บช.พิทักษ์คุณธรรม
เหมือนเป็นการจุดประกาย กระแสข่าวการตั้ง "กองบัญชาการใหม่" ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เมาธ์ๆ กันในรั้ว "กรมปทุมวัน" ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ให้ดูมีน้ำหนัก ดูมีความสอดคล้องกันเพิ่มขึ้น
หลังจาก บิ๊กกอล์ฟ-พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง ผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล มีหนังสือแจ้งเวียนลงวันที่ 2 ก.ค. 2568 ส่งถึง ผบช.และ จตร. (หน.จต.) หรือตำแหน่งเทียบเท่า ผบก.ในสังกัด สง.ผบ.ตร. หรือตำแหน่งเทียบเท่า เรื่องแบบสำรวจความสมัครใจข้าราชการตำรวจช่วยราชการ (เพิ่มเติม)
มีเนื้อหา "ตามหนังสือ สกพ.ด่วนที่สุด ที่ 0009.231/6016 ลง 29 พ.ค. 68 ประสานหน่วยต่างๆสำรวจความสมัครใจข้าราชการตำรวจระดับ รอง ผกก. ลงมาถึง ผบ.หมู่ ที่มีความประสงค์และสมัครใจช่วยราชการที่ สง.ผบ.ตร.เพื่อปฏิบัติหน้าที่นิติกร ในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของ ก.พ.ค.ตร.นั้น
เนื่องจาก ก.พ.ค.ตร.ยังมีความประสงค์ที่จะให้มีข้าราชการตำรวจไปปฏิบัติหน้าที่ให้เพียงพอกับปริมาณงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ก.พ.ค.ตร. ดังนั้น เพื่อให้การแก้ปัญหาทันต่อสถานการณ์และสอดคล้องกับปริมาณงานของ ก.พ.ค.ตร. และไม่ให้เกิดข้อบกพร่องเสียหายต่อการปฏิบัติราชการในภาพรวมของ ตร.
จึงเรียนมายังท่านได้โปรดแจ้งประชาสัมพันธ์ข้าราชการตำรวจระดับ รอง ผกก.ลงมาถึง ผบ.หมู่ในสังกัด โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติหน้าที่งานสอบสวนในหน่วยงานที่มิใช่สถานีตำรวจ รวมถึงข้าราชการตำรวจที่สำเร็จการศึกษาระดับไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางกฎหมาย ที่มีความประสงค์และสมัครใจช่วยราชการที่ สง.ก.ตร. เพื่อปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติงานของ ก.พ.ค.ตร. ….ภายในวันอังคารที่ 15 ก.ค. 68"
เพราะข่าวที่สะพัดออกมานั้น "กองบัญชาการ" ที่จะตั้งขึ้นใหม่ อาจจะใช้ชื่อ "กองบัญชาการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ" หรือชื่อกองบัญชาการที่ใกล้เคียงทำนองนี้
เพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานของ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ซึ่งกำลังได้รับความเชื่อถือ
เป็นความหวังของ "ตำรวจ" ไร้เส้น ไร้สาย ในการต่อสู้ทวงความยุติธรรม
แต่ ก.พ.ค.ตร. กลับไม่มี "กำลังพล" สนับสนุนการทำงานโดยตรง เพราะกฎหมายกำหนดให้ ก.พ.ค.ตร.มีจำนวน 7 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี
โดยอำนาจหน้าที่ของ ก.พ.ค.ตร. อาทิ เสนอแนะต่อ ก.ตร. เพื่อให้ ก.ตร.จัดให้มีหรือปรับปรุงนโยบายการบริหารงานบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับพิทักษ์ระบบคุณธรรม, พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์, พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์, พิจารณาเรื่องคุ้มครองระบบคุณธรรม, ออกกฎ ก.พ.ค.ตร.ระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการเพื่อปฏิบัติ เป็นต้น
พออำนาจหน้าที่กว้างขวาง การแสวงหาข้อมูล ข้อเท็จจริง ก็ต้องใช้ กำลังพลในการทำงาน แม้จะตั้งอนุ ก.พ.ค.ตร. ขึ้นมาช่วยเสริม ช่วยกลั่นกรอง แต่ก็ไม่มีมดงานในการขับเคลื่อน เลยต้องขอกำลัง "ตำรวจ" มาช่วยราชการเหมือนที่ ผบช.กอล์ฟประกาศรับผู้สมัครใจ
หากมีการตั้ง "กองบัญชาการ" ที่มาทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับ ก.พ.ค.ตร.ก็น่าจะดี น่าจะมีประโยชน์ต่อตำรวจที่รอความเป็นธรรม
บช.แห่งใหม่นี้ จะตั้งทันยุค "ผบ.ต่าย" หรือไม่…ลุ้นกัน.