วิชารัฐมนตรี (3)
เนื้อหาหนังสือ "วิชารัฐมนตรี" ศาสตร์และศิลป์ของ "การนำ" ผ่านมุมมองเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เขียนโดย ดร.ยุวดี คาดการณ์ไกล และณัฐธิดา เย็นบำรุง จัดทำโดยมูลนิธิสถาบันสร้างสรรค์ปัญญาสาธารณะ มีทั้งหมด 6 บท รวม 156 หน้า
บทที่ 3
รัฐมนตรีในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง
"…การคิดแบบยุทธศาสตร์ได้ หัวใจสำคัญคือมุมมองและ Mindset สำหรับการคิดยุทธศาสตร์ของภาครัฐ สิ่งแรกที่จำเป็นคือการเปลี่ยน “Mindset” ของบุคลากรทั้งหมด การเขียนแผนหรือยุทธศาสตร์มากมายโดยที่ยังคงยึดติดกับแนวคิดเดิมๆ นั้น จะไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงได้ ทุกอย่างต้องเริ่มจากความเชื่อที่ว่าสิ่งต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ ประเทศไทยจึงต้องเลิกจมกับความคิดว่า ตนเป็นประเทศด้อยพัฒนา แต่ควรตั้งมั่นในศักยภาพและความสามารถที่จะพัฒนาให้เติบโตได้.."
งานในหน้าที่ของรัฐมนตรี บางคนมองว่าเป็นงานแปลก ไม่มีคำอธิบาย ไม่มีการเปิดรับสมัคร ไม่มีการสัมภาษณ์ ไม่มีหลักสูตรสอน โดยทั่วไปได้รับการคัดเลือกจากพรรคและมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจหลักดังที่กล่าวแล้วในบทข้างต้น
จากประสบการณ์ของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ การทำหน้าที่รัฐมนตรีในช่วงแรก จะเริ่มจากการเป็นนักเรียนก่อน เรียนรู้เรื่องราวทุกอย่างในกระทรวง อว. ให้เร็ว ให้รอบด้าน ปรับตัวให้เร็ว สรุปและถอดบทเรียน ใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ให้กว้างกว่าแค่ประเทศไทย ผสมผสานกับความรู้ทางทฤษฎี ผลักดันนโยบายจำนวนมากเพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด
ตลอดสามปีในฐานะผู้นำของกระทรวง อว. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ มีผลงานการขับเคลื่อนนโยบายและโครงการพัฒนาด้านการอุดมศึกษา วิจัย วิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์จำนวนมากในที่นี้จึงขอสรุปผลงานทางนโยบายที่ได้ดำเนินการออกเป็น 3 ป. ด้วยกัน ได้แก่ 1.ปลดล็อกข้อจำกัด 2.ปฏิรูประบบการวิจัยเพื่อสร้างคุณค่าให้กับประเทศ 3.ปรับวิธีคิดในงานวิจัยแนวหน้าและปรับการทำงานแบบก้าวกระโดด
1.ปลดล็อกข้อจำกัด
หลายเรื่องเพียงปลดล็อกข้อจำกัด ผ่อนปรนกฎเกณฑ์ ก็สามารถแก้ปัญหาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจากเดิมที่เป็นข้อจำกัดในด้านการอุดมศึกษาของไทย ทั้งฝ่ายผู้เรียนและฝ่ายผู้สอนที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงและปั่นป่วนอย่างมาก ด้วยความคิดชี้นำของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่เห็นว่า
“ความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย มหาวิทยาลัยไม่ใช่สถานที่ที่มีคนรู้มากที่สุดอีกต่อไป ความรู้หลายเรื่องอยู่นอกมหาวิทยาลัย หากสถาบันอุดมศึกษามีความต้องการเปิดสาขาวิชาใหม่ อาจต้องการคนอีกประเภทหนึ่งมาสอน แต่กรอบของสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นอยู่นั้น ตั้งอยู่บนฐานคิดที่เป็นข้อจำกัด วิธีคิดที่มักจะมองความเป็นเลิศอยู่ที่เรียนจบอะไรมา ไม่ได้ไปดูว่าเขาเก่งเรื่องอะไรจริงๆ เราต้องเปลี่ยนจากความคิดเดิมที่เอาตำแหน่งดอกเตอร์ เอาตำแหน่งศาสตราจารย์ มาเป็นเครื่องวัด เราต้องไปดูคนที่เก่งจริงๆ แล้วนำมาใช้ ไม่ควรติดกับดักวิธีคิดและกฎระเบียบเดิมต่อไป”
ดังนั้น เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดนี้จึงเกิดเป็น นโยบายแซนด์บ็อกซ์ด้านการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) ขึ้น การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา นับเป็นแนวทางสำคัญที่เปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาก้าวข้ามข้อจำกัดในการจัดการศึกษา สามารถออกแบบและจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่เป็นนวัตกรรมอุดมศึกษาได้ เป็นวิธีที่ต้องก้าวข้ามขีดจำกัดของเกณฑ์มาตรฐานเดิม กล่าวง่ายๆ ว่า หากมหาวิทยาลัยคิดหลักสูตรใหม่ๆ แต่ติดระเบียบต่างๆ ให้สามารถยื่นเรื่องเป็นหลักสูตรทดลอง เพื่อยกเว้นข้อบังคับต่างๆ เพื่อดำเนินการทดลองและปฏิบัติจริงให้เกิดขึ้น จากนโยบายนี้ส่งผลให้มหาวิทยาลัยพัฒนานวัตกรรมแซนด์บ็อกซ์ด้านการอุดมศึกษา มีหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ที่ได้รับการอนุมัติเพิ่มขึ้นถึง 11 หลักสูตรในช่วงเริ่มต้น เช่น หลักสูตรการผลิตบุคลากร High-tech Entrepreneur, หลักสูตรการผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัล, หลักสูตรการผลิตและพัฒนากำลังคนสาขาฉุกเฉินการแพทย์ เป็นต้น
ผู้บริหารมหาวิทยาลัยสะท้อนว่า ผลลัพธ์ของการดำเนินนโยบายแซนด์บ็อกซ์ ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถผลิตหลักสูตรที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบันได้ดี ยกตัวอย่าง
รศ.ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า
“มหาวิทยาลัยพะเยาสามารถปลดล็อกหลักสูตรใหม่ๆ เช่น หลักสูตรระบบราง หลักสูตรเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในยุคใหม่ หลักสูตร General Education การศึกษาทั่วไปที่บูรณาการ 18 คณะ มุ่งสร้างคนให้มีทักษะอนาคตใหม่ การสนับสนุนจากกระทรวง อว. ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาออกแบบหลักสูตรใหม่โดยทำงานร่วมกับภาครัฐและหอการค้าจังหวัดในการผลิตคนให้เหมาะสมกับความต้องการในจังหวัดได้”
รศ.ดร.สมหมาย ผิวสะอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า
“มหาวิทยาลัยราชมงคลหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ก็สามารถผลิตหลักสูตรใหม่ๆ แบบหลักสูตรพรีเมียมที่ตอบโจทย์การผลิตทักษะของคนรุ่นใหม่กว่า 26 หลักสูตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Sandbox ด้วย จากการสนับสนุนกันและกัน ทำให้หลักสูตรรุดหน้าเร็วยิ่งขึ้น”
การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในมหาวิทยาลัยอีกต่อไป นักศึกษาบางคนอาจเรียนไปสองปีแล้วพบว่าความรู้และประสบการณ์ที่ต้องการอยู่ในภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมมากกว่า พวกเขาอาจตัดสินใจออกไปทำงานก่อน และเมื่อล่วงเลยไปหกปี อาจตระหนักได้ว่าหากกลับมาเรียนเพิ่มเติมอีกหนึ่งถึงสองปี ก็จะสามารถสำเร็จการศึกษาได้ เอนก เหล่าธรรมทัศน์มองว่าการเรียนในลักษณะดังกล่าวนี้จะทำให้การเรียนเป็นแบบผู้ใหญ่มากขึ้น และสอดคล้องกับโลกที่เป็นจริงมากขึ้น เปิดโอกาสให้นักศึกษาไปเรียนจากภาคปฏิบัติได้ ดังนั้น การผ่อนปรนกฎเกณฑ์โดยยกเลิกกรอบเวลาการศึกษา หรือกฎการรีไทร์ (Retire) มีข้อดีจะทำให้นักศึกษาสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้หลากหลาย เปิดกว้างทางการเรียนรู้ และสามารถค้นหาตัวเองได้มากขึ้น เช่น การเรียนหลักสูตรอื่นๆ เพิ่มเติมจากหลักสูตรหลักที่กำลังศึกษา การทำวิจัยหรือขอทุนวิจัยไปทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น ประการสำคัญ จะช่วยลดข้อจำกัดด้านเวลาของการเรียนอีกด้วย โดยเฉพาะข้อจำกัดของการเรียนไม่จบเพราะเรียนเกินเวลาที่กำหนดเอาไว้ ด้วยเหตุผลนี้ กระทรวง อว. จึงยกเลิกกฎการรีไทร์
เพื่อการดำเนินการให้สอดคล้องเป็นระบบ ในการปฏิรูปอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนากำลังคนตลอดทุกช่วงวัย (Lifelong Learning) โดยเฉพาะในวัยทำงานและวัยเกษียณให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงได้พัฒนาและเรียนรู้ทักษะใหม่ที่จำเป็นในโลกยุคปัจจุบันให้สามารถนำไปต่อยอดในการทำงานพัฒนาตนเอง ตลอดจนสามารถสะสมไว้เพื่อการศึกษาต่อในระดับต่างๆ ได้ ตามแนวคิดข้างต้นนี้ถ้าทำได้สำเร็จ ผู้เรียนที่อยู่มหาวิทยาลัยหนึ่งอยากจะไปเรียนข้ามอีกมหาวิทยาลัยหนึ่งก็ทำได้แล้ว ผู้ผลิตหลักสูตรที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยก็เข้าร่วมโครงการนี้ได้ แต่การดำเนินการต้องมีมาตรฐาน ก็สามารถเข้ามาร่วมได้ และนำเข้ามาอยู่ในคลังหลักสูตรนี้ได้ จึงกำหนดนโยบายการจัดตั้งธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) ซึ่งธนาคารหน่วยกิตนี้ทำหน้าที่ในการรับฝากหน่วยกิตของผู้เรียน ไม่ว่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยหรือผู้ที่สนใจสามารถเรียนในหลักสูตรต่างๆ ได้ มีทั้งหลักสูตรประกาศนียบัตรและหลักสูตรการฝึกอบรมทั่วไป ก็สามารถให้นำหน่วยกิตมาเก็บสะสมไว้ในธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติได้
นอกจากนี้ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ยังชี้นำให้เห็นถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยของไทย เพื่อสร้างความเป็นเลิศตามความเชี่ยวชาญของสถาบันอุดมศึกษา และพัฒนากำลังคนให้มีทักษะสอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศ ควบคู่กับการกำกับดูแลและการพัฒนานวัตกรรม โดยเห็นว่า
“เวลานี้เรามองมหาวิทยาลัยมีประเภทเดียว จึงใช้วิธีการวัดผลเหมือนกัน ทั้งที่ความเป็นเลิศไม่เหมือนกัน ความเป็นเลิศนั้นเป็นพหูพจน์ ไม่ใช่เป็นเอกพจน์ ไม่ใช่วัดด้วยการตีพิมพ์ (Publication) อย่างเดียว ควรจะมีการวัดผลงานในภาคปฏิบัติด้วย การจัดประเภทด้านความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องนำมาเปรียบเทียบข้ามประเภท แต่ควรให้เปรียบเทียบกันภายในประเภทของตนเอง และผลงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัยก็จะเป็นไปตามประเภทของมหาวิทยาลัยที่สังกัด อาทิ ผลงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏก็จะต้องมุ่งทำการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาชุมชน พัฒนาสังคมให้ดีที่สุด ไม่ใช่เป็นการวิจัยแนวหน้า ไม่ใช่เป็นนวัตกรรมแนวหน้า เพราะผลงานนั้นเป็นผลงานของมหาวิทยาลัยอีกประเภทหนึ่ง ดังนั้น ความเป็นเลิศต้องไม่ใช่เอกภาพ (Uniformity) แต่ต้องเป็นความหลากหลาย (Diversity)” แนวคิดนี้จึงนำไปสู่ นโยบายการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยตามความเป็นเลิศและความโดดเด่นเฉพาะทาง รวมทั้งจุดมุ่งหมาย พันธกิจ ยุทธศาสตร์ ศักยภาพและผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 กลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัยและนวัตกรรมแนวหน้า
กลุ่มที่ 2 กลุ่มมหาวิทยาลัยเน้นการพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่น
กลุ่มที่ 3 กลุ่มมหาวิทยาลัยเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม
กลุ่มที่ 4 กลุ่มมหาวิทยาลัยเน้นพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา
กลุ่มที่ 5 กลุ่มมหาวิทยาลัยเน้นผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ
การจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยตามความโดดเด่นของแต่ละแห่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้มหาวิทยาลัยเข้าใจบทบาทและเป้าหมายของตนเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถกำหนดตำแหน่ง (Positioning) ของตนเองได้อย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งเลือกอยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม
รศ.ดร.สมหมาย ผิวสะอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า
“มหาวิทยาลัยฯ เห็นตัวตนของตนเองชัดเจน ตรงกับอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยฯ ตามพื้นฐานมหาวิทยาลัยฯ กำหนดเป้าหมายของตัวเองชัดเจนมากขึ้น วางยุทธศาสตร์ วางนโยบายดีขึ้น และทำให้ได้รับงบประมาณมากขึ้นจากกระทรวง อว. และแหล่งทุนอื่นๆ เพราะเกิดจากการรู้จุดแข็งตัวเอง มีโครงการเสนอกระทรวง อว.มากขึ้น เพราะสอดคล้องกับความต้องการประเทศ”
เมื่อปลดล็อกด้านการจัดประเภทความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ต้องคำนึงถึงปัญหาในปัจจุบัน ที่วงวิชาการกำลังเผชิญกับเรื่องการทุจริตปลอมแปลงผลงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานที่ตีพิมพ์ในต่างประเทศ สาเหตุหนึ่งอาจมาจากการให้คุณค่าสูงกับการได้ตีพิมพ์ในต่างประเทศ ทำให้คนหัวใสเอาการตีพิมพ์มาทำเป็นธุรกิจสีเทา ด้วยเหตุนี้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว เอนก เหล่าธรรมทัศน์จึงมีแนวคิดชี้นำด้วยการผ่อนปรนกฎเกณฑ์แต่ยังคงมาตรฐานไว้ว่า การจะขึ้นสู่ตำแหน่งวิชาการควรมีหนทางที่แตกต่างหลากหลาย จึงกำหนดนโยบายการขอตำแหน่งวิชาการขึ้นใหม่ ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับผลงานตีพิมพ์ เช่น ตำรา งานวิจัย อย่างเดียวอีกต่อไป แต่ควรจะนำผลงานในภาคปฏิบัติมาประกอบการขอตำแหน่งวิชาการได้ เช่น ผลงานที่ทำให้แก่พื้นที่หรือชุมชน ผลงานศิลปะ ผลงานจากงานสร้างสรรค์ เป็นต้น ส่งผลให้กระทรวง อว. จัดตั้งอนุกรรมการ ก.พ.อ. พิจารณาตำแหน่งทางวิชาการเพิ่มขึ้นอีก 5 ชุด จากเดิมมีเพียง 1 ชุด รวมแล้วมี 6 ชุด ได้แก่ การพิจารณาตำแหน่งวิชาการ
ชุดที่ 1 ด้านงานวิจัยและตำรา
ชุดที่ 2 ด้านการรับใช้ท้องถิ่นและสังคม
ชุดที่ 3 ด้านสุนทรียะและศิลปะ
ชุดที่ 4 ด้านการสอน
ชุดที่ 5 ด้านนวัตกรรม
ชุดที่ 6 ด้านศาสนา
โดยมีประธานอนุกรรมการ ก.พ.อ. และอนุกรรมการ ก.พ.อ. 6 ชุดแยกกันไป สำหรับ 5 ชุดใหม่ (ชุดที่ 2-6) ที่ตั้งขึ้นนั้น ประธานและอนุกรรมการไม่จำเป็นจะต้องเป็นศาสตราจารย์ แต่จะต้องเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในด้านนั้นๆ
2.ปฏิรูประบบการวิจัยเพื่อสร้างคุณค่าให้กับประเทศ
กระทรวง อว. แต่เดิมนั้นมาจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมารวมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา รวมทั้งหน่วยงานหรือสำนักวิจัยที่อยู่ในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ประมาณ 10 กว่าสถาบัน ซึ่งล้วนเป็นสำนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้เอง หลายฝ่ายเห็นว่ายังขาดความสมดุลระหว่างการวิจัยวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ ด้วยแนวคิดชี้นำของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่มองว่า
ปัจจุบันกระทรวง อว.เป็นกระทรวงที่เดิน 2 ขา จะมีแต่ขาด้านวิทยาศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีขาด้านสังคมศาสตร์ด้วย เนื่องจากสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ เป็นทั้งองค์รวมและเป็นทั้งหัวหอกที่มีความสำคัญและเร่งด่วน จึงนำมาสู่การปฏิรูประบบวิจัยด้านสังคมศาสตร์ โดยจัดตั้งธัชชา (TASSHA) ซึ่งเป็นชื่อย่อของ วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts: TASSHA) เพื่อมุ่งผลักดันภารกิจสำคัญ 5 ด้านผ่าน 5 สถาบัน ได้แก่
1.สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา
2.สถาบันโลกคดีศึกษา
3.สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง
4.สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ
5.สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น
ทั้งนี้ เชื่อว่าธัชชาจะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการปฏิรูป กระทรวง อว.ที่มีพลังอย่างยิ่ง ในการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาบุคลากรด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ ไปสู่การสร้างคุณค่าและผลประโยชน์ของชาติ ผ่านการเชื่อมโยงประเทศไทยเข้ากับภูมิภาคและโลก ซึ่งจะช่วยปิดช่องว่างระบบการวิจัยสาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้แบบสหวิทยาการ อันจะนำมาสู่การแก้ปัญหาแบบองค์รวม และชี้ให้เห็นว่าการทำเรื่องนี้ก็เหมือนกับการลงทุนครั้งใหญ่ของชาติอีกครั้งหนึ่ง คล้ายกับที่ไทยเคยลงทุนด้านเศรษฐกิจ เคยลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่ว่าคราวนี้เราจะลงทุนทางวัฒนธรรมด้วย
ในบรรดา 5 สถาบันด้านสังคมศาสตร์ ภายใต้ธัชชา เอนก เหล่าธรรมทัศน์ให้ความสำคัญและน้ำหนักที่สถาบันสุวรรณภูมิมากที่สุด เขาได้หยิบประเด็น “ประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ” ขึ้นมาผลักดันในทางนโยบายและสนับสนุนในการปฏิบัติ เพราะเรื่อง “สุวรรณภูมิ” คือ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับรากฐานทางประวัติศาสตร์ของไทย โดยมุ่งที่จะขยายขอบเขตการรับรู้ของคนไทยและประชาคมโลกว่าดินแดนไทยไม่ได้มีอายุเพียง 700 ปีตามแบบเรียนทั่วไป แต่สามารถสืบสาวย้อนกลับไปได้ถึง 2,500–3,000 ปี เพื่อสร้างคุณค่าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของประเทศไทยให้ลึกซึ้งมากขึ้นด้วย
ในด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดตั้งหลายหน่วยงานด้วยกัน เขาชี้ให้เห็นว่า เพื่อให้วิทยาศาสตร์และวิทยาการของไทยทำงานร่วมกัน นักวิทยาศาสตร์ไม่ควรทำงานเพียงแค่เฉพาะทาง หากประเทศมีปัญหาที่ต้องการคำตอบ หน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ทั้งหลายต้องมีคำตอบ และควรเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจแก้ปัญหานั้นด้วย สามารถพัฒนาเรื่องที่น่าสนใจให้มีความก้าวหน้าระดับโลก สร้างคนที่เหมาะสม พร้อมทำงานให้รองรับอุตสาหกรรม และสอดคล้องกับทิศทางของโลก ซึ่งต้องทำให้เร็ว ทำให้มาก จึงจะประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุนี้ จึงนำมาสู่ การปฏิรูประบบงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ ให้มีกลไกที่ทำหน้าที่เป็น Think Tank ของประเทศ และเป็น Brain trust ของรัฐบาลได้ บริหารจัดการในรูป Virtual Organization โดยไม่จำเป็นต้องสร้างหน่วยงานใหม่ แต่จะนำคนเก่งจากหลายสถาบันมารวมกัน บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมสรรพกำลังและทรัพยากรให้มาทำงานร่วมกัน จึงเกิดเป็น “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences : TAS) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง (Hub) เชื่อมโยงเครือข่ายนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัยมาทำงานร่วมกัน รวมทั้งการใช้ประโยชน์ร่วมกันจากโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่ โดยเน้นงานในด้านการพัฒนาความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งที่เป็นสาขายุทธศาสตร์และสาขาที่จำเป็นต่ออนาคต ในด้านการพัฒนากำลังคนในรูปแบบใหม่ ขับเคลื่อนและชี้แนะนโยบายต่อรัฐบาล
ตัวอย่างการขับเคลื่อนด้านวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่น เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ ประกาศนโยบายส่งยานอวกาศของไทยไปโคจรรอบดวงจันทร์ภายใน 7 ปี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวเข้าสู่ยุควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง โดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศได้ด้วยตนเอง และเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) ของสังคมไทยที่เคยมองว่าเทคโนโลยีชั้นสูงเป็นสิ่งที่ต้องพึ่งพาต่างประเทศเท่านั้น
แนวทางการดำเนินงานโครงการนี้ อาศัยการรวมตัวกันของหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ ภายใต้กลุ่มความร่วมมือ (Consortium) ที่ทำงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ โดยตั้งเป้าหมายว่าสามารถสร้างยานอวกาศและระบบควบคุมระยะไกลที่สามารถบังคับยานจากระยะทางเกือบ 400,000 กิโลเมตรได้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อนและสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนานวัตกรรมอื่นๆ ได้อีกมากมาย
นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศแล้ว ยังช่วยสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม กระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่นว่าไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัยได้เอง ซึ่งจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงในประเทศ นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจอวกาศ (Space Economy) ที่มีศักยภาพสูงในการสร้างมูลค่าเพิ่ม อันเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-Based Economy) ของไทย
นอกจากนี้ สิ่งที่เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในฐานะผู้นำมองเห็นและหลายคนมองข้าม โดยชี้นำให้เห็นคุณค่าการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งจะเป็นทั้งคำตอบและโอกาสในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศได้ ความคิดนี้เป็นแรงดลใจที่เขาได้เรียนรู้จากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงตรัสว่า “หากจะทำอะไร จะต้องรู้จักพื้นที่ ต้องรู้จักภูมิวัฒนธรรม ภูมิสังคม ภูมิศาสตร์ รวมถึงความเฉพาะของพื้นที่นั้นๆ” ดังนั้น การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านความรู้ระดับพื้นที่ เป็นการสร้างให้เกิดชุดความรู้ระดับท้องถิ่น ระดับชุมชนของไทย ให้สามารถส่งออกสู่ระดับสากล และผลักดันเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายของประเทศได้ แม้เป็นเรื่องที่ทำยากแต่ทำได้ จึงนำมาสู่การปฏิรูประบบงานวิจัยเชิงพื้นที่ เกิดเป็น “ธัชภูมิ” วิทยสถานเพื่อการพัฒนาพื้นที่ (Thailand Academy for Area Collaboration, Innovation and Transformation : TACIT) ขึ้น เป็นกลไกกลางที่เน้นการทำงานด้านการพัฒนานักวิจัยเชิงพื้นที่ พัฒนาระบบจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ สร้างเครือข่ายวิชาการระหว่างศาสตร์ ระหว่างสถาบัน และระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านความรู้ระดับพื้นที่
3.ปรับวิธีคิดในงานวิจัยแนวหน้าและปรับการทำงานแบบก้าวกระโดด
วิทยาศาสตร์ไทยไม่แพ้ใคร เอนก เหล่าธรรมทัศน์ให้ความเชื่อมั่นว่า “วิทยาศาสตร์ของไทยดีที่สุดในอาเซียน เหนือกว่ามาเลเซีย เหนือกว่าอินโดนีเซีย เหนือกว่าเวียดนามมาก ถ้าไปดูด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเวียดนาม ยังตามหลังไทยมาก ไทยนำฟิลิปปินส์ จะแพ้ก็เพียงสิงคโปร์ แต่ก็ไม่ใช่แพ้ทุกด้าน เป็นรองแค่บางเรื่อง ไม่ใช่ทุกๆ เรื่อง เช่น เรื่องดาราศาสตร์ อวกาศ ไทยมีความรู้ความสามารถทำอะไรเองได้ ไทยเป็นที่หนึ่ง เหนือกว่าสิงคโปร์ เราต้องคิดอะไรแบบนี้ไว้เสมอ ต้องมี Mindset แบบนี้ เพราะเป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่า Mindset ด้อยค่าตัวเอง”
- เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน (Synchrotron) ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน : การพัฒนาใช้เทคโนโลยีสัญชาติไทย
เอนก เหล่าธรรมทัศน์ชี้ว่า ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในอาเซียนที่มีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ซึ่งได้มาจากญี่ปุ่น ถอดชิ้นส่วนมาจากญี่ปุ่นแล้วเอามาประกอบและคิดดัดแปลงให้ดีขึ้น “เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน” นี้อยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ ได้รับการยอมรับจากประเทศที่พัฒนาแล้วว่าเป็นเครื่องมือที่มีพลานุภาพ และเป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่สามารถสร้างคุณประโยชน์มากมายมหาศาลต่องานวิจัยทางด้านการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรมและด้านอื่นๆ ที่จะพัฒนาต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมมูลค่าสูง ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งทุนมนุษย์ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ยังเล่าว่า “มีคนบอกผม ถ้าอยากรู้ว่าประเทศไหนเป็นชาติที่มีความศิวิไลซ์ให้ดูสองเรื่อง คือ เรื่องการวิจัยด้านอวกาศกับการวิจัยที่ใช้แสงซินโครตรอน ซึ่งบังเอิญเหลือเกินที่นโยบายกระทรวง อว. เน้นทำทั้งสองเรื่อง ตอนนี้ประเทศไทยมีเครื่องซินโครตรอนแล้วที่โคราช และกำลังจะสร้างเองอีก 1 เครื่อง” ขณะนี้ไทยกำลังจะมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องที่ 2 ซึ่งเน้นให้ทำได้เองไม่ต่ำกว่า 50% และถ้ามีเครื่องที่ 3 ในฐานะรัฐมนตรี อว. จึงย้ำว่า ควรมุ่งเน้นทำเองให้ได้ 90% ด้วยแนวคิดการพัฒนาเทคโนโลยีสัญชาติไทยตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบการก่อสร้าง การผลิตชิ้นส่วน การพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบต่างๆ เช่น อุปกรณ์ระบบสุญญากาศ ระบบแม่เหล็ก ระบบปรับแต่งพิกัดเชิงกลความแม่นยำสูง ระบบควบคุม เป็นต้น เพื่อใช้กับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนรุ่นใหม่นี้ ในอนาคตที่จะพัฒนาต่อยอดไปสู่ระดับการผลิตจำนวนมาก (Mass Production) ร่วมกับภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งมีเป้าหมายที่จะผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ในประเทศไทยให้ได้มากกว่าร้อยละ 50 เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และทำให้อุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทยนั้นนำมาใช้งานกับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV ได้
- เครื่องโทคาแมค (Tokamak) ของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ : การวิจัยพลังงานบริสุทธิ์
เนื่องจากแหล่งพลังงานฟอสซิลที่ใช้เป็นแหล่งพลังงานหลักในปัจจุบันกำลังจะหมดไป และการใช้พลังงานจากฟอสซิลยังส่งผลให้เกิดวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมจากการเผาผลาญเชื้อเพลิง ทั่วโลกจึงหันมาให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตพลังงานสะอาดเพื่อความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืน ไทยเองก็มีแผนจะทดลองสร้างปฏิกิริยาฟิวชั่นด้วยเครื่องโทคาแมคที่ได้รับมาจากต่างประเทศ เป็นเครื่องโทคาแมคที่ไทยพัฒนาร่วมกับสถาบันพลาสมาฟิสิกส์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีชื่อว่า Thai Tokamak-1 หรือ 1T-1 และมีการนำมาต่อเติมปรับแต่งเพื่อการทดลองและวิจัยปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่นและต่อยอดให้เป็นพลังงานที่นำมาใช้ได้ จนเป็นพลังงานสะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีกัมมันตรังสี และสามารถใช้ได้นานแสนนาน ในฐานะผู้นำของกระทรวง อว. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ตอกย้ำว่า เราไม่ใช่ทำการทดลองเพื่อทดลอง เราไม่ใช่ทดลองเพื่อสนุกหรือทดลองเพื่อจะผลาญเงิน แต่ทดลองเพื่อจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการได้มาซึ่งพลังงานที่สะอาดและไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่อง Carbon footprint อันเป็นหมุดหมายสำคัญของการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศไทยเป็น 1 ใน 20 ประเทศที่เป็นสมาชิกของการทดลองปฏิกิริยาฟิวชั่นด้วยเครื่องโทคาแมค และเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศที่ทดลองก่อนที่จะแปรเปลี่ยนฟิวชั่นให้เป็นพลังงานที่ใช้การได้จริงภายใน 20 ปีข้างหน้า
- ปรับมุมมองและวิธีทำงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชน
ในอดีตที่ผ่านมาการให้เงินวิจัยภาคเอกชนทำได้ยากมาก แต่ในปัจจุบันไทยได้ตระหนักแล้วว่า เงินที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของประเทศมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 20 ที่เป็นของภาครัฐ อีกร้อยละ 80 เป็นของภาคเอกชน เอนก เหล่าธรรมทัศน์จึงมีแนวคิดออกแบบวิธีการใช้เงินวิจัยและพัฒนาของภาครัฐ ซึ่งมีเพียงร้อยละ 20 ของทั้งหมดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ด้วยการไปเชื้อเชิญให้ภาคเอกชนนำเงินมาทำการวิจัยตามที่กระทรวง อว. ชี้เป้า วิจัยเป็นเรื่องที่กระทรวง อว. มีความโดดเด่น จึงร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจัดตั้งกองทุนขึ้นมากองทุนหนึ่ง สำหรับที่จะไปช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสภาอุตสาหกรรม แต่เป็นส่วนที่ขาดการวิจัย ขาดนวัตกรรม คณะผู้นำในสภาอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะมาจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ได้เล็งเห็นแล้วว่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะอยู่ได้ ก็ต้องมีอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดย่อมมาช่วยสนับสนุน และยิ่งไปกว่านั้น การที่อุตสาหกรรมจะสามารถอยู่อย่างยั่งยืนได้ ก็จะต้องมีงานวิจัยนวัตกรรมเป็นตัวเสริม ขณะนี้กระทรวง อว. ได้ปรับการทำงานเพื่อสามารถให้ทุนแก่ภาคเอกชนในการทำวิจัยและทำงานร่วมกับภาคเอกชนได้ ด้วยการร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจัดตั้ง “กองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม” เพื่อสนับสนุนงานวิจัยให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การสนับสนุนงบประมาณในกองทุนนี้ดำเนินการในลักษณะ matching fund โดยกระทรวง อว. จะใช้เงินจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) ลงเงิน 1,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี และสภาอุตสาหกรรมจะลงเงินอีก 1,000 ล้านบาท รวมเป็น 2,000 ล้านบาท สิ่งสำคัญจากการตั้งกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมนี้ คือการปฏิรูปการวิจัยโดยที่มีภาคเอกชนเป็นพันธมิตรกับกระทรวง อว.
บทเรียน : รัฐมนตรีคือคน “นำ” ไม่ใช่เป็นเพียงคนบริหาร
จากผลงานการปลดล็อกข้อจำกัดทางการศึกษาและการวิจัย ผลักดันให้มหาวิทยาลัยไทยก้าวข้ามกรอบเดิมๆ เปิดโอกาสให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างยืดหยุ่น ในด้านการวิจัย เอนก เหล่าธรรมทัศน์ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยจัดตั้งหน่วยงานใหม่ เช่น ธัชชา ธัชวิทย์ และธัชภูมิ เพื่อยกระดับงานวิจัยของประเทศให้สามารถตอบโจทย์ยุคสมัย ผสมกับแนวคิดเชื่อมโยงอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน โดยให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและประวัติศาสตร์ นำความรู้เหล่านี้มาต่อยอดให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและเกิดประโยชน์ต่อสังคม
ผลงานที่เกิดขึ้นของกระทรวง อว. ในระหว่างการนำของรัฐมนตรีเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นั้น สะท้อนให้เห็นว่า บทบาทของรัฐมนตรีไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการบริหารงานภายใต้โครงสร้างของระบบราชการ แต่ต้องเป็น “ผู้นำ” ที่สามารถกำหนดทิศทาง ผลักดันนโยบาย และขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม
ผู้นำในที่นี้มีได้หลายระดับ ทุกคนสามารถเป็นผู้นำได้ ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงผู้ที่มีวิสัยทัศน์เท่านั้น ยังต้องมีโลกทัศน์ด้วย มีความสามารถในการกำหนดทิศทางได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าผู้นั้นเป็นผู้นำระดับไหน เขาจะต้องเห็นภาพใหญ่กว่าจุดที่ตัวเองดูแลอยู่ ต้องมองให้กว้างออกไป ให้เห็นความเชื่อมโยง และเห็นตัวเองว่าอยู่ในจุดไหนของภาพใหญ่ทั้งหมด เพื่อให้การขับเคลื่อนงานไปสู่ทิศทางที่กำหนดได้
ดังนั้น ผู้นำแบบรัฐมนตรีไม่ใช่เพียงผู้สั่งการหรือจัดสรรงบประมาณ แต่ต้องเป็นผู้ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจและกำหนดเป้าหมายระยะยาวให้กับประเทศ ผู้นำต้องมองเห็นโอกาสท่ามกลางข้อจำกัด และกล้าทำในสิ่งที่แตกต่างจากกรอบเดิม เอนก เหล่าธรรมทัศน์ไม่ได้มองว่าตนเป็นเพียงผู้บริหารกระทรวง แต่เป็นผู้นำที่ต้อง “คิด” ออกแบบนโยบาย และติดตามผลลัพธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่เริ่มต้นนั้นนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แท้จริง เขาเชื่อว่าหน้าที่ของรัฐมนตรีไม่ใช่การ “ทำงาน” แทนข้าราชการ นักวิจัย หรือนักวิทยาศาสตร์ แต่เป็นการ “นำ” ด้วยวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ให้ทิศทางและผลักดันการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เพียงกำหนดนโยบายแล้วปล่อยให้เป็นหน้าที่ของระบบราชการดำเนินไปเอง
กล่าวโดยสรุป การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดจากการมีหน้าที่ “นำ” ไม่ใช่สั่งการในที่ประชุม ซึ่งคล้ายกับที่อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลี เซียนลุง เคยกล่าวไว้ว่า Minister is executive, is not presiding. นั่นหมายถึง รัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจในการนำและผลักดันนโยบายนั้นให้มีการดำเนินงานไปสู่ผลลัพธ์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่ผู้ทำหน้าที่ประธานการประชุมเท่านั้น.
(อ่านต่อวันพฤหัสฯ หน้า)