ร่นระยะทางผ่านลำปาง ทช. เร่งสร้างถนนสายแยก ทล.11 - ทล.1 คาดเสร็จปี 70
นายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า จังหวัดลำปาง ตั้งอยู่กึ่งกลางของภาคเหนือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้า เชื่อมโยงเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนและตอนล่าง ซึ่งสามารถพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางความร่วมมือทางการค้าและเป็นประตูเศรษฐกิจ ในการติดต่อเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนในอนาคต ซึ่งปัจจุบันการจราจรในพื้นที่ชุมชนเมืองของจังหวัดลำปาง รถบรรทุกขนส่งสินค้ายังต้องวิ่งสัญจรผ่านเมือง ส่งผลให้ถนนไม่สามารถรองรับปริมาณการจราจรได้เพียงพอในช่วงเวลาเร่งด่วน โดยเฉพาะ ทล.1 (พหลโยธิน) ช่วงระหว่างแยกศรีชุมไปห้าแยกประตูชัย ทั้งนี้ เพื่อให้โครงข่ายคมนาคมขนส่งของจังหวัดลำปางสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทช. จึงได้ดำเนินการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสายแยก ทล.11 – ทล.1 อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง (ตอนที่ 1) ระยะทางรวม 5.400 กิโลเมตร พร้อมก่อสร้างสะพานข้ามคลอง จำนวน 3 แห่ง ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 678.900 ล้านบาท โดยรายละเอียดการก่อสร้างแบ่งได้ ดังนี้
-จุดเริ่มต้นโครงการบริเวณช่วง กม.ที่ 0+000 (เชื่อมกับ ทล.11 ตอน ลำปาง – เชียงใหม่ บริเวณ กม.ที่ 466+075 ด้านขวาทาง) ถึง กม.ที่ 0+390 รวมระยะทาง 0.390 กิโลเมตร
-ก่อสร้างถนนเป็นผิวจราจรแอสฟัลต์ติกคอนกรีต ขนาด 4 ช่องจราจร บริเวณช่วง กม.ที่ 0+970 ถึง กม.ที่ 2+610 และบริเวณช่วง กม.ที่ 3+186 ถึง กม.ที่ 5+160 รวมระยะทาง 3.614 กิโลเมตร
-ก่อสร้างถนนเป็นผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 8 - 10 ช่องจราจร บริเวณ กม.ที่ 2+610 ถึง กม.ที่ 3+186 (ตัด ทล.1039 กม.ที่ 6+442.674) รวมระยะทาง 0.576 กิโลเมตร
-ก่อสร้างถนนเป็นผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 4 ช่องจราจร บริเวณ กม.ที่ 5+160 ถึง กม.ที่ 5+400 (ตัด ทล.1157 บริเวณ กม.ที่ 2+245) รวมระยะทาง 0.240 กิโลเมตร
-บริเวณ กม.ที่ 0+676.528 ก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ ขนาด 4 ช่องจราจร ความยาวสะพานรวม 580 เมตร
อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อถนนสายดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถลดระยะเวลาในการเดินทางลดระยะทางจากเส้นทางผ่านเมืองที่ใช้ในปัจจุบันได้ประมาณ 3 กิโลเมตร และแยกรถบรรทุกจากเมือง เพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนที่สัญจรในชุมชนเมืองมากขึ้น ตลอดจนเป็นการยกระดับโครงข่ายการคมนาคมขนส่งของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนและตอนล่างให้สมบูรณ์ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง สู่การเป็นศูนย์กลางความร่วมมือทางการค้าและเป็นประตูเศรษฐกิจ (Gateway) ในการติดต่อเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ตอนบนในอนาคตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- บูมท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลสาบสงขลา ทช. เร่งสร้างถนนสาย พท.4004 พัทลุง คาดเปิดใช้ปลายปี 68
- ทช. เร่งสร้างถนนสาย ก สระแก้ว รองรับเปิดประตูเศรษฐกิจสู่ประเทศเพื่อนบ้าน
- คืบหน้าท่าเรือ “ระนอง–จิตตะกอง” ชี้โอกาสเศรษฐกิจใหม่ เชื่อมขนส่งไทย–บังกลาเทศ
- "คมนาคม"ให้รถรับจ้างผ่าน"แอปฯ" ขึ้นทะเบียน
- "สุริยะ" ชงของบ 5.6 หมื่นล้าน ลงทุนคมนาคม โครงสร้างพื้นฐาน หนุนจ้างงาน