เปิดข้อมูล 'ระบบศาลรัฐธรรมนูญ' ในประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศไหนสั่งพักงานผู้นำประเทศ
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 7 ต่อ 2 ให้น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย กรณีคลิปเสียงสนทนากับ สมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา
กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติสั่งให้นายกรัฐมนตรีของประเทศหยุดปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก กรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 จากคดีตั้งนายพิชิต ชื่นบาน และ สมัยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในคดีนายกฯ 8 ปี
หากพิจารณาประเทศที่พัฒนาแล้วจะพบว่า ไม่มีประเทศไหน ที่ศาลฯ มีอำนาจสั่ง 'ผู้นำประเทศ' หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ถ้ามี 'ถือว่าผิดปกติ' เพราะอาจ 'เปิดช่อง' ให้องค์กรตุลาการ เข้าแทรกแซงอำนาจบริหาร โดยยังไม่มีคำวินิจฉัย ซึ่งขัดหลักการ presumption of innocence หรือ สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด
โดยหลายประเทศที่พัฒนาแล้วมี 'กลไก' ตรวจสอบถ่วงดุล หรือถอดถอนผู้นำประเทศได้ โดยไม่จำเป็นต้องเรียกว่า ศาลรัฐธรรมนูญ แบบในประเทศไทย
กลไก 'ถอดถอนผู้นำ' ประเทศที่พัฒนาแล้ว
- เยอรมนี : ศาล รธน.ไม่มีอำนาจสั่งนายกฯ "หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว" เพียงเพราะรับคำร้อง/พิจารณาตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด/คำวินิจฉัยมีผลหลังไต่สวนและตัดสินสุดท้ายเท่านั้น
- ฝรั่งเศส : Constitutional Council ไม่สามารถสั่ง ปธน.หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการพิจารณาได้ใช้กระบวนการรัฐสภาถอดถอนผ่านศาลสูงของรัฐ
- สหรัฐอเมริกา : ไม่มีการ "พักงาน" ผู้นำเพียงเพราะมีการไต่สวนแม้จะมีการ impeach แต่ไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าวุฒิสภาจะตัดสินถอดถอน
- ญี่ปุ่น : สามารกลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯได้ แต่ไม่มีศาล รธน.ที่จะสั่งพักงาน/ศาลฎีกาตีความ รธน.แต่ไม่แทรกแซงการดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยตรง
- สหราชอาญาจักร : นายกฯพ้นตำแหน่งจากการลงมติไม่ไว้วางใจเท่านั้น ไม่มีศาลที่มีอำนาจสั่งพักงาน/เน้นกระบวนการทางการเมืองเป็นหลัก ไม่ใช่ตุลาการนิยม
โดยสรุป ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญประเทศไหนมีอำนาจสั่งผู้นำ หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที เพียงเพราะรับคำร้อง เหมือนที่เกิดขึ้นบ่อย ในระบบของไทย