อินเดีย-บังกลาเทศกังวล จีนเริ่มการก่อสร้างเขื่อนใหญ่สุดในโลกที่ทิเบต
สื่อท้องถิ่นของจีนรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เฉียง เป็นประธานในพิธีเริ่มต้นการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำยาร์ลุงซางโป (Yarlung Tsangpo) แม่น้ำที่ยาวที่สุดในเขตปกครองตนเองทิเบตของจีน
โครงการนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจส่งผลกระทบต่อชาวอินเดียและบังกลาเทศหลายล้านคนที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำ รวมถึงสิ่งแวดล้อมโดยรอบและชาวทิเบตในท้องถิ่น
โครงการนี้มีมูลค่าประมาณ 1.2 ล้านล้านหยวน (ราว 5.4 ล้านล้านบาท) โดยทางการจีนยืนยันว่า จะให้ความสำคัญกับการปกป้องระบบนิเวศและส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองในท้องถิ่น
เมื่อโครงการนี้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งรู้จักกันในชื่อสถานีไฟฟ้าพลังน้ำม่อทัว (Motuo) จะกลายเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกแซงหน้าเขื่อนสามโตรก (เขื่อนซานเสียต้าป้า) และอาจผลิตพลังงานได้มากกว่าถึง 3 เท่า
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ได้แสดงความกังวลว่า เขื่อนใหม่นี้จะทำให้จีนมีอำนาจในการควบคุมหรือเปลี่ยนเส้นทางแม่น้ำยาร์ลุงซางโป ซึ่งนอกจากจะเป็นแม่น้ำสายหลักของทิเบตแล้ว ยังไหลลงสู่รัฐอรุณาจัลประเทศกับรัฐอัสสัมของอินเดีย และบังกลาเทศ ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำเซียง พรหมบุตร และแม่น้ำยมุนา
รายงานปี 2020 ที่ตีพิมพ์โดยสถาบันโลวี ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองในออสเตรเลีย ระบุว่า “การควบคุมแม่น้ำเหล่านี้ในที่ราบสูงทิเบต ทำให้จีนมีอำนาจควบคุมเศรษฐกิจของอินเดีย”
ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว PTI เมื่อต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เปมา คันดู มุขมนตรีรัฐอรุณาจัลประเทศ แสดงความกังวลว่า แม่น้ำเซียงและพรหมบุตรอาจ “แห้งเหือดไปอย่างมาก” เมื่อเขื่อนสร้างเสร็จ
เขากล่าวเสริมว่า “เขื่อนจะก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของชนเผ่าและวิถีชีวิตของเรา ซึ่งค่อนข้างร้ายแรง เพราะจีนอาจใช้สิ่งนี้เป็นระเบิดน้ำก็ได้”
คันดูบอกว่า “สมมติว่ามีการสร้างเขื่อนขึ้น แล้วจู่ ๆ พวกเขาก็ปล่อยน้ำออกมา เขตเซียงของเราทั้งหมดก็จะถูกทำลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชนเผ่าอาดีและกลุ่มคนที่คล้ายคลึงกัน จะต้องเผชิญกับความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพย์สิน ที่ดิน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตมนุษย์”
ในเดือน ม.ค. โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินเดียกล่าวว่า พวกเขาได้แสดงความกังวลต่อจีนเกี่ยวกับผลกระทบของเขื่อนขนาดใหญ่ และเรียกร้องให้จีนสร้างความมั่นใจว่าผลประโยชน์ของประเทศที่อยู่ปลายน้ำจะไม่ได้รับผลกระทบ พวกเขายังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการมีความโปร่งใสและการปรึกษาหารือกับประเทศที่อยู่ปลายน้ำ
อินเดียวางแผนที่จะสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำเซียง ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันการปล่อยน้ำอย่างกะทันหันจากเขื่อนของจีน และป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ของพวกเขา
ก่อนหน้านี้ กระทรวงการต่างประเทศจีนได้ตอบกลับอินเดีย โดยระบุในปี 2020 ว่า จีนมีสิทธิอันชอบธรรมในการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ และได้พิจารณาผลกระทบต่อแม่น้ำแล้ว
บังกลาเทศยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับโครงการนี้ต่อจีน โดยเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ส่งจดหมายถึงทางการจีนเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเขื่อนแห่งนี้
ทางการจีนได้เล็งเห็นศักยภาพพลังงานน้ำของเขื่อนในเขตปกครองตนเองทิเบตมาอย่างยาวนาน
เขื่อนแห่งนี้ตั้งอยู่ในหุบเขาขนาดใหญ่ที่ลึกและยาวที่สุดในโลก ริมฝั่งแม่น้ำยาร์ลุงซางโป ซึ่งมีการเลี้ยวกลับอย่างกะทันหันผ่านภูเขานัมชาบาร์วา พื้นที่ช่วงที่มีการเลี้ยวกลับนี้ถูกเรียกว่า “โค้งใหญ่” โดยแม่น้ำได้ลดระดับความสูงลงหลายร้อยเมตร
รายงานก่อนหน้านี้ระบุว่า ทางการวางแผนที่จะเจาะอุโมงค์ยาว 20 กิโลเมตรหลายอุโมงค์ผ่านภูเขานัมชาบาร์วา เพื่อเบี่ยงเส้นทางน้ำบางส่วน
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานของสำนักข่าวซินหัวเกี่ยวกับการเยือนของ หลี่ เฉียง ระบุว่า วิศวกรจะดำเนินการปรับเส้นทางให้ตรงและเบี่ยงน้ำผ่านอุโมงค์เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าแบบลดหลั่น 5 แห่ง
ซินหัวรายงานว่า กระแสไฟฟ้าจากเขื่อนพลังน้ำจะถูกส่งออกไปนอกภูมิภาคเพื่อนำไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ เป็นหลัก ขณะเดียวกันก็รองรับความต้องการของทิเบต
จีนกำลังจับตาดูหุบเขาสูงชันและแม่น้ำสายใหญ่ในเขตชนบทตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งของดินแดนทิเบต เพื่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่และสถานีไฟฟ้าพลังน้ำที่สามารถรองรับความต้องการของมหานครทางตะวันออกของประเทศที่ต้องการพลังงานไฟฟ้า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ผลักดันเรื่องนี้ด้วยตนเองผ่านนโยบายที่เรียกว่า “ซีเตี้ยนตงซ่ง” หรือ “การส่งกระแสไฟฟ้าจากตะวันตกไปทางตะวันออก”
รัฐบาลจีนและสื่อของรัฐได้นำเสนอภาพของเขื่อนเหล่านี้ว่า เป็นทางออกที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ซึ่งช่วยลดมลพิษและผลิตพลังงานสะอาด พร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวทิเบตในชนบท
แต่นักเคลื่อนไหวกล่าวว่า เขื่อนเหล่านี้เป็นตัวอย่างล่าสุดของการที่จีนแสวงหาผลประโยชน์จากชาวทิเบตและที่ดินของพวกเขา และการประท้วงที่ผ่านมาก็ถูกปราบปราม
ปีที่แล้ว รัฐบาลจีนได้จับกุมชาวทิเบตหลายร้อยคนที่ออกมาประท้วงต่อต้านเขื่อนพลังน้ำอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งข้อมูลจากแหล่งข่าวและภาพที่ได้รับการยืนยัน พบว่า จบลงด้วยการจับกุมและทำร้ายร่างกาย มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสหลายราย
นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับน้ำท่วมในหุบเขาทิเบตซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยรอยเลื่อนแผ่นดินไหว
เรียบเรียงจาก BBC
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ระทึก! เครื่องบินโดยสารหักหลบเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ของกองทัพสหรัฐฯ
“ฮุน มาเนต” โพสต์เตือนไทยสั้น ๆ 5 ข้อ ชี้ไทยกล่าวหากัมพูชาโดยไม่มีมูล
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : อินเดีย-บังกลาเทศกังวล จีนเริ่มการก่อสร้างเขื่อนใหญ่สุดในโลกที่ทิเบต
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
- Website : https://www.pptvhd36.com