รู้จักความสัมพันธ์แบบ ‘Monkey Barring พฤติกรรมแบบลิงโหนบาร์ ไม่ปล่อยมือคนเดิม แต่เพิ่มเติมคนใหม่
สิ่งหนึ่งที่คงไม่มีใครอยากพบเจอในความสัมพันธ์คือ ความไม่ชัดเจน
ไม่ว่าใครก็คงอยากคบกับใครบางคนด้วยความสบายใจว่าอีกคนจะ ‘มีแค่เรา’ จริงๆ ไม่ได้มีอีกคนแอบซ่อนไว้ ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต่างกับการ ‘กั๊ก’ ความสัมพันธ์ เสมือนว่ายังมีเราอยู่ แต่แอบไปเริ่มความสัมพันธ์กับคนอื่นแล้ว
Monkey Barring คือคำนิยามของความสัมพันธ์อย่างที่ว่า เป็นพฤติกรรมในความสัมพันธ์ที่คนคนหนึ่งยังไม่ยอมปล่อยมือจากความสัมพันธ์เดิม แต่เริ่มคว้าไปที่คนใหม่แล้ว เหมือน ‘ลิงที่โหนบาร์’ ที่ไม่ปล่อยมือจากอันเดิม จนกว่าจะ ‘จับ’ บาร์ถัดไปได้แน่นอน
มันคือการ ‘กลัว’ ความว่างเปล่าในความสัมพันธ์ จึงต้องหาใครสักคนไว้รองรับก่อนจะยอมจบของเดิม
ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ คนที่ยังคบอยู่กับแฟนคนปัจจุบัน แต่แอบเริ่มพูดคุยหรือมีใจให้คนใหม่ พอมั่นใจว่าคนใหม่ ‘เอาอยู่’ แล้ว ถึงค่อยเลิกกับคนเก่าแล้ว โหนไปหาคนใหม่ทันที ซึ่งนอกจากจะไม่ยุติธรรมต่อทั้งคนเก่าและใหม่ ยังทำให้เกิดปัญหาเรื่องความไว้ใจ แถมยังอาจสะท้อนว่าเป็นการ ‘หนี’ ความจริงจากปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วหวังว่าสิ่งใหม่จะทำให้ดีขึ้น โดยที่ไม่ได้เรียนรู้หรือเติบโตจากปัญหาเลย
นอกจากจะไม่เป็นการซื่อสัตย์กับตัวเองแล้ว ยังไม่ซื่อสัตย์กับคนอื่นด้วย หากใครสงสัยว่าตัวเองมีแนวโน้มมีพฤติกรรมแบบ Monkey Barring หรือไม่ มาลองเช็กลิสต์กันดู
กลัวความเหงาและความว่างเปล่า
สำหรับบางคน การไม่มีใครหรือ ‘คนรัก’ อยู่ข้างๆ ไม่ต่างกับความโดดเดี่ยวที่น่ากลัวมาก พานทำให้รู้สึกว่า เราจะอยู่กับ ‘ใครก็ได้’ ดีกว่าอยู่คนเดียว บางคนที่ยังอยู่ในความสัมพันธ์ แต่อาจไม่ได้รักแฟนคนปัจจุบันแล้ว แต่ก็ยังไม่กล้าปล่อยมือ จึงต้องเริ่มหา ‘ตัวสำรอง’ ไว้ล่วงหน้า เพื่อจะไม่ต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ไม่มีใครเลยแม้แต่วันเดียว กลายเป็นว่าแทนที่จะหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ในปัจจุบัน ก็ไป ‘มองหา’ สิ่งใหม่ที่หวังจะมาแทนสิ่งเก่าทันที
ไม่มีแฟน ก็เหมือนไม่มีตัวตน
บางคนต้องการใครบางคนมาคอย ‘เติมเต็ม’ ตลอดเวลา เพราะรู้สึกว่าตัวเองจะไม่มีค่า หรือไร้ความหมายทันที ถ้าไม่มีใครมาคอยมอบความรักให้ จึงต้องหาที่พักพิงทางใจตลอดเวลา ราวกับว่า ‘ไม่รู้จะอยู่ยังไง ถ้าไม่มีใครรัก’ เพราะไม่สามารถรู้สึกมั่นคงด้วยตัวเองได้ จึงต้องอาศัยความรักจากคนอื่นเหมือนเป็นน้ำหล่อเลี้ยงใจ พอความรักจากแฟนคนเดิมเริ่มจืดจาง ก็จะเริ่มมองหาคนใหม่ทันที ทั้งที่ยังไม่ทันเลิก เหมือนกับว่าเมื่อเจอปัญหา ก็จะหาคนใหม่แทนการเผชิญหน้ากับปัญหาเดิมไปเลย
ไม่กล้าจบความสัมพันธ์แบบตรงๆ
สำหรับหลายคน การพูดคำว่า ‘เลิก’ เป็นเรื่องยาก เพราะกลัวความเจ็บปวด กลัวอีกฝ่ายร้องไห้ หรือกลัวไปทำร้ายจิตใจ จึงค่อยๆ สร้างความห่างเหิน และหาเหตุผลหรือความชอบธรรมในการเลิก โดยการพาตัวเองไปมีใจให้คนใหม่ เพื่อที่เมื่ออีกฝ่ายรู้แบบอ้อมๆ ว่า เราต้องการห่าง ก็จะสามารถไปได้แบบไม่ต้องพูดคำว่า ‘เลิกกันนะ’ ซึ่งไม่ต่างกับการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในการจบความสัมพันธ์ โดยผลักภาระให้ ‘สถานการณ์’ หรือให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าไปต่อไม่ได้เอง ผ่านการใช้คนใหม่เป็น ‘บันไดลง’ แบบซอฟต์ๆ
ต้องการการยืนยันคุณค่าตนเอง
บางคนก็ไม่ได้ต้องการความรักจากคนใหม่หรอก แค่ต้องการรู้สึกว่า ‘ยังมีคนสนใจ’ ตนเองอยู่ จึงรู้สึกว่ายังมีคุณค่า ยังมีเสน่ห์ เหมือนว่าการมี ‘คนใหม่’ ที่รออยู่ เป็นการเติมพลังใจว่า เรายังไม่ถูกทิ้งและยังเป็นที่ต้องการ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รักคนใหม่จริงๆ ก็ตาม พูดง่ายๆ คือแค่ชอบความรู้สึกว่ามีคนสนใจ เมื่อรู้สึกถูกละเลยในความสัมพันธ์เดิม จึงเริ่มหาความสนใจจากคนอื่น แทนที่จะหาทางเคลียร์ปัญหากัน น่ากลัวว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นเพียงการ ‘ปล่อยใจ’ ไปเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลเสียมากกว่าผลดี
ไร้ทักษะในการเยียวยาหลังจบความสัมพันธ์
การเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเสียใจหรือความสูญเสียในความรักเป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับหลายคน เมื่อความสัมพันธ์ปัจจุบันเริ่มมี ‘รอยร้าว’ จึงเลือกที่จะรีบ ‘เปลี่ยน’ แทนที่จะ ‘เยียวยา’ เพราะคิดว่าเมื่อเจ็บแล้วต้องหาทางหนี ไม่ใช่หาทางรักษา เหมือนความคิดว่า ถ้าต้องการลืมแฟนเก่า ก็หาคนใหม่เร็วๆ ไปเลย
แต่แท้จริงแล้วมันอาจทำให้ความสัมพันธ์ใหม่ที่ได้มาไม่มั่นคง เพราะยังไม่ทันเรียนรู้บทเรียนจากความสัมพันธ์เดิมที่จบลงเลย จนอาจทำให้คนใหม่เพียงแค่มารับบท ‘คนเยียวยา’ โดยไม่รู้ตัว ขณะที่ตนเองก็ไม่ทันได้รู้เลยว่าแท้จริงแล้วต้องการอะไรจากความรัก
มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจรู้สึกว่า ‘นี่มันเราชัดๆ’ แต่หากไม่อยากต้องกลายเป็นคนที่มีพฤติกรรมแบบ Monkey Barring ก็ลองซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเอง ถ้าไม่รักก็ไม่ต้องกั๊ก แต่กล้าบอกไปตรงๆ จะดีที่สุด
ที่สำคัญคือ เรียนรู้ที่จะอยู่คนเดียวให้เป็น เพราะการไม่มีแฟน ไม่ได้แปลว่าไม่มีค่าสักหน่อย ดีกว่ารีบหาใครมาเติมจนไม่ได้เรียนรู้จากความเจ็บปวดหรือความเหงา จนท้ายที่สุดก็ไม่เคยรู้จักความต้องการในความรักที่แท้จริงของตัวเองเลย
ที่มา