เกิดอะไรขึ้น? ถ้า กสทช. ไม่รับรองผลประมูลมือถือ : ผลต่อโทรคมนาคม
หลังจากการประมูลคลื่นความถี่ 850, 1500, 2100 และ 2300 MHz เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2568 สิ้นสุดลง คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าทุกอย่างจบเรียบร้อยแล้ว แต่ความจริงยังมีอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญ คือ การรับรองผลการประมูลโดย คณะกรรมการ กสทช. ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการ กสทช. จะต้องรับรองผลการประมูลภายใน 7 วันนับจากวันสิ้นสุดการประมูล ซึ่งจะครบกำหนด 7 วัน คือ วันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม 2568
คำถามสำคัญคือ ถ้าวันอาทิตย์ที่ 6 ก.ค. คณะกรรมการ กสทช. ไม่รับรองผลประมูลขึ้นมา… ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทยมีอะไรบ้าง?
1. ผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการมือถือทั่วประเทศทั้งในวันนี้และในอนาคต รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล :
ในระยะสั้น อาจดูเหมือนไม่มีผลอะไร เพราะมือถือยังใช้ได้ เน็ตยังเร็ว แต่ในความเป็นจริง คลื่นความถี่ที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ หากการรับรองผลล่าช้า หรือถูกยกเลิก ผู้ใช้บริการบางส่วน ที่ใช้บริการอยู่บนคลื่นความถี่ดังกล่าวโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท หรือผู้สูงวัยที่ยังใช้มือถือ จะเสี่ยงต่อภาวะ “ซิมดับ” นอกจากนี้ ปริมาณการใช้ดาต้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี (+20-30% ต่อปี) จะเริ่มเกิดภาวะคอขวดในระบบ เน็ตอาจช้าลง ความหน่วง (latency) สูงขึ้น วิดีโอคอลหรือเกมอาจกระตุก ตัวอย่างเปรียบเทียบง่ายๆ: เหมือนถนนที่รถเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่เราไม่สามารถขยายหรือสร้างเลนใหม่ สุดท้ายรถก็ติดทุกเส้น
ผลกระทบในระยะต่อไปก็จะลุกลามไปกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น Smart Farming, Telemedicine การแพทย์ทางไกล หรือ อุปกรณ์ IOT ที่เป็นนวัตกรรมที่ต้องการแบนด์วิธสูง การไม่สามารถขยายคลื่นความถี่เพื่อรองรับการต้องการทั้งหมด จะส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลสะดุด จนกระทบต่อศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนภาพรวมของประเทศ
2. ผลกระทบต่อผู้ให้บริการหรือเอกชนที่เข้าร่วมประมูล: การลงทุนที่ถูกแขวน
เอกชนที่เข้าประมูลตามประกาศของคณะกรรมการ กสทช. ซึ่งผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติอย่างครบถ้วนเรียบร้อย และผลการประมูลก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนการประมูล ที่ถูกต้องตามข้อกำหนดในประกาศทุกประการ แต่สถานการณ์กลับกลายเป็นว่า ผลการประมูลที่ถูกต้องของเอกชนทั้งคู่ กลับไม่ถูกใจ จนเป็นผลให้คณะกรรมการ กสทช.ไม่รับรองผลการประมูล หากเป็นเช่นนั้นคณะกรรมการ กสทช. ก็ต้องมีคำตอบกับสาธารณชนทั้งในและต่างประเทศว่า การดำเนินการที่ถูกต้องทั้งหมดทุกขั้นตอน เหตุใด คณะกรรมการ กสทช.จึงไม่รับรองผลการประมูลครั้งนี้ ??
อย่าลืมว่า การประมูลครั้งนี้ แม้เป็นเอกชนในประเทศแต่ผู้ถือหุ้นเป็นบริษัทต่างชาติ ซึ่งก็เฝ้าติดตามผลการประมูลที่จะส่งผลต่อการขยายธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทย การไม่รับรองผลครั้งนี้จะก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงกับเอกชนที่เข้าร่วมประมูล เนื่องจากการเตรียมความพร้อมเข้าร่วมประมูล เอกชนจะต้องจัดเตรียมแผนงาน จ้างที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อวางแผนทางการเงิน จัดหาหลักทรัพย์เพื่อค้ำประกัน จ้างที่ปรึกษาด้านการพัฒนาเครือข่ายเพื่อศึกษาแนวทางการลงทุนที่คุ้มค่าของคลื่นแต่ละย่านความถี่ที่มีมูลค่าสูงนับหมื่นล้าน ซึ่งความเสียหายทั้งหมดจากที่เอกชนได้ลงทุนไปอาจจะสูญเปล่าเปรียบเสมือนการลงทุนที่ถูกแขวน โดยไม่ชัดเจนว่าจะเห็นผลตอบแทนอย่างไร
3. ผลกระทบต่อ คณะกรรมการ กสทช. ในแง่กฎหมาย :
ตาม ประกาศ คณะกรรมการ กสทช. ระบุชัดเจนว่าคณะกรรมการ กสทช.จะต้องรับรองผลการประมูลคลื่นความถี่ภายใน 7 วัน นับจากวันสิ้นสุดการประมูล ดังนั้นหากหลังวันที่ 6 กรกฎาคม 2568 ซึ่งเป็นวันครบ 7 วันตามประกาศดังกล่าว คณะกรรมการ กสทช.ยังไม่รับรองผลการประมูล ก็จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สําหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1740 - 1785/1835 - 1880 MHz ข้อ 9(5) ซึ่งเป็นข้อกำหนดหน้าที่ให้คณะกรรมการ กสทช. ดำเนินการรับรองผลการประมูลให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว และไม่อาจใช้ดุลพินิจไม่ปฏิบัติหรือไม่รับรองได้แต่อย่างใด อันจะถือว่าเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรอันอาจถูกฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) อีกทั้งยังเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) ซึ่งจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายใดๆที่เกิดขึ้นจากการละเมิด
นอกจากนี้การที่คณะกรรมการกสทช. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายรู้ว่าตนมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องดำเนินการรับรองผลการประมูลให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาแต่มีเจตนาไม่ดำเนินการ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด จึงอาจเป็นการกระทำความผิดอาญาฐานเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งต้องรับโทษทางอาญาอีกกรณีหนึ่งด้วย
4. ผลกระทบต่อภาพลักษณ์การลงทุนของประเทศ :
ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น กรณีคณะกรรมการ กสทช. ไม่รับรองผลการประมูลโดยไม่มีเหตุผลทางกฎหมายรองรับ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบที่คณะกรรมการ กสทช. กำหนดขึ้นมาเอง ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกที่มีต่อภาพลักษณ์การลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เทคโนโลยีและดิจิทัลที่มีเสียงเรียกร้อง อยากให้รัฐสร้างแรงจูงใจให้เอกชนจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ หรือแม้แต่ข้อเสนอจากองค์กรเอกชนNGO ที่อยากให้มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้มากกว่าสองรายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็คงเป็นไปได้ยากที่จะมีเอกชนรายใดกล้าที่จะเข้ามาแบกรับความเสี่ยงจากการดำเนินการที่ไม่แน่นอนและไม่ชัดเจนขององค์กรกำกับนโยบาย ซึ่งท้ายที่สุดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ จะทำให้ประเทศไทยเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่เดินหน้าแผนดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง.