ติดคุกฟรี เสียเวลาชีวิต เปิดตัวอย่างคดีม. 112 ที่ท้ายสุดยกฟ้อง
“ถ้าไม่ได้ทำผิดจริง จะกลัวอะไร” วลีเด็ดจากฝ่ายปกป้องสถาบันกษัตริย์ที่มักใช้กับจำเลยในคดีโทษหนักอย่างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กฎหมายดังกล่าวมีปัญหาหลายประการทั้งปัญหาตัวบท เช่น ไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนในองค์ประกอบความผิด โทษ 3-15 ปีที่หนักจนเกินไป ซึ่งเป็นอัตราโทษเดียวกับความผิดฐานตระเตรียมการกบฏ หรือฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา และใครจะเป็นผู้ริเริ่มคดีก็ได้ ไม่จำเป็นต้องให้ผู้เสียหายเป็นผู้เริ่มต้นคดี จึงกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกลั่นแกล้ง ปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือกลั่นแกล้งคนที่มีความขัดแย้งกันในเรื่องส่วนตัว
ที่ผ่านมามีหลายคดีที่ผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นจำเลย เสียเวลาไปกับการต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง ร้ายแรงไปกว่านั้นหลายคนต้องถูกจำคุกระหว่างการพิจารณาส่งผลกระทบต่อชีวิตและจิตใจ ท้ายที่สุดศาลยกฟ้อง
ชวนดูตัวอย่างคดีที่ต้องติดคุกฟรี เสียเวลาชีวิต
ยุทธภูมิ: แค่เรื่องคุยในบ้านบานปลายมาสู่มาตรา 112
ปี 2553 ยุทธภูมิ ขณะนั้นอายุ 39 ปี ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว ถูกธนะวัฒน์ พี่ชายของเขากล่าวหาว่า ประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2552 จำเลยพูดคำหยาบคายขณะกำลังดูโทรทัศน์ซึ่งมีภาพข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่บนรถเข็น หลังจากนั้นประมาณ 5 วัน จำเลยใช้ปากกาเมจิกเขียนลงบนแผ่นซีดี “หยุดก้าวล่วงพระเจ้าอยู่หัว เนวินขอทักษิณ” ด้วยถ้อยคำหยาบคาย พี่ชายเห็นว่า คำเหล่านั้นเป็นการดูหมิ่น จาบจ้วง เหยียดหยามต่อรัชกาลที่เก้าจึงฟ้องคดี
คดี “พี่ฟ้องน้อง” ฝ่ายน้องอย่างยุทธภูมิให้การปฏิเสธตั้งแต่ชั้นตำรวจไปจนถึงชั้นศาล ระหว่างการพิจารณาคดียุทธภูมิไม่ได้รับการประกันตัวกว่าหนึ่งปี ท้ายที่สุดศาลชั้นต้นยกฟ้องระบุว่า ฝั่งโจทก์มีธนะวัฒน์เพียงปากเดียวเบิกความเป็นประจักษ์พยานยืนยันว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง แต่ก่อนที่จะมีการกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน พยานกับจำเลยได้ทะเลาะรุนแรงหลายครั้ง อีกทั้งน้ำหนักการให้การของพยานในชั้นตำรวจและชั้นศาลมีความแตกต่างกัน ถือเป็นข้อพิรุธและไม่มีน้ำหนักอันควรแก่การรับฟัง อาจเป็นการกลั่นแกล้งได้
แม้ว่าจะมีการพิสูจน์ลายมือและคำให้การจากกองพิสูจน์หลักฐานลงความเห็นว่าลายมือบนแผ่นซีดีเหมือนกัน แต่ศาลไม่เชื่อ ประกอบกับฝั่งจำเลยและมารดาของจำเลยยืนยันว่า มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำมาสืบไม่มีน้ำหนักเพียงพอว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จึงพิพากษาให้ยกฟ้องและริบหลักฐานแผ่นซีดีไปทำลาย ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น
สุรภักดิ์: ยกฟ้องเพราะหลักฐานไม่น่าเชื่อถือ
ปี 2554 สุรภักดิ์เป็นโปรแกรมเมอร์ รับเขียนโปรแกรมสำหรับสำนักงานต่างๆ ถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) ถูกกล่าวหาว่า เป็นเจ้าของอีเมลหนึ่งและเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ตั้งชื่อว่า “เราจะครองxxx” ได้เขียนข้อความหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ใส่ความ แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก เฉลิมชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่ง เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ วันที่ 2 กันยายน 2554 สุรภักดิ์ถูกจับกุมตัว ในชั้นตำรวจเขาให้การปฏิเสธ และไม่ได้รับประกันตัวนับแต่นั้น
จนกระทั่งวันที่ 31 ตุลาคม 2555 ศาลพิพากษาสรุปความว่า เมื่อพิจารณาจากหลักฐานแล้วพบว่ามีความผิดปกติหลายอย่าง ส่งผลให้เกิดความคลาดเคลื่อนในข้อน่าเชื่อถือของหลักฐาน ยังไม่อาจรับฟังได้แน่ชัดว่าข้อมูลการใช้อีเมลตามคำฟ้องเกิดจากการใช้งานของจำเลยจริง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังมีความสงสัยอย่างสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง จึงพิพากษายกฟ้อง
จารุวรรณ: 84 วันในเรือนจำท้ายสุดไม่ฟ้อง
เดือนพฤศจิกายน 2557 จารุวรรณ พนักงานโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี ถูกกล่าวหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) จากการโพสต์พระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัว พร้อมคำบรรยายที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ ในเฟซบุ๊กชื่อ "จารุวรรณ…" ซึ่งเป็นบัญชีเฟซบุ๊กของจารุวรรณ พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ เป็นผู้นำเรื่องเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน
จารุวรรณถูกควบคุมตัวในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 เธอให้การปฏิเสธตามข้อกล่าวหา ระบุว่า อาจถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนของแฟนนำเฟซบุ๊กของตนไปโพสต์ จารุวรรณยังไม่เห็นข้อความที่ถูกกล่าวหาเพราะไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ ทำให้ตำรวจจับกุมตัวอานนท์ แฟนของจารุวรรณ และชาติชาย เพื่อนของแฟนที่ถูกจารุวรรณกล่าวหาว่านำเฟซบุ๊กของตนไปโพสต์ สุดท้ายอัยการมีคำสั่งไม่ส่งฟ้องคดีเพราะไม่สามารถหาหลักฐานได้
ระหว่างการดำเนินคดีในชั้นสอบสวน ทั้งสามคนไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวนับแต่นั้น เนื่องด้วยไม่มีหลักทรัพย์มาวาง ทั้งหมดถูกฝากขังอยู่ 84 วัน เมื่อครบกำหนดขังในชั้นสอบสวนจึงได้รับการปล่อยตัว จนกระทั่งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี
หฤษฎ์และณัฏฐิกา: ทหารอ้างฟ้องจากการค้นแชทเฟซบุ๊กแต่ขาดประจักษ์พยาน
27 เมษายน 2559 ทหารและตำรวจนำกำลังจับกุมประชาชนแปดคน อ้างว่า ทั้งหมดเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” และกล่าวหาว่า ทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯจากการทำเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว ณัฏฐิกา หนึ่งในจำเลยถูกทหารจับกุมตัวจากบ้านพัก เธอเล่าว่า “แม่ถามทหารว่า มีหมายมารึป่าว? เขาพูดใส่หน้าเราว่า ผมมาตามมาตรา 44 ผมใหญ่กว่าศาลอีก ใจพวกเขาทำด้วยอะไร แม่บอกว่า แม่ไปด้วยได้ไหม คุณกล้าพูดกับแม่ว่า เดี๋ยวก็เอามาคืน ขับรถกลับมาคืนให้ถึงบ้านเลย”
โดยศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวตั้งแต่ชั้นตำรวจ ทั้งหมดถูกฝากขังหนึ่งผลัดหรือ 12 วัน จากนั้นได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อย่างไรก็ตามหฤษฎ์และณัฏฐิกาถูกอายัดตัวไปดำเนินคดีตามมาตรา112 ที่มีพล.ต.วิจารณ์ จดแตง (ปัจจุบัน)และถูกคุมขังเรื่อยมาจนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในผลัดที่หก วันที่ 8 กรกฎาคม 2559 คดีนี้มีมูลเหตุมาจากการพูดคุยส่วนตัวในแชทเฟซบุ๊ก จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
การดำเนินคดีโทษหนักและประสบการณ์ถูกคุมขังโดยไม่รู้ปลายทางสร้างความทุกข์ให้ไม่เฉพาะตัวจำเลย แต่ยังถ่ายทอดให้คนรอบตัว หลังจากคดีมาตรา 112 ดำเนินการพิจารณาในศาลทหารกรุงเทพไประยะหนึ่ง ณัฏฐิกาจึงตัดสินใจลี้ภัยทางการเมือง ทำให้เหลือหฤษฎ์เป็นจำเลยในคดีมาตรา 112 เพียงคนเดียว
ด้วยคดีของหฤษฎ์และณัฏฐิกาเกิดขึ้นในยุคคสช. ระหว่างการ “เอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร” จึงทำให้การดำเนินคดีอยู่ในอำนาจของศาลทหารกรุงเทพ ก่อนที่จะโอนกลับไปยังศาลยุติธรรมตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 9/2562 ท้ายที่สุดวันที่ 15 มีนาคม 2565 ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง
สุริยศักดิ์: อายัดซ้ำคดี 112 ก่อนยกฟ้องต้องติดคุกฟรี 2 ปี
สุริยศักดิ์ ฉัตรพิทักษ์กุล เป็นอดีตแกนนำนปช. ชาวจังหวัดสุรินทร์ ประกอบอาชีพค้าขาย ขณะถูกจับกุมอายุ 49 ปี เริ่มแรกวันที่ 18 มีนาคม 2560 เขาถูกจับกุมในข้อหาก่อการร้ายและครอบครองอาวุธปืนจากการชุมนุมในปี 2553 ร่วมกับผู้ต้องหาอีก 8 คน และถูกคุมขังในเรือนจำเรื่อยมา อีกสี่เดือนถัดมาอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ทำให้ผู้ต้องหาทั้งหมดได้รับการปล่อยตัว ขณะกำลังจะออกจากเรือนจำ พนักงานสอบสวนจาก ปอท. เดินทางมาขอ “อายัดตัว” สุริยศักดิ์เพียงคนเดียว เพื่อดำเนินคดีในความผิดตามมาตรา 112 จากการส่งข้อความพูดคุยกับสมาชิกในกลุ่มไลน์ ชื่อกลุ่มว่า “คนนอกกะลา” ในทำนองโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อ 13 กรกฎาคม 2559 คดีนี้มีผู้ร้องทุกข์คือ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง นายทหารฝ่ายกฎหมายของคสช.
จากนั้นสุริยศักดิ์ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวและถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีเรื่อยมาเกือบสองปีจนได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ต่อมาคดีของสุริยศักดิ์ถูกโอนไปที่ศาลยุติธรรมตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 9/2562 และศาลอาญาเริ่มสืบพยานในเดือนสิงหาคม 2565 และมีคำพิพากษาในเดือนตุลาคม 2565 โดยศาลอาญายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีมีความขัดแย้งกันและพบพิรุธหลายประเด็น เช่น การเบิกความของพยานโจทก์ การพิสูจน์ตัวตนของจำเลยในการใช้บัญชีไลน์ และวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง
ณัฏฐธิดา: อายัดซ้ำคดี 112 กรณีแชร์ข้อความไลน์
ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน เคยเป็นพยาบาลอาสา และเป็นพยานปากสำคัญในคดีผู้เสียชีวิตหกศพภายในวัดปทุมวนารามจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ในปี 2553
24 กรกฎาคม 2560 ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ ตำรวจได้เข้าควบคุมตัวณัฏฐธิดา ผู้ต้องหาคดีวางระเบิดลานจอดรถ ศาลอาญา ในทันทีหลังจากที่เธอถูกปล่อยตัวชั่วคราวในคดีดังกล่าว ก่อนจะนำตัวไปที่กองปรามปรามฯ โดยตำรวจแจ้งต่อเธอว่า เธอถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา จากการแชร์ข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในแอพลลิเคชั่นไลน์ คดีนี้มีผู้ร้องทุกข์คือ พ.อ. วิจารณ์ จดแตง ยศในขณะนั้น
ณัฏฐธิดาถูกพิจารณาคดีในศาลทหารกรุงเทพ และถูกคุมขังในเรือนจำต่อเนื่องหลังจากถูกอายัดตัว จนได้รับการประกันตัวในวันที่ 4 กันยายน 2561 ด้วยหลักทรัพย์จำนวน 900,000 บาท แบ่งเป็นคดีแชร์ข้อความหมิ่นประมาทจำนวน 400,000 บาทและคดีวางระเบิดศาลอาญาจำนวน 500,000 บาท โดยมีข้อกำหนดห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาต จนเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ศาลทหารกรุงเทพได้โอนคดีไปยังศาลจังหวัดนนทบุรี การพิจารณาคดีล้วนถูกสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ ทั้งสองศาล
ณัฏฐธิดาต่อสู้คดีว่าตนไม่ได้เป็นผู้ส่งหรือแชร์ข้อความดังกล่าว เมื่อประกอบกับการเบิกพยานหลักฐานของโจกท์ ซึ่งไม่สามารถระบุแหล่งที่มาและพิสูจน์ความถูกต้องของหลักฐานได้ จึงมีข้อสงสัย ไม่สามารถสืบให้แน่ชัดได้ว่าณัฏฐธิดากระทำความผิดตามที่กล่าวหาจริง ศาลจังหวัดนนทบุรีจึงมีคำพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564