กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ชง 3 หลัก ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ วุฒิสภา เสนอ 3 หลักปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เรียกร้องความครอบคลุม-เป็นธรรม-รวดเร็ว หลีกเลี่ยงความยุติธรรมที่ล่าช้า
นายพรชัย วิทยเลิศพันธุ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค แถลงสรุปผลการประชุมภายหลัง กมธ.ได้เชิญผู้ริเริ่มเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) นิรโทษกรรมทั้ง 5 ร่าง มาให้ข้อมูลเพื่อทราบเจตนารมณ์ จุดประสงค์ และข้อสงสัยต่าง ๆ
ทั้งนี้ เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของสภาผู้แทนราษฎร สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างสังคมที่สงบสุขได้อย่างแท้จริง โดยทาง กมธ.ขอขอบคุณตัวแทนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชาชน และร่างที่ประชาชนร่วมกันลงชื่อเสนอที่มาให้ข้อมูล แต่เสียดายที่พรรคภูมิใจไทยไม่ได้ส่งตัวแทนมาร่วมให้ข้อมูลในครั้งนี้
จากการรวบรวมข้อมูลทั้ง 4 ร่าง พบว่าแบ่งออกเป็น 2 แนวทางหลัก ได้แก่ แนวทางแรก มีการระบุฐานความผิดที่จะได้รับนิรโทษกรรมไว้ชัดเจน เมื่อร่าง พ.ร.บ.มีผลใช้บังคับ ความผิดดังกล่าวจะได้รับนิรโทษกรรมโดยอัตโนมัติ ข้อดีคือ มีความรวดเร็วแต่อาจไม่ครอบคลุมและหลายฝ่ายมองว่าไม่เป็นธรรม เพราะให้นิรโทษกรรมเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
ส่วนแนวทางที่สอง คือ การไม่ระบุฐานความผิดแต่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาแต่ละคดีว่าสมควรได้รับนิรโทษกรรมหรือไม่ ข้อดีคือสามารถพิจารณาได้ครอบคลุมและเป็นกรณีไป แต่ข้อเสียคืออาจใช้เวลานานเกินไป ซึ่งกรรมาธิการบางท่านเห็นว่าความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม
สำหรับประเด็นสำคัญที่ กมธ.ตั้งคำถาม คือ การนิรโทษกรรมได้สัดส่วนกับความผิดหรือไม่ เพราะบางร่าง พ.ร.บ.ให้นิรโทษกรรมกับฐานความผิดที่เป็นคดีอาญาร้ายแรง อาทิ การก่อการร้าย การกบฏตามมาตรา 113 การสะสมอาวุธตามมาตรา 114 หรือการวางเพลิง แต่กลับไม่พิจารณาให้นิรโทษกรรมมาตรา 112 ที่มีฐานความผิดแค่ 3-15 ปี และส่วนใหญ่เป็นความผิดจากไซเบอร์ อาทิ โพสต์เฟซบุ๊ก แชร์คลิปยูทูป ที่อาจติดคุกกว่า 20 ปี
ผู้ให้ข้อมูลได้ให้ความเห็นว่า หากเป็นความผิดที่มีเจตนาทางการเมืองก็ควรได้รับอภัยโทษ และยังระบุถึงความผิดที่เกิดจากระเบิดไม่ว่าจะเป็นระเบิดปิงปองหรืออื่น ๆ ซึ่งหากเป็นการจงใจก่อความวุ่นวายคงไม่สามารถอภัยโทษได้ ทาง กมธ.จึงเห็นว่าควรพิจารณาในชั้นคณะกรรมการ เพราะทุกร่างมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา โดยโครงสร้างคณะกรรมการมีความแตกต่างกัน ดังนั้น โครงสร้างคณะกรรมการจึงมีความสำคัญมากควรครอบคลุมให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมไม่เอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือมีแต่คนจากฝ่ายรัฐบาล
ภายหลังการพิจารณา กมธ. ได้มีข้อเสนอไปยังให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ให้คำนึงถึง 3 ประเด็นหลัก
ประเด็นแรก คือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ ต้องมีความครอบคลุม หากมาตรา 112 เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเกินไปให้พิจารณามาตราอื่นที่จะช่วยให้ผู้ถูกดำเนินคดีหรือจำคุกได้รับนิรโทษกรรมอย่างเท่าเทียมครอบคลุมทุกฝ่าย
ประเด็นที่สอง คือ ความเป็นธรรม โทษฐานที่ได้รับนิรโทษกรรมควรสัดส่วนกับความผิดที่ทำ กรณีที่เป็นการกระทำโดยไม่ตั้งใจ ไม่ใช่เจตนา ควรอยู่ในขอบเขตนิรโทษกรรม ขณะที่ผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความรุนแรงเกินความจำเป็น ไม่ควรได้รับนิรโทษกรรม
ประเด็นสุดท้าย ความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ กลไกทุกอย่างต้องมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เมื่อมีพระราชบัญญัติแล้ว การพิจารณาว่าคดีใดเข้าข่ายหรือไม่ หากใช้เวลานานหลายปีหรือ 10 ปี จะไม่ใช่การนิรโทษกรรมที่แท้จริง ต้องมีการเร่งรัดกระบวนการทั้งในการพิจารณาของคณะกรรมการที่ร่างจะจัดตั้งขึ้น และการพิจารณาของศาลในลำดับต่อไป เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการนิรโทษกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีโดยเร็ว
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘ณัฐพงษ์’ แฉเบื้องหลัง ‘เพื่อไทย’ ไม่รับร่างนิรโทษกรรม
- 'ชัยธวัช' โต้เดือด! ปม ม.112 นิรโทษกรรมคือทางออกความขัดแย้ง
- 'เท้ง' ฟาด 'เพื่อไทย' บอกแค่ข้ออ้าง เตรียมช่วยคนติดคดี ม.112 แนะควรมีจุดยืน!!
ติดตามเราได้ที่