้ 6.ส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ให้กับผู้กู้ยืม 7.จัดการข้อมูลลูกหนี้อย่างครอบคลุม และมีมาตรการจูงใจในการชำระหนี้ตรงเวลา รวมถึงมาตรการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับลูกหนี้ที่ว่างงาน
“การแก้ไขปัญหา กยศ.เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ เพื่อไม่ให้เยาวชนไทยต้องพลาดโอกาสทางการศึกษา และเพื่ออนาคตของประเทศชาติโดยรวม”นายพละวัต กล่าว