‘นักวิชาการ’ ถอดบทเรียนสงครามภาษี ‘อาเซียน’ ไม่มีทางเลือก ต้องรวมพลังกันให้เป็นปึกแผ่น
23 ก.ค.2568- นายกมล กมลตระกูล นักวิชาการอิสระ เผยแพร่บทความ เรื่อง อาเซียนผนึกกำลังสู้สงครามภาษี มีเนื้อหาดังนี้
อาเซียนได้บทเรียนมาแล้วว่าการรวมกลุ่มเจรจามีประสิทธิภาพมากกว่า ในขณะที่เส้นตายของมาตรการภาษีตอบโต้ (reciprocal tariff) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้กับประเทศทั่วโลกกำลังใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว และสร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก กลุ่มประเทศอาเซียนกำลังหาทางลดผลกระทบด้วยการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อขยายคู่ค้าไปนอกตลาดสหรัฐฯ แม้ว่าบางประเทศ เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย จะเจรจาต่อรองโดยตรงกับสหรัฐฯ สำเร็จแล้ว แต่มีนักวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ว่ายังมีความกังขากับผลกระทบด้านลบในระยะยาว
การประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Foreign and Economic Ministers' Meeting) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถือเป็นความริเริ่มเพื่อหาทางรับมือกับปรากฏการณ์เศรษฐกิจและการเมืองโลกที่เปราะบางและไม่แน่นอนยิ่งขึ้น
ปัจจุบันอาเซียนประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิก โดยคาดว่าประเทศติมอร์-เลสเตจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกอันดับที่ 11 อย่างเป็นทางการในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งถัดไปในเดือนตุลาคม 2568 ด้วยประชากรรวมประมาณ 700 ล้านคน อาเซียนเป็นกลุ่มเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 5 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมกันสูงถึง 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใหญ่เกินกว่าที่จะถูกมองข้าม
แม้คำขู่ขึ้นภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์จะสร้างระลอกคลื่นแห่งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในอาเซียน แต่ก็กระตุ้นให้อาเซียนหันมาสนใจพันธมิตรทางการค้ารายอื่นๆมากขึ้น
การประกาศขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงอาเซียนด้วย มาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ เผชิญภาษี 25% เริ่มในวันที่ 1 ส.ค. นี้ ขณะที่ลาวและเมียนมาร์เผชิญภาษี 40% กัมพูชาและไทย 36% อินโดนีเซีย 19% เวียดนาม 20% (และ 40% สำหรับสินค้าสวมสิทธิ์) ส่วนฟิลิปปินส์และบรูไน เผชิญภาษี 20% และ 25% ตามลำดับ
ยูซุฟ เรนดี มานิเลท นักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์วิจัย Center of Reform on Economics (CORE) กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นเอว่า "ทันทีทันใด ทุกประเทศต่างหันไปกระจายตลาดและมองหาพันธมิตรทางการค้าที่น่าเชื่อถือ คงเส้นคงวามากขึ้น" พร้อมเสริมว่า "การตัดสินใจขึ้นภาษีของทรัมป์จนถึงตอนนี้เป็นไปอย่างอิงกับอัตวิสัยและพลการฝ่ายเดียว (subjective and arbitrary) นโยบายของทรัมป์คาดเดาได้ยากและไม่มีพื้นฐานที่ชัดเจน เขากำลังใช้ภาษีสูงๆ เล่นงานแม้แต่กับพันธมิตรของตนเอง"
อย่างไรก็ดี ขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเร่งหาตลาดใหม่ บางประเทศอาจจะยอมลดภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ ที่มีมานานให้เหลือศูนย์ รวมถึงยกเลิกอุปสรรคมาตรการกีดกันทางการค้าและลดทอนมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมสำคัญของชาติ เพื่อแลกกับการทำข้อตกลงกับทรัมป์อย่างรวดเร็วเพื่อลดผลกระทบ ที่จะสร้างปัญหาอื่นๆตามมา
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์บางส่วนยังเตือนว่าการเจรจาที่รีบเร่งเช่นนี้อาจนำไปสู่การขาดดุลการค้า การเสียเปรียบ และความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเตือนว่าประเทศต่างๆ อาจต้องเสียสละผลประโยชน์ภายในประเทศของตนเพื่อสร้างอำนาจต่อรองร่วมกัน
ผู้เชี่ยวชาญระบุ ว่าปัจจุบันกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตระหนักดีว่า ในความเป็นจริง เศรษฐกิจและการเมืองแยกออกจากกันไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจากสภาพภูมิรัฐศาสตร์โลกในปัจจุบันเรียกร้องให้ภูมิภาคนี้มีนโยบายรับมือที่ยั่งยืนกว่า ตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา ผู้นำรัฐบาลอาเซียนตระหนักถึงความสำคัญของการประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีเพื่อเพิ่มการประสานงาน การประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมานี้ นับเป็นการประชุมที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยนักวิเคราะห์เรียกการฟื้นฟูการประชุมนี้ว่าเป็น "การเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ" (dramatic shift) ในเชิงยุทธศาสตร์ของกลุ่มเพื่อตอบรับ "ภูมิทัศน์โลกที่ผันผวนรุนแรงขึ้น"
นายโมฮามัด ฮาซัน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวหลังการประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนด้วยกันว่า "อาเซียนจะมุ่งพัฒนาการตอบสนองระดับภูมิภาคที่ประสานงานกันมากขึ้น เพื่อรับมือกับพายุทางเศรษฐกิจและความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น"
การประชุมที่ฟื้นคืนชีพขึ้นมานี้ถูกอธิบายว่าเป็นก้าวสู่การปฏิบัติจริงเชิงยุทธศาสตร์ (strategic pragmatism) สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวของอาเซียนที่เพิ่มขึ้นว่าการตัดสินใจทางเศรษฐกิจไม่อาจแยกออกจากความเป็นจริงทางการเมืองหรือการทำงานแบบแยกส่วนได้อีกต่อไป
"การประชุมร่วมของรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนไม่ใช่แค่สัญลักษณ์ แต่สะท้อนถึงการเคลื่อนไหวอย่างมีสำนึกไปสู่การบูรณาการนโยบายเพื่อตอบรับภูมิทัศน์โลกที่ผันผวนรุนแรงขึ้น" ดร.คู หยิง ฮุย จากภาควิชาการระหว่างประเทศและการศึกษายุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมาลายา กล่าว
ดร.คู ยังเสริมว่าแรงกระแทกจากภายนอก เช่น การขึ้นภาษีการค้าที่ทวีความรุนแรง ความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทาน และการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ที่เข้มข้นระหว่างมหาอำนาจ กำลังบีบบังคับให้อาเซียนต้องแสดงออกถึงความสอดคล้องและความคล่องตัวที่มากขึ้น แม้จะเห็นความจำเป็นชัดเจนในการดำเนินการแบบบูรณาการ แต่ความท้าทายใหญ่หลวงยังคงรออยู่ในการปฏิบัติตามข้อตัดสินใจจากการประชุมร่วมครั้งนี้
ดร.คู ชี้ไปที่รูปแบบการตัดสินใจของอาเซียนที่เน้นฉันทามติ (consensus-based) ผลประโยชน์แห่งชาติที่แตกต่างกัน และการขาดกลไกเชิงสถาบันที่แข็งแกร่งสำหรับการบังคับใช้และติดตามผล ว่า "การบรรจบกันของบทสนทนาด้านเศรษฐกิจและการเมืองเพิ่มความเสี่ยงของการแตกแยกภายใน เนื่องจากประเทศสมาชิกมีความแตกต่างกันอย่างมากทั้งในโครงสร้างเศรษฐกิจและแนวทางการเมือง ความท้าทายจะอยู่ที่การหลีกเลี่ยงภาวะอัมพาต และการรอมชอมในด้านความแตกต่างของแนวคิดและวัฒนธรรม โดยที่มุ่งไปสู่การประสานงานที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น"
นอกจากนี้ แม้รูปแบบการตัดสินใจโดยฉันทามติของอาเซียนจะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อความสามัคคีของกลุ่ม แต่มักทำให้กระบวนการตัดสินใจในประเด็นที่ขัดแย้งหรืออ่อนไหวทางการเมืองล่าช้า ขณะที่ผลประโยชน์แห่งชาติที่แตกต่างกันอาจทำให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับผลได้ทางทวิภาคีมากกว่าการประสานงานระดับภูมิภาค
นายคู (Khoo) ยังเสริมว่าโครงสร้างของอาเซียนยังขาดกลไกการบังคับใช้และติดตามผลที่จำเป็น ในภาวะที่ยิ่งทวีความซับซ้อนขึ้นจากแรงกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์ภายนอกโดยเฉพาะจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ขยายมาให้เกิดความขัดแย้งในระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันจนอาจบ่อนทำลายความสามัคคีของกลุ่ม
ในความเป็นจริง รัฐบาลบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แสดงความกระตือรือร้นในการเจรจาแบบทวิภาคีกับวอชิงตันเพื่อขอลดอัตราภาษีศุลกากร บางประเทศพยายามเพิ่มข้อเสนอให้สหรัฐฯ ในนาทีสุดท้าย อินโดนีเซียประกาศข้อตกลงมูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเพิ่มการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและเพิ่มการลงทุนของอินโดนีเซียในสหรัฐฯ ส่วนเวียดนามประกาศลดภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นศูนย์
ประธานาธิบดีทรัมป์ระบุในแถลงการณ์ว่า สินค้าส่งออกจากสหรัฐฯ ไปอินโดนีเซียจะปลอดภาษีและอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff barriers) โดยเป็นการแลกเปลี่ยนกับการลดภาษีของอินโดนีเซียจาก 32% เหลือ 19% เขากล่าวเสริมว่า "ข้อตกลงประวัติศาสตร์นี้เปิดตลาดทั้งหมดของอินโดนีเซียให้สหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์"
ทรัมป์กล่าวด้วยว่าอินโดนีเซียยังให้คำมั่นว่าจะซื้อสินค้าพลังงานจากสหรัฐฯ มูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และสินค้าเกษตรอเมริกันมูลค่า 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งเครื่องบินโบอิ้ง 50 ลำ
ทรัมป์อธิบายว่า "เป็นครั้งแรกที่เจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ เกษตรกร และชาวประมงของเราจะได้เข้าถึงตลาดอินโดนีเซียที่มีประชากรมากกว่า 280 ล้านคนอย่างสมบูรณ์และไม่มีข้อจำกัด"
ข้อตกลงดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสื่อท้องถิ่น ว่าต้นทุนในระยะยาวดูจะสูงกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับ คือ การขาดดุลการค้า ขาดดุลชำระเงิน และมีหนี้ระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีประเบียบ (Prabowo) แห่งอินโดนีเซียได้ปกป้องข้อตกลงนี้อย่างเต็มที่ เมื่อพูดกับผู้สื่อข่าวในวันพุธ ที่ผ่านมา โดยเรียกมันว่า “เป็นประโยชน์ร่วมกัน” (mutually beneficial)
เขากล่าวว่า "ผมคำนวณทุกอย่างแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผมคือประชาชนของผม สิ่งสำคัญคือผมต้องปกป้องคนงานของผม" พร้อมเสริมว่าอินโดนีเซียซื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็นจากสหรัฐฯ เท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น ประธานาธิบดีฯ เน้นย้ำว่าอินโดนีเซียไม่ได้ผลิตข้าวสาลีและถั่วเหลืองเอง ซึ่งสหรัฐฯ สามารถจัดหาให้ได้ ส่วนการซื้อเครื่องบินโบอิ้งนั้นจะใช้เพื่อขยายสายการบินแห่งชาติ การูดา (Garuda)
ประเบียบกล่าวว่า "ผมได้พูดคุยกับประธานาธิบดีทรัมป์แล้ว การเจรจายากมาก แต่สุดท้ายก็ตกลงกันได้ เราเข้าใจความต้องการของพวกเขา และพวกเขาเข้าใจความต้องการของเรา"
อย่างไรก็ตาม บางฝ่ายเชื่อว่าข้อตกลงการค้าล่าสุดระหว่างอินโดนีเซียและสหรัฐฯ นี้ อาจเป็น "ตัวอย่างที่ไม่ดี" สำหรับประเทศอื่นๆ ที่ต้องการทำข้อตกลงกัยอำนาจตะวันตก
อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆ มีทางเลือกไม่มากนักนอกเสียจากต้องเจรจากับเจ้าหน้าที่การค้าสหรัฐฯ ต่อไปเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่ดีขึ้น ข้อเรียกร้องที่เข้มงวดและแนวทางการค้าแบบกินรวบ หรือผลรวมศูนย์ (zero-sum) ของวอชิงตันอาจผลักดันให้ประเทศต่างๆ หันเหตีตัวห่างจากสหรัฐฯในระยะยาว ขณะที่พวกเขาพยายามกระจายความเชื่อมโยงทางการค้าเพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ มากเกินไป
สหรัฐฯ อาจชนะในการรบในสมรภูมิครั้งนี้และครั้งอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน แต่จะแพ้สงครามโดยการผลักดันให้ประเทศต่างๆ หันหลังให้ ซึ่งพวกเขาอาจไม่ได้หันไปหาจีนเสมอไป ยังมีประชาคมเศรษฐกิจยูเรเชียน (Eurasian Economic Community) ซึ่งเป็นสหภาพของ 5 อดีตสาธารณรัฐโซเวียต รวมถึงรัสเซียและคาซัคสถาน และกลุ่มเศรษฐกิจเมอร์โกซูร์ (Mercosur) ในอเมริกาใต้ ซึ่งประกอบด้วย 6 ประเทศ รวมถึงบราซิลและอาร์เจนตินา ตลอดจนสหภาพยุโรป (EU) ที่กำลังเผชิญกับภาษีตอบโต้สูงถึง 30%
ดร. เตกู เรซาเซียห์ (Teuku Rezasyah) รองศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยปัดจาจารัน (Padjadjaran University) กล่าวกับ CNA ว่า "สิ่งดีเดียวจากภาษีตอบโต้ของทรัมป์คือการที่มันทำให้ประเทศต่างๆ รวมตัวเข้าใกล้กันมากขึ้น สามัคคีกันมากขึ้น พวกเขาแยกขจัดความแตกต่าง ออกไปก่อน“
อันที่จริง ประเทศสมาชิกอาเซียนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องหาทางออกที่จะทำให้พวกเขาสามารถลดความเปราะบางต่อการถูกกดดันจากวอชิงตันให้เหลือน้อยลงให้มากที่สุด นั่น คือ การรวมพลังกันให้เป็นปึกแผ่น