“จีน” เสนอตัวเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย “ข้อพิพาทไทย–กัมพูชา” ดันสันติภาพชายแดน
"จีน" เสนอตัวเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย "ข้อพิพาทไทย-กัมพูชา" ดันสันติภาพชายแดน ขณะที่ข้อพิพาทมุมเบยปะทุใหม่ นำไปสู่มาตรการตอบโต้ทางทหาร-เศรษฐกิจ-วัฒนธรรม ด้านกัมพูชายื่นเรื่องต่อศาลโลก
วันที่ 14 กรกฎาคม 2568 สำนักข่าว Khmer Times รายงานว่า จีนเสนอทำหน้าที่เป็นคนกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างกัมพูชาและไทย ท่ามกลางความตึงเครียดด้านพรมแดนและความสัมพันธ์ทางการทูต พร้อมเรียกร้องให้ทั้งสองประเทศหันหน้าเจรจาด้วยสันติวิธี
หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน กล่าวว่า จีนสามารถให้การสนับสนุนอย่างสร้างสรรค์เพื่อช่วยคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างกัมพูชาและไทยอย่างเป็นธรรมและสันติ ระหว่างการพบหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ปรัค สุคน เมื่อวันพฤหัสบดีที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในโอกาสเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (AMM) ครั้งที่ 58
ระหว่างการหารือ รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาได้อธิบายสถานการณ์ชายแดนกัมพูชา-ไทย โดยระบุว่า แม้ทั้งสองประเทศมีจุดยืนต่างกันในข้อพิพาทดังกล่าว แต่ทั้งสองฝ่ายต่างมีเจตจำนงที่จะคลี่คลายสถานการณ์อย่างสงบ
หวัง อี้ ซึ่งเป็นสมาชิกกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวว่า กัมพูชาและไทยควรพิจารณาข้อพิพาทนี้ในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน โดยระบุว่า“เชื่อว่าทั้งสองประเทศจะสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างเหมาะสม ด้วยจิตวิญญาณแห่งสันติภาพและมิตรไมตรีต่อเพื่อนบ้าน …จีนจะยังคงยืนหยัดในจุดยืนที่เป็นกลาง ยุติธรรม และตอบสนองต่อความต้องการของคู่กรณี พร้อมเล่นบทบาทที่สร้างสรรค์ในเรื่องนี้”
หวัง อี้ ได้ยืนยันจุดยืนเดียวกันนี้กับ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีต่างประเทศไทย ในวันเดียวกัน โดยแสดงความหวังว่าไทยและกัมพูชาจะจัดการปัญหาด้วยการเจรจาและจิตวิญญาณแห่งความเป็นมิตร เพื่อลดความตึงเครียดและฟื้นฟูเสถียรภาพ
ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศไทยยืนยันว่าไทยมีความตั้งใจที่จะแก้ไขข้อพิพาทกับกัมพูชาผ่านช่องทางทวิภาคีภายใต้หลักความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี
ทั้งนี้ข้อพิพาทชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งยืดเยื้อยาวนานนับสิบปี ปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อกองกำลังทั้งสองประเทศเกิดเหตุปะทะกันที่พื้นที่มุมเบย เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม การเจรจาหลายครั้งหลังจากนั้นล้มเหลว และนำไปสู่การตอบโต้จากฝั่งไทย ทั้งการปิดชายแดนฝ่ายเดียว และการข่มขู่ทางทหาร เศรษฐกิจ และการทูต
กัมพูชาตอบโต้ด้วยการปิดด่านชายแดนทั้งหมด พร้อมห้ามนำเข้าสินค้าจากไทย เช่น ผักผลไม้ น้ำมัน แก๊ส แบนด์วิธอินเทอร์เน็ต และไฟฟ้า รวมถึงการแบนภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ไทยจากช่องทางสื่อในประเทศ
แม้ทั้งสองประเทศต่างเพิ่มกำลังทหารตามแนวชายแดน กัมพูชาตัดสินใจยื่นเรื่องข้อพิพาทบริเวณมุมเบย และพื้นที่วัดตาเหมือนน้อย ตาเหมือนใหญ่ และตราเครบี ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เพื่อขอวินิจฉัย
กัมพูชาระบุว่าข้อเรียกร้องอิงจากสนธิสัญญาฝรั่งเศส–สยาม ปี 1907 และแผนที่ฝรั่งเศสแนบสนธิสัญญา รวมถึงบันทึกความเข้าใจ (MoU 2000) ที่รัฐบาลไทยและกัมพูชาร่วมลงนาม แต่ไทยยืนยันว่าควรใช้กลไกทวิภาคีเดิม เพราะไทย “ไม่ยอมรับเขตอำนาจบังคับของศาลโลก”
นักวิชาการชี้บทบาทจีนอาจมีจำกัด แต่ช่วยลดความขัดแย้งได้ ชเง คิมลอง ประธานสถาบันวิสัยทัศน์เอเชีย กล่าวว่า จีนอาจมีบทบาทเพียงเล็กน้อยในการลดความตึงเครียดทางการทูต แต่ไม่สามารถเปลี่ยนจุดยืนของกัมพูชาที่ต้องการยื่นเรื่องต่อ ICJ ได้
“จากที่เห็น กัมพูชาเลือกใช้ช่องทางศาลโลก เพราะต้องการยุติปัญหานี้อย่างถาวร …อีกทั้งเห็นได้ชัดว่าเป็นกัมพูชาที่ถูกละเมิดและยั่วยุซ้ำแล้วซ้ำเล่า” ชเง คิมลอง กล่าว และกล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่จีนสามารถทำได้คือผลักดันให้ไทยเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ และร่วมกับกัมพูชาเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ
“จีนควรกระตุ้นให้ไทยหยุดกล่าวหากัมพูชาโดยไร้มูลความจริง ทุกคนเห็นชัดว่า กัมพูชาไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่ม”
คิน เพีย ผู้อำนวยการสถาบันวิเทศสัมพันธ์กัมพูชา กล่าวว่า จีนตระหนักถึงบทบาทของตนในฐานะพันธมิตรใกล้ชิดกับทั้งไทยและกัมพูชา โดยระบุว่า “ผมเชื่อว่ากัมพูชาพร้อมรับทุกกลไกที่สันติ ตราบใดที่ไม่กระทบอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน”
“แม้จีนอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้โดยตรง แต่ก็สามารถช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการปะทะทางทหารในอนาคต …ในตอนนี้ ทุกประเทศล้วนต้องการเห็นไทยและกัมพูชากลับคืนสู่สันติภาพ”
ด้านเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ก็แสดงความพร้อมเป็นคนกลางในข้อพิพาทไทย–กัมพูชา หลังได้หารือกับนายกรัฐมนตรีฮุน มาแนต ของกัมพูชา และแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย
นักวิชาการบางคนเห็นว่าฝรั่งเศสมีความเหมาะสม เพราะเป็นผู้ลงนามสนธิสัญญาในอดีตและเป็นผู้จัดทำแผนที่ในช่วงการปกครองอินโดจีน
ด้านยุก จาง ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลกัมพูชา กล่าวว่าสถาบันที่ควรทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยที่สุดคือ อาเซียน นี่คือโอกาสสำคัญที่อาเซียนจะเติบโตขึ้นเป็นองค์กรภูมิภาคที่สามารถจัดการปัญหาภายในของตนเองได้
ขณะเดียวกันดาโต๊ะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน กล่าวในการเปิดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่า เขารู้สึกกังวลกับความตึงเครียดระหว่างไทย–กัมพูชา และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน
“แม้เหตุการณ์ระหว่างไทยและกัมพูชาจะน่าเสียใจ แต่ผู้นำอาเซียนส่วนใหญ่ต่างแสดงความห่วงใย และเราก็ไม่ลังเลที่จะติดต่อกับเพื่อนทั้งสองประเทศทันที เพื่อแสดงความเป็นห่วง และสนับสนุนความพยายามในการสร้างสันติภาพระยะยาว”
อ้างอิง : www.khmertimeskh.com