ค่าเงินบาทเปิด 32.44 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าเล็กน้อยหลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีเกินคาด ทองคำหนุน
ค่าเงินบาทเปิด 32.44 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าเล็กน้อยหลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีเกินคาด ทองคำหนุน
วันที่ 18 กรกฎาคม 2568 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวผันผวน ในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 32.43-32.58 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าเข้าใกล้โซนแนวต้าน 32.60 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงเวลาสั้นๆ ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการย่อตัวลงต่อเนื่องของราคาทองคำ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ ทั้ง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมิถุนายน ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึง ดัชนีภาวะธุรกิจโดยเฟดสาขา Philadelphia ต่างออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์กลับไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาศัยจังหวะเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในการทยอยปรับลดสถานะถือครองและขายทำกำไรการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ในช่วงเช้าของตลาดการเงินเอเชีย เงินดอลลาร์ยังเผชิญแรงกดดันจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด อย่าง Christopher Waller (หนึ่งใน Board of Governors และ Voters ของ FOMC) ที่ยังคงสนับสนุนการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของเฟด โดยเฉพาะการลดดอกเบี้ยในการประชุม FOMC เดือนกรกฎาคมนี้ (“After cutting rate this month I would support further 25bps cuts to move toward neutral rate”) ซึ่งการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ดังกล่าวในช่วงคืนที่ผ่านมาและช่วงเช้าของตลาดการเงินเอเชีย ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (XAUUSD) พลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้นจากใกล้โซนแนวรับ 3,300-3,310 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับ 3,330-3,340 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท
บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ขณะเดียวกัน รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ต่างก็ออกมาสดใสและดีกว่าคาด ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.54%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นกว่า +0.96% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ บรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor ก็ทยอยปรับตัวสูงขึ้น ตามอานิสงส์รายงานผลประกอบการของ TSMC ที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ASML รีบาวด์ขึ้น +3.9% หลังปรับตัวลงหนักในวันก่อนหน้า
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ แม้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะออกมาดีกว่าคาด ทว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ และยังคงแกว่งตัวในกรอบ 4.40%-4.50% หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะแนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ขณะเดียวกัน ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ กับ ประธานเฟดก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อ หลัง Risk-Reward มีความน่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโซน 4.50% ขึ้นไป สำหรับบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง แม้จะแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด ทว่าบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน กอปรกับแรงขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ในช่วงที่ผ่านมา และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด อย่าง Christopher Waller ที่ยังคงสนับสนุนการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของเฟด ก็มีส่วนกดดันให้เงินดอลลาร์ ทยอยอ่อนค่าลง โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลงสู่ระดับ 98.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 98.4-98.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วน ซึ่งยังคงสนับสนุนการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของเฟด ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค. 2025) สามารถรีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับระยะสั้น สู่โซน 3,340-3,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ทว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำก็เป็นไปอย่างจำกัด หลังบรรยากาศในตลาดการเงินได้กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) จากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ในเดือนกรกฎาคม โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นและระยะยาว (Inflation Expectations) ที่อาจช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดได้ โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดให้โอกาสราว 78% ที่เฟดจะเดินหน้าลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในปีนี้ และมั่นใจว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้อีก 3 ครั้ง ในปี 2026 และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินในช่วงระยะสั้นได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า เงินบาทยังไม่สามารถทยอยอ่อนค่าได้อย่างที่ประเมินไว้ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็เป็นไปอย่างจำกัดและยังคงเผชิญแรงขายทำกำไร รวมถึงการปรับสถานะถือครองจากบรรดาผู้เล่นในตลาด ขณะเดียวกัน ราคาทองคำก็ยังคงมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นบ้าง และเป็นอีกปัจจัยที่หนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ ก็ถือว่าเซอร์ไพรส์เราพอสมควร เนื่องจากเรามองว่า ตลาดหุ้นไทยไม่ได้ปัจจัยหนุนที่ชัดเจน เหมือนตลาดหุ้นเอเชียอื่นๆ ที่มีการปรับตัวขึ้น ซึ่งการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ ก็มาพร้อมกับแรงซื้อหุ้นไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ และเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนค่าเงินบาท สวนทางกับที่เราประเมินไว้
อย่างไรก็ดี เรายังขอคงมุมมองเดิมไว้ว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงทยอยอ่อนค่าลงได้บ้าง และประเมินว่า เงินบาทจะมีโอกาสกลับไปอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 32.60-32.70 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ อีกทั้งผู้เล่นในตลาดอาจปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้าออกมาดีกว่าคาด และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ออกมาย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย เพื่อรอความชัดเจนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ปัจจัยกดดันเงินบาทจากในประเทศก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของการเมืองไทย ซึ่งหากสถานการณ์การเมืองไทยเผชิญความไม่แน่นอนมากขึ้น ก็อาจหนุนให้บรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยได้ไม่ยาก หลังตลาดหุ้นไทยได้ทยอยปรับตัวขึ้นมาพอสมควรและการปรับตัวขึ้นต่อก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด หากไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุน
ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจถูกชะลอลงได้ หากราคาทองคำยังสามารถปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเรายังคงเห็นแรงซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวของผู้เล่นในตลาดอยู่ อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดบางส่วน อย่างฝั่งผู้ส่งออก ก็อาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านอีกครั้ง ทำให้โดยรวม เงินบาท (USDTHB) อาจยังติดโซนแนวต้านแถว 32.60-32.70 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อน แต่หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 32.70 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน เราถึงจะกลับมามั่นใจว่า เงินบาทได้กลับเข้าสู่แนวโน้มอ่อนค่าลงอีกครั้ง ตามการประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend Following โดยแนวต้านถัดไปของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 32.90-33.00 บาทต่อดอลลาร์
โดยเรายังคงมีความกังวลเดิม คือ ความผันผวนของเงินบาทที่อาจกลับมาสูงขึ้นได้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ Options เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.35-32.55 บาท/ดอลลาร์
#ค่าเงินบาท #เงินบาทแข็งค่า #ตลาดเงิน #ราคาทองคำ #เฟด #ดอลลาร์ #เศรษฐกิจสหรัฐฯ #ตลาดหุ้น #การลงทุนในทองคำ #KrungthaiGlobalMarkets #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์ #ข่าววันนี้