โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

เปิดสาเหตุ “ผมร่วง-ผมบาง” ทำไมเกิดกับคนวัยทำงาน ก่อนวัยอันควร

ฐานเศรษฐกิจ

อัพเดต 12 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา

พญ.กรผกา ขันติโกสุม แพทย์ผู้ชำนาญการด้านผิวหนัง ศูนย์ผิวหนังและความงาม รพ.วิมุต กล่าวว่า หลายคนอาจเคยรู้สึกถึงการเกิดผมร่วง แค่หวีเบา ๆ หรือสระผมก็หลุดติดมือมาเป็นกำ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนวัยทำงาน โดยเส้นผมจะหลุดร่วงเร็วกว่าปกติ นำไปสู่ “ภาวะผมร่วง” อย่างต่อเนื่อง และหากปล่อยไว้นานเกินไปรากผมอาจเสียหายถาวรและไม่สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ ส่งผลให้ผมน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดจนเป็น “ภาวะผมบาง”

หนึ่งในสาเหตุของปัญหาผมร่วงที่พบได้บ่อยและหลายคนมักมองข้าม คือ ความเครียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนวัยทำงานอายุระหว่าง 25-45 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ชีวิตเต็มไปด้วยแรงกดดันจากงานและหน้าที่รับผิดชอบ ส่งผลให้เกิดภาวะเครียดสะสม ในบางรายที่มีภาวะเครียดเรื้อรังหรือมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย อาจมีพฤติกรรมดึงผมตัวเองแบบไม่รู้ตัว หรือที่เราเรียกว่าโรคดึงผมตัวเอง(Trichotillomania) ซึ่งอาจทำให้ผมบางเร็วขึ้น

นอกจากความเครียดยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ผมร่วงได้ เช่น ภาวะผมบางจากพันธุกรรม (Androgenetic Alopecia) เกิดจากความไวของรากผมต่อฮอร์โมน DHT (Dihydrotestosterone) การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ผู้หญิงหลังคลอด วัยหมดประจำเดือน หรือการใช้ยาคุมกำเนิดและยารักษาสิวส่วนอาหารการกินก็เกี่ยว ถ้ามีการอดอาหาร ขาดธาตุเหล็ก วิตามิน D วิตามิน B12 หรือโปรตีน ก็อาจทำให้ผมอ่อนแอและหลุดร่วงง่าย

“ในบางคนอาจมีพฤติกรรมทำร้ายเส้นผม เช่น นอนในขณะหัวชื้น หวีผมขณะผมเปียก มัดผมตึงเกินไป ใช้สารเคมี ไดร์หรือหนีบผมด้วยความร้อนสูงเป็นประจำ และยังมีโรคบางชนิดที่ทำให้ผมร่วงอย่างโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) และผื่นเซ็บเดิร์ม รวมทั้งผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางประเภท เช่น ยาเคมีบำบัดหรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นเดียวกับมลพิษทางอากาศ การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และการพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็มีผลเสียต่อสุขภาพเส้นผมเช่นกัน”

พญ.กรผกา กล่าวว่า ปกติเส้นผมคนเราร่วงทุกวัน โดยทั่วไปผมของเราจะร่วงประมาณ 100 เส้นต่อวัน หรือมากถึง 200 เส้นในวันที่สระผม แต่ถ้ามีอาการผมร่วงอย่างชัดเจน เช่น ผมติดหวีหรือหมอนเป็นจำนวนมากหรือหล่นบนพื้นห้องน้ำมากผิดปกติ ก็ถือเป็นสัญญาณแรกที่ไม่ควรมองข้าม เบื้องต้นสามารถเช็กความเสี่ยงได้ด้วยการใช้นิ้วมือสางผมเบา ๆ หากมีผมหลุดมากกว่า 2 เส้นหลายครั้ง ควรเข้าไปรับคำปรึกษาจากแพทย์แต่เนิ่น ๆ

ส่วนในกรณีที่มีอาการรุนแรง เช่น ผมร่วงเป็นหย่อม คลำเจอจุดหัวล้านมีอาการคัน แสบ หนังศีรษะแดง มีสะเก็ดหรือหนองร่วมด้วย ผมร่วงรวดเร็วภายใน 2–4 สัปดาห์ มีบริเวณหัวล้านขยายกว้างขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วยเช่น เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด หรือประจำเดือนขาด ก็แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อรักษาทันที

ทั้งนี้ การรักษาปัญหาผมร่วงและผมบางในปัจจุบัน มีทั้งการรักษาด้วยยาและเทคโนโลยีใหม่ที่ให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เบื้องต้นแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยา เช่น Minoxidil ซึ่งช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตบริเวณรากผม ใช้ได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ส่วนอีกตัวคือ Finasteride ซึ่งเป็นยาลดระดับฮอร์โมน DHT ที่นิยมใช้ในผู้ชายเพื่อป้องกันผมร่วงจากพันธุกรรม หรืออาจรักษาด้วยวิธีการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น (PRP) และการฉายแสงสีแดง (Low-level laser therapy) เพื่อกระตุ้นให้รากผมกลับมาแข็งแรงขึ้น“การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมก็มีส่วนช่วยบ้าง แต่ต้องเลือกสินค้าที่มีมาตรฐานความปลอดภัยและสารประกอบสำคัญ

เช่น แชมพูที่มี Ketoconazole ช่วยลดอาการอักเสบและต้าน DHT หรือผลิตภัณฑ์ที่มีปาล์มเลื่อย(Saw Palmetto), ไบโอติน, วิตามิน B และวิตามิน E ซึ่งช่วยบำรุงผมให้แข็งแรง อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ช่วยดูแลผมที่ยังมีอยู่เท่านั้น หากมีปัญหาผมร่วงรุนแรงหรือผมบางก็แนะนำให้ไปรักษากับแพทย์อย่างจริงจังมากกว่า

เพราะหากเส้นผมบางลงจนเห็นได้ชัดและรากผมเสียหายถาวรแพทย์อาจแนะนำให้ปลูกผม โดยเทคโนโลยีที่นิยมในปัจจุบันคือ FUE (Follicular Unit Extraction) ซึ่งใช้เครื่องมือขนาดเล็กย้ายรากผมจากท้ายทอยไปยังจุดที่มีปัญหา วิธีนี้แผลเล็ก ฟื้นตัวไว และดูเป็นธรรมชาติ ส่วนFUT (Follicular Unit Transplantation) แม้ได้รากผมจำนวนมากในครั้งเดียว แต่มีแผลใหญ่และพักฟื้นนานกว่า ปัจจุบันยังมีงานวิจัยด้านสเต็มเซลล์และ 3D Hair Bioprinting ที่หากสำเร็จอาจช่วยสร้างรากผมใหม่ขึ้นมาได้

อย่างไรก็ตาม ภาวะผมร่วง-ผมบาง สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ แต่ต้องเข้าใจอาการที่เกิดขึ้นและเริ่มปรับไลฟ์สไตล์ พักผ่อนให้พอ ออกกำลังกายเน้นกินอาหารที่ช่วยบำรุงเส้นผม เช่น กล้วย ฝรั่ง ไข่แดง และอะโวคาโด รวมถึงผ่อนคลายลดความเครียดให้มาก ๆ ถ้าเกิดเริ่มมีอาการผมร่วงผิดปกติ ให้รีบมาปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะอาจเป็นสัญญาณภาวะผมร่วงผมบาง และโรคอื่น ๆ ได้

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ฐานเศรษฐกิจ

สปสช. ยัน "ตรวจเวชระเบียน" ไม่ใช่จับผิด 3 กองทุนสุขภาพใช้เกณฑ์ สธ.

34 นาทีที่แล้ว

พยากรณ์อากาศภาคเหนือ วันนี้เตือนฝนตกหนักถึงหนักมากภาคเหนือ

36 นาทีที่แล้ว

ตั้งผู้ว่าธปท. วันนี้ "พิชัย" ยันส่งชื่อครม.แล้ว "ภูมิธรรม" รับไม่เห็นวาระ

37 นาทีที่แล้ว

GULF มอบ 1.2 ล้าน ช่วยทหารเหยียบกับระเบิดชายแดนไทย–กัมพูชา

55 นาทีที่แล้ว

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความสุขภาพอื่นๆ

ข่าวและบทความยอดนิยม

Loading...