ศาลตีความมาตรา 112 ขยายขอบเขตเอาผิดการหมิ่นอดีตกษัตริย์ (ในบางคดี)
คดีมาตรา 112 หรือคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยปี 2563-2568 เป็นยุคที่จำนวนคดีพุ่งสูงมากที่สุด เมื่อเดินทางมาถึงวันที่ศาลต้องมีคำพิพากษา แม้แนวโน้มคดีส่วนใหญ่ศาลจะวางอัตราโทษน้อยลง ส่วนใหญ่อยู่ที่จำคุกสามปีต่อหนึ่งการกระทำ และมีหลายสิบคดีที่ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดโดยยังให้ “รอลงอาญา” แต่คำพิพากษาของศาลในยุคนี้กลับมีแนวโน้มการตีความตัวบทให้ขยายออกไปอีกเรื่อย ๆ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า
“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี”
จากตัวบทของมาตรา 112 เห็นได้ชัดว่า มาตรานี้กำหนดให้เอาผิดกับการกระทำสามประการ คือ
1. ดูหมิ่น
2. หมิ่นประมาท
3. แสดงความอาฆาตมาดร้าย
โดยการกระทำที่จะเป็นความผิด ต้องเป็นการกระทำต่อบุคคลที่มาตรานี้มุ่งคุ้มครอง ซึ่งเป็นการคุ้มครอง “ตำแหน่ง” ที่สำคัญของประเทศและการกระทำต่อตำแหน่งเหล่านี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศ กฎหมายไม่ได้คุ้มครองตัวบุคคล และชัดเจนว่า มีสี่ตำแหน่งที่ได้รับความคุ้มครอง ได้แก่
1. พระมหากษัตริย์
2. พระราชินี
3. รัชทายาท
4. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ตามหลักการเบื้องต้นในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 การกระทำใดที่จะเป็นความผิดและถูกลงโทษได้ ต้องเป็นการกระทำที่มีกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า เป็นความผิด และการใช้การตีความกฎหมายอาญาต้อง “ตีความอย่างเคร่งครัด”หมายความว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดได้ต้องเข้าองค์ประกอบตามที่กฎหมายเขียนไว้จริงๆ เท่านั้น จะขยายความตัวบทให้เกินเลยไปเพื่อเอาผิดต่อบุคคลที่ไม่ได้ทำความผิดไม่ได้ หากไม่ยึดถือหลักการนี้แล้วประชาชนจะไม่สามารถรู้ได้ว่า ขอบเขตสิทธิเสรีภาพของตัวเองเป็นอย่างไร และหากปล่อยให้เกิดการตีความกว้างขวางก็อาจเปิดช่องให้รัฐใช้บังคับกฎหมายเพื่อรังแกหรือเอาเปรียบประชาชนได้
หากยึดการตีความตามตัวบทโดยเคร่งครัด มาตรา 112 คุ้มครองบุคคลสี่ตำแหน่ง ซึ่งต้องคุ้มครองบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งนั้นๆ ในขณะเวลาที่การกระทำความผิดเกิดขึ้นเท่านั้นคือ คุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์ปัจจุบันเท่านั้น ในช่วงเวลาที่ประเทศยังไม่มีรัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ไม่มีบุคคลที่มาตรา 112 คุ้มครองอยู่ในขณะนั้น โดยหลักการตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัดแล้วจะขยายความไปเอาผิดกับการกล่าวถึงบุคคลอื่นๆ ในสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ หรือพระราชินี ในอดีตทุกพระองค์ไม่ได้
ยุคก่อนเคยมีคดีหมิ่นอดีตกษัตริย์ แต่ตัวอย่างมีไม่มาก
ในยุคก่อนปี 2563 มาตรา 112 ถูกนำมาใช้หลายระลอกตามบรรยากาศทางการเมือง เช่น ช่วงการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 หรือช่วงหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ช่วงปี 2557-2558 และช่วงหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ช่วงปี 2559-2560 และเคยมีการนำมาตรา 112 มาใช้กับคดีที่ต้อง “ขยายความตัวบท” ไปดำเนินคดีกับการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ในอดีตที่เสด็จสวรรคตไปแล้วอยู่บ้าง เช่น
· คดีณัชกฤช เกิดขึ้นในปี 2548 นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่งในจังหวัดชลบุรีจัดรายการวิทยุพูดถึงรัชกาลที่ 4 และถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ซึ่งเขาต่อสู้ถึงศาลฎีกาและศาลฎีกาพิพากษาให้เป็นความผิด แต่ให้รอลงอาญา
· คดีส.ศิวลักษณ์ เกิดขึ้นในปี 2557 กล่าวในงานเสวนาโดยพูดถึงประวัติศาสตร์การยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่า มีความจริงอีกชุดหนึ่งจากฝั่งพม่าด้วย ซึ่งเขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แต่สุดท้ายอัยการทหาร สั่งไม่ฟ้องคดี
แม้คดีความที่ตีความกฎหมายเกินตัวบทไปเหล่านี้จะไม่ได้นำไปสู่บทลงโทษที่รุนแรงมากโดยเปรียบเทียบกับคดีมาตรา 112 คดีอื่นๆ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน แต่จากตัวอย่างคดีที่เกิดขึ้นก็ทำให้ขอบเขตของกฎหมายและหลักการตีความ “พร่าเลือน” มายาวนานหลายปี
โดยคำถามว่า การวิพากษ์วิจารณ์บุคคลในสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไรเป็นความผิดหรือไม่ เป็นคำถามที่ “ตอบยากที่สุด” เพราะการกระทำอย่างหนึ่งที่อาจ “ไม่ผิด” ตามตัวบทโดยตรง แต่อาจถูกพลิกกลับเป็น “ผิด” ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลาก็ได้ การคาดหมายผลของคดีอาจต้องพิจารณาจาก “ช่วงเวลา” ที่คดีเกิดขึ้นและช่วงเวลาที่ศาลอ่านคำพิพากษาเป็นปัจจัยสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวบทกฎหมาย
เข้ายุครัชกาลที่ 10 กล่าวถึงรัชกาลที่ 5, 7, 9 ศาลเคยพิพากษาว่าผิด
คดีมาตรา 112 ในยุคสมัยปี 2563-2568 ภายใต้รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เป็นยุคที่มีสถิติการดำเนินคดีสูงที่สุดในประวัติศาสตร์อย่างไม่เคยมีมาก่อน และเคยมีความเข้าใจว่า การกล่าวถึงรัชกาลที่ 9 ที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว อยู่นอกขอบเขตของมาตรา 112 ซึ่งก็เป็นความเข้าใจที่มีตัวบทกฎหมายรองรับ แต่ในทางปฏิบัติศาลไม่ได้ตีความเช่นนั้นเสมอไป
มีตัวอย่างคดีมาตรา 112 จำนวนไม่น้อย ที่จำเลยกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ในอดีต และศาลพิพากษาให้มีความผิด โดยศาลจงใจ “ขยายความ” คำว่า “พระมหากษัตริย์” ในตัวบทมาตรา 112 ออกไปให้คุ้มครอง “อดีตพระมหากษัตริย์” ด้วย โดยให้เหตุผลในคำพิพากษาไว้ต่างกัน ดังนี้
1. คดี ‘วุฒิภัทร’ โพสคอมเม้นต์กรณีการสวรรคตของรัชกาลที่ 8
‘วุฒิภัทร’ (นามสมมติ) พนักงานบริษัทวัย 29 ปี ถูกฟ้องว่า โพสต์แสดงความคิดเห็นในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 เกี่ยวกับกรณีการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ที่จำเลยสามคนถูกประหารชีวิตไปโดยไม่มีความผิด และพาดพิงไปถึงรัชกาลที่ 9 ด้วย ซึ่งเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 ศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำพิพากษาว่า แม้จำเลยจะโพสต์ข้อความพาดพิงในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย แต่เจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คุ้มครองบุคคลเพียงเฉพาะ 4 ตำแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ยังคงครองราชย์หรือดำรงตำแหน่งอยู่เท่านั้น โดยช่วงเวลาที่จำเลยโพสต์ข้อความพาดพิงดังกล่าว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้สวรรคตตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
แต่ต่อมาพนักงานอัยการยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า มาตรา 112 ไม่ได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ซึ่งกฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่เท่านั้น การหมิ่นประมาทและดูหมิ่นอดีตพระมหากษัตริย์ย่อมกระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน รัชกาลที่ 9 เป็นบิดาของรัชกาลที่ 10 หากตีความว่าต้องเป็นพระมหากษัตริย์ปัจจุบัน ก็จะเป็นการเปิดช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาท ให้กระทบพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้ และพิพากษาให้จำเลยมีความผิด
2. คดี ‘ใจ’ ติดแฮชแท็กใต้พระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 9
‘ใจ’ (นามสมมติ) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพ วัย 23 ปี ถูกฟ้องว่า ทวีตรูปและพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9พร้อมติดแฮชแท็กเกี่ยวกับกษัตริย์ ซึ่งมีข้อความประกอบภาพว่า “ไม่ต้องจำว่าฉันคือใคร แต่จำว่าฉันทำอะไรก็พอ” ศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งในฐานะประมุขของประเทศ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ แม้รัชกาลที่ 9 จะสวรรคตไปแล้ว การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจากเป็นการกระทำที่กระทบต่อรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นพระราชโอรส และทรงครองราชย์อยู่ในปัจจุบันทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ต่อมาวันที่ 21 มกราคม 2568 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
3. คดีของ ‘ไวรัส’ ตั้งคำถามรัชกาลที่ 9
‘ไวรัส’ (นามสมมติ) เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยวัย 34 ปี ถูกฟ้องว่า โพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊กและติ๊กต่อกรวมห้าข้อความ ซึ่งเขารับสารภาพไปสองข้อความ และให้การปฏิเสธสามข้อความ หนึ่งในข้อความที่เขาปฏิเสธ เป็นการโพสต์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 เป็นการตั้งคำถามกับประชาชนเกี่ยวกับการนำเงินของหมู่บ้านมาบำรุงรักษาศาลาที่รัชกาลที่ 9 ผูกเชือกฉลองพระบาทเป็นที่แรก โดยจำเลยต่อสู้ว่า บทบัญญัติ มาตรา 112 คุ้มครองเพียงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน
ศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ว่า โพสต์ของจำเลยทำให้เข้าใจว่า บุคคลในภาพสร้างภาพ ไม่มีวุฒิภาวะ เป็นการดูหมิ่น การหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ย่อมกระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน หากไม่หมายความรวมถึงอดีตกษัตริย์ย่อมเป็นการเปิดช่องให้พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันถูกดูหมิ่นได้ แม้อดีตพระมหากษัตริย์สวรรคตไปแล้วก็ยังคงมีประชาชนเคารพสักการะ จึงกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน ส่งผลต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร
4. คดีของเกียรติชัย ปราศรัยถึงรัชกาลที่ 7
เกียรติชัย หรือ บิ๊ก อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกฟ้องว่า ปราศรัยในการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ที่สกายวอล์คแยกปทุมวัน โดยเป็นการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5, 7 และ 10 ว่า ถึงจะมีการเลิกทาสไปแล้ว แต่ประชาชนยังคงถูกกดขี่ ทำให้โง่และกลัว ไม่กล้าทวงสิทธิที่ตัวเองมี การที่หนังสือเรียนระบุว่า รัชกาลที่ 7 เป็นกษัตริย์ประชาธิปไตยนั้นไม่เป็นความจริง เป็นข่าวปลอม
24 มีนาคม 2568 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่า มาตรา 112 ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ แสดงให้เห็นว่า แม้คำปราศรัยกระทบพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท พระองค์เดียวก็กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ แม้อำนาจอธิปไตยจะเป็นของประชาชน แต่พระมหากษัตริย์ยังคงเป็นประมุข การสืบราชสันตติวงศ์โดยเฉพาะราชวงศ์จักรี สืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ การดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายอดีตพระมหากษัตริย์ ก็ยังเป็นความผิดตามมาตรา 112 การปราศรัยกระทบอดีตพระมหากษัตริย์ก็กระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน
หมิ่นอดีตกษัตริย์ จะผิดเมื่อกระทบมาถึงกษัตริย์องค์ปัจจุบัน
ข้อสังเกตต่อการให้เหตุผลในคำพิพากษาทั้งสี่คดี คือ เมื่อศาลต้องการจะพิพากษาให้ลงโทษการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว ศาลก็ทราบดีว่า หลักการตีความกฎหมายอาญาจะต้องตีความโดยเคร่งครัด และต้องยึดตามตัวบทกฎหมายเท่านั้น จะเอาผิดการกระทำที่กฎหมายไม่ได้กำหนดห้ามไว้ไม่ได้ ศาลจึงต้องพยายามเขียนเหตุผลโดยอาศัยคำอธิบายอยู่สองรูปแบบ
รูปแบบแรก ตามตัวอักษรบนพื้นหลังสีเขียว คือ ศาลต้องพยายามยึดเกาะกับตัวบทเท่าที่มาตรา 112 เขียนไว้ โดยศาลให้เหตุผลว่า มาตรา 112 คุ้มครอง “พระมหากษัตริย์” โดยไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งเป็นการพยายามแสดงออกถึงการยึดถือตัวบทกฎหมาย แต่เป็นการให้เหตุผลที่ไม่ได้ยึดหลักการตีความกฎหมายโดยเคร่งครัดอย่างแท้จริง เพราะเมื่อกฎหมายไม่ได้เขียนว่า คุ้มครองพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันหรือในอดีต ก็ควรต้องตีความอย่างแคบ และคุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ในเวลาที่การกระทำของจำเลยเกิดขึ้นเท่านั้น เมื่อตัวบทกฎหมายไม่ได้เขียนคุ้มครองพระมหากษัตริย์ในอดีต การตีความโดยเคร่งครัดก็ไม่อาจคุ้มครองไปถึงพระมหากษัตริย์ในอดีตได้
รูปแบบที่สอง ตามตัวอักษรบนพื้นหลังสีเหลือง คือ ศาลพยายามจะอธิบายว่า ไม่ได้ตีความเกินไปกว่าตัวบท ด้วยการอธิบายว่า การกระทำของจำเลยไม่ว่าจะกล่าวถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ใด ก็มีความเกี่ยวโยงกับพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน และทำให้พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันนั้นเสื่อมเสียไปด้วย ซึ่งหมายความว่า ศาลพยายามยึดถือตัวบทและยอมรับแล้วว่า ตัวบทของมาตรา 112 นั้นคุ้มครองพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน จึงต้องอธิบายเชื่อมโยงมาให้ถึงว่า การกระทำของจำเลยทำให้พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันเสื่อมเสียพระเกียรติ ซึ่งการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ในอดีตแต่ละพระองค์ในแต่ละครั้งจะกระทบต่อพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันได้จริงหรือไม่ ก็อาจเห็นแตกต่างกันไปได้ตามบริบทของการกระทำแต่ละครั้ง
อย่างไรก็ดี หากศาลเลือกหยิบยกวิธีการให้เหตุผลตามรูปแบบใดแบบหนึ่งก็น่าจะเพียงพอที่จะแสดงออกว่า ศาลพยายามยึดเกาะการตีความจากตัวบทกฎหมาย ไม่ใช่การคิดค้นความผิดขึ้นเอง แต่การให้เหตุผลทั้งสองรูปแบบอาจมีความ “ย้อนแย้ง” โดยเฉพาะในคดีของ ‘วุฒิภัทร’ และคดีของเกียรติชัยที่ศาลใช้การให้เหตุผลทั้งสองรูปแบบไว้ในคำพิพากษาฉบับเดียว เพราะหากในคดีหนึ่งๆ ศาลยืนยันว่า มาตรา 112 ไม่ได้จำกัดการคุ้มครองพระมหากษัตริย์แล้ว การหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมถูกลงโทษได้แล้ว ศาลก็ไม่มีความจำเป็นอีกที่จะต้องอธิบายว่า การหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์นั้นกระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร
ความพยายามของศาลทั้งสี่คดีที่จะอธิบายย้ำว่า การกล่าวถึงอดีตพระมหากษัตริย์นั้นกระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน เป็นการตอกย้ำว่า ศาลเองก็รู้อยู่แล้วว่า ลำพังของตัวบทมาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองอดีตพระมหากษัตริย์ การกล่าวถึงอดีตพระมหากษัตริย์โดยลำพังนั้นไม่สามารถลงโทษตามมาตรา 112 ได้ แต่ต้องเข้าลักษณะที่ทำให้กระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันด้วย จึงจะเป็นความผิดได้
ยังมีคดีที่ศาลยกฟ้อง ยืนยันมาตรา 112 คุ้มครองกษัตริย์ในปัจุบัน
คดีตามมาตรา 112 ในยุคปี 2563-2568 แม้ว่าคดีที่ศาลยกฟ้องจะมีอัตราส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของคดีที่จำเลยตัดสินใจต่อสู้คดีเท่านั้น และคดีที่ศาลยกฟ้องส่วนใหญ่เพราะศาลไม่เชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำตามที่ถูกฟ้องจริง เพราะหลักฐานโจทก์ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ แต่ก็ยังมีอยู่บ้างที่ศาลยกฟ้องโดยตีความว่า สิ่งที่จำเลยกล่าวนั้นไม่เป็นความผิด และมีอย่างน้อยสองคดีที่ศาลวินิจฉัยว่า การกล่าวถึงอดีตพระมหากษัตริย์ ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112
1. คดี “อุดม” ไม่ได้เอ่ยพระนามใครตรงๆ
‘อุดม’ อายุ 34 ปี คนงานโรงงานชาวปราจีนบุรี ที่ต้องเดินทางไปต่อสู้คดีไกลถึงนราธิวาส ถูกฟ้องว่า โพสต์และแชร์เฟซบุ๊กรวมจำนวนเจ็ดข้อความ โดยศาลจังหวัดนราธิวาส เห็นว่ามีความผิดสองข้อความ ให้ลงโทษจำคุกสี่ปี คดีนี้จำเลยต่อสู้ว่า อีกห้าข้อความที่ถูกฟ้องไม่เป็นความผิด เพราะเขาไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาท-ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ไม่ได้มีการเอ่ยนามบุคคลใด โดยบางข้อความพยานโจทก์ที่มาให้ความเห็นอ่านแล้วตีความได้ว่าหมายถึงรัชกาลที่ 9
ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ยกฟ้อง 4 ข้อความ ด้วยเหตุผลว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร มีเจตนาเพื่อคุ้มครองบุคคลใน 4 ตำแหน่งเป็นพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป โดยต้องเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน ไม่รวมถึงพระมหากษัตริย์ในอดีต ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
2. คดีโจเซฟปราศรัยถึงรัชกาลที่ 1
โจเซฟเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ถูกฟ้องจากกรณีร่วมปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2565 บริเวณอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ โดยในคำปราศรัยของโจเซฟมีการกล่าวถึงรัชกาลที่ 1 ไม่มีการกล่าวถึงรัชกาลที่ 10
27 ธันวาคม 2566 ศาลอาญาธนบุรี พิพากษาว่า คำกล่าวของจำเลยเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ว่าพระมหากษัตริย์มีเมียหลายคนหรือมีการแย่งชิงทรัพย์สมบัติกันก็เป็นเรื่องทั่วไป ส่วนที่จำเลยกล่าวถึงสาเหตุการตายของพระเจ้าตากสินก็เป็นข้อมูลที่ไม่มีข้อยุติทางประวัติศาสตร์ การกล่าวถึงเทพอวตารไม่ได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง โดยจำเลยได้ให้ผู้ฟังที่เป็นประชาชนไปคิดเองต่อ พิพากษาให้ยกฟ้องในข้อหามาตรา 112 ของโจเซฟ
อย่างไรก็ดี ในคดีของโจเซฟ ศาลอาญาธนบุรีไม่ได้ยืนยันว่า การกล่าวถึงรัชกาลที่ 1 หรืออดีตพระมหากษัตริย์ไม่เป็นความผิด ศาลเพียงเห็นว่า ข้อความที่โจเซฟ กล่าวทั้งหมดนั้นยังไม่เป็นความผิด ในทางตรงกันข้ามศาลยังกล่าวเป็นนัยไว้ในคำพิพากษาว่า การกล่าวถึงอดีตพระมหากษัตริย์อาจจะเป็นความผิดก็ได้ โดยศาลระบุว่า แม้การกระทำความผิดจะกระทบต่อกษัตริย์เพียงพระองค์เดียว ย่อมส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งประเทศไทยปกครองโดยพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนกระทั่งถึงระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ยังคงได้รับการเคารพสักการะให้ทรงเป็นประมุขของประเทศ ทรงงานโดยใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภา อำนาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการผ่านทางศาล มีการสืบราชสันตติวงศ์ตามรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนทุกคนยังคงผูกพันกับสถาบันกษัตริย์ตลอดมา