โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

เปิดรายชื่อ ‘ตัวตึง’ พันธมิตร-กปปส. ใครจ่อได้ ‘นิรโทษกรรม’ หากร่างรวมไทยสร้างชาติผ่าน

iLaw

อัพเดต 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา • iLaw

จากกระแสการกลับมาของ "ม็อบธงชาติ" ที่เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่ง รวมถึงเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลทันที ทำให้ภาพในวันที่เคยมีการชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรีนามสกุล "ชินวัตร" สองคนก่อนหน้านี้ย้อนกลับมา ที่สำคัญคือ เรายังได้เห็น "คนหน้าเดิมๆ" ออกมาร่วมเคลื่อนไหวอีกครั้ง อาทิ สนธิ ลิ้มทองกุล, สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม, อัญชะลี ไพรีรัก, ประพันธ์ คูณมี เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน สภาผู้แทนราษฎรก็กำลังมีกำหนดจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมคดีการเมืองทั้ง 4 ฉบับ เมื่อเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 หลังประกาศเลื่อนกฎหมาย "คาสิโน" ออกไป โดยร่างกฎหมายที่จะถูกนำกลับมาพิจารณาประกอบไปด้วย ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน จากเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม, ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ของพรรคก้าวไกล ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุขของพรรครวมไทยสร้างชาติ และ ของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เปรียบเทียบร่างกฎหมายนิรโทษกรรม-สร้างเสริมสังคมสันติสุข 4 ฉบับ)

ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข เสนอโดยสส. พรรครวมไทยสร้างชาติ และกำลังจะกลายเป็น "ร่างหลัก" เนื่องจากคณะรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยไม่ได้นำเสนอร่างฉบับอื่นเข้ามาด้วย จึงเป็นร่างฉบับเดียวจากพรรคร่วมรัฐบาลที่มีอยู่ ซึ่งเนื้อหาของร่างนี้ต้องการจะยุติการดำเนินคดีทางการเมืองมี ‘กรอบเวลา’ ย้อนกลับไปไกลที่สุด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2565 โดยยกเว้น คดีมาตรา 112, คดีทุจริต, และคดีฆ่าคนตายหรือทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ชีวิต

กรอบระยะเวลานิรโทษกรรมของร่างทั้งสี่ฉบับ

ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งสี่ฉบับกำหนดกรอบระยะเวลาไว้แตกต่างกัน ดังนี้

ช่วงเวลาที่เริ่มต้นนิรโทษกรรม ช่วงเวลาที่สุดท้ายที่จะนิรโทษกรรม ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน (เสนอโดยประชาชน 19 กันยายน 2549 วันที่พ.ร.บ.ประกาศใช้ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง (เสนอโดยพรรคก้าวไกล) 11 กุมภาพันธ์ 2549 วันที่พ.ร.บ.ประกาศใช้ ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข (เสนอโดยพรรคครูไทยเพื่อประชาชน) 19 กันยายน 2549 30 พฤศจิกายน 2565 ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข (เสนอโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ) พ.ศ. 2548 พ.ศ. 2565

ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เสนอให้เริ่มต้นการนับกรอบเวลาความขัดแย้งจากวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ด้านร่างฉบับพรรคก้าวไกลนับย้อนกลับไปตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งเป็นช่วงที่การชุมนุมต่อต้านทักษิณ ชินวัตร เริ่มยกระดับเป็นการชุมนุมใหญ่ในนาม ‘พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ ในส่วนของร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุขที่เสนอโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ กำหนดให้การนิรโทษกรรมเริ่มต้นตั้งแต่ ปี 2548 ซึ่งเป็นช่วงที่พรรคไทยรักไทยเพิ่งชนะเลือกตั้งและเริ่มมีการชุมนุมกดดันให้ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ป

ส่วนกรอบเวลาสิ้นสุดนั้น ร่างของภาคประชาชนและพรรคก้าวไกลครอบคลุมไปถึงวันที่กฎหมายประกาศใช้ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่ากฎหมายนี้จะได้ประกาศใช้จริงเมื่อใด แต่ร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ จะสิ้นสุดเพียงแค่ ปี 2565 เท่านั้น ทำให้คดีการเมืองที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรมไปด้วย ในขณะที่คดีความผิดที่เกิดขึ้นก่อนหน้า โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการชุมนุมใหญ่ในอดีตนับตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ อาจเข้าเงื่อนไขในการนิรโทษกรรมได้ทั้งหมด

จากการตีกรอบเวลาทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ข้อเสนอของพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น "ใส่ใจ" การชุมนุมในอดีต ย้อนไปถึงยุคสมัยของพันธมิตรฯ และก่อนหน้านั้น แต่ "ไม่สนใจ" การชุมนุมในยุคหลังโดยเฉพาะการแสดงออกของประชาชนที่อาจเกิดขึ้นต่อรัฐบาลที่พวกเขาสังกัดอยู่ในตอนนี้

จึงอยากชวนดูรายชื่อแกนนำ ‘ตัวตึง’ จากยุคสมัยการชุมนุมของพันธมิตรฯ และกปปส. ที่ใช้แนวทางการชุมนุมแบบ "ปักหลักยืดเยื้อ" เพื่อรบกวนการใช้ชีวิตอันปกติสุขของประชาชนทั่วไป ขัดขวางการทำงานของรัฐบาล และมีแววว่าจะได้รับการนิรโทษกรรม หากร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ของพรรครวมไทยสร้างชาติผ่านการพิจารณาได้สำเร็จ

กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ “กลุ่มเสื้อเหลือง”

ปลายปี พ.ศ. 2548 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พันธมิตรฯ) เป็นกลุ่มคนที่ออกมาขับไล่รัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร ซึ่งยุติบทบาทลงภายหลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) รัฐประหารยึดอำนาจอดีตนายกฯ ทักษิณ ในวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่ต่อมาในเดือน กันยายน 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศการชุมนุมใหญ่อย่างต่อเนื่อง เพื่อขับไล่รัฐบาลของพรรคพลังประชาชน มีการเคลื่อนขบวนแบบดาวกระจาย เข้าปิดล้อมรัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล บุกยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) รวมถึงการเข้ายึดพื้นที่สนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน

ตัวอย่างคดีความจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ

ในช่วงเวลาที่กลุ่มพันธมิตรฯเคลื่อนไหว มีผู้ถูกดำเนินคดีประมาณ 200 คน โดยส่วนใหญ่เป็นข้อหาจากการชุมนุม เช่น คดีกบฏและก่อการร้ายจากเหตุการณ์ปิดสนามบิน คดีบุกรุกสถานที่ราชการจากการยึดทำเนียบรัฐบาล คดียุยงปลุกปั่นจากการปิดล้อมรัฐสภา คดีอั้งยี่-ซ่องโจร, บุกรุก และทำให้เสียทรัพย์จากการบุกยึดสถานีโทรทัศน์ NBT

คดีสำคัญและรายชื่อแกนนำที่ถูกดำเนินคดีในช่วงการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ อาทิ

คดีกลุ่มพันธมิตรฯบุกทำเนียบรัฐบาล ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกโดยกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ผู้ที่ถูกดำเนินคดีประกอบด้วย

  • พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

  • สนธิ ลิ้มทองกุล

  • พิภพ ธงไชย

  • สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์

  • สมศักดิ์ โกศัยสุข

  • สุริยะใส กตะศิลา

ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกแกนนำทั้ง 6 คน คนละ 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

คดีพันธมิตรปิดสนามบิน ในความผิดฐานเป็นกบฏ-ก่อการร้ายฯ และ บุกรุกสถานที่ราชการและฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้ที่ถูกดำเนินคดีประกอบด้วย

  • พล.ต. จำลอง ศรีเมือง

  • สนธิ ลิ้มทองกุล

  • พิภพ ธงไชย

  • สมศักดิ์ โกศัยสุข

  • สุริยะใส กตะศิลา

  • ศิริชัย ไม้งาม

  • สำราญ รอดเพชร

  • มาลีรัตน์ แก้วก่า

  • สาวิทย์ แก้วหวาน

  • สันธนะ ประยูรรัตน

  • ชนะ ผาสุกสกุล

  • อมร อมรรัตนานนท์ หรือรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี

  • บริษัท เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด

ศาลอาญาพิพากษาปรับแกนนำและแนวร่วม 13 คน คนละ 20,000 บาท ในข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการและฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมยกฟ้องจำเลยทั้งหมดในข้อหากบฏ ก่อการร้าย และข้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง

นอกเหนือจากนั้น 25 มีนาคม 2554 ศาลแพ่งยังมีคำพิพากษาให้แกนนำทั้ง 13 คนมีความผิดในข้อหาละเมิดกรณีนำกลุ่มผู้ชุมนุมปิดสนามบินสุวรรณภูมิ และ ดอนเมือง ปี 2551 พร้อมให้ชดใช้ความเสียหายจำนวนกว่า 522 ล้านบาท ซึ่งจำเลยไม่ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวจึงถูกกรมบังคับคดีอายัดทรัพย์สิน

คดีชุมนุม "ดาวกระจาย" ขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ในความผิดฐานมั่วสุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามมาตรา 66 ผู้ที่ถูกดำเนินคดีประกอบด้วย

  • พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

  • สนธิ ลิ้มทองกุล

  • พิภพ ธงไชย

  • สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์

  • สมศักดิ์ โกศัยสุข

  • สุริยะใส กตะศิลา

  • ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์

  • อมร อมรรัตนานนท์ หรือรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี

  • เทิดภูมิ ใจดี

31 สิงหาคม 2564 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, นายอมร อมรรัตนานนท์ และนายเทิดภูมิ ใจดี คนละ 1 ปี ส่วนแกนนำอีก 6 คนที่เหลือในคดีนี้ศาลฎีกายกฟ้องเนื่องจากเป็นการฟ้องจำเลยซ้ำกับคดี พธม. บุกรุกทำเนียบรัฐบาล

คดีบุกยึดสถานีโทรทัศน์ NBT ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุก มั่วสุม สร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง อั้งยี่ซ่องโจรฯ ผู้ที่ถูกดำเนินคดีประกอบด้วย

  • สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์

  • อัญชะลี ไพรีรัก

  • ภูวดล ทรงประเสริฐ

  • ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที

  • ชิติพัทธ์ ลิ้มทองกุล

  • ธเนศร์ คำชุม กับพวกรวม 85 คน

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ จำคุก นายธเนศร์ คำชุม กับพวกรวม 85 คนในข้อหาบุกรุก มั่วสุม และทำให้เสียทรัพย์ และยกฟ้องในข้อหาอั้งยี่ซ่องโจรฯ

ในส่วนของแกนนำทั้ง 5 คนศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุก นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 2 ปี และจำคุก นางอัญชะลี ไพรีรัก, นายภูวดล ทรงประเสริฐ, นายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที, นายชิติพัทธ์ ลิ้มทองกุล คนละ 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา

กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)

กลุ่ม กปปส. ก่อตั้งขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ. 2556 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อขับไล่รัฐบาลของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และปฏิรูปประเทศไทยก่อนการเลือกตั้ง โดยมีแกนนำหลักคือ สุเทพ เทือกสุบรรณ และกลุ่มอดีตสส. ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ลาออกจากตำแหน่งมาเพื่อนำการชุมนุม การชุมนุมของ กปปส. มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและยืดเยื้อหลายเดือน มีการปิดถนนสายหลักในกรุงเทพฯ ใช้ชื่อเรียกกิจกรรมตอนนั้นว่า Shut Down Bangkok และบุกยึดสถานที่ราชการสำคัญหลายแห่ง จนนำไปสู่การยุบสภา จากนั้นมีการชุมนุมเพื่อขัดขวางไม่ให้การเลือกตั้งดำเนินไปได้ตามปกติ และตามมาด้วยการทำรัฐประหารโดย คสช. ในปี 2557

ตัวอย่างคดีความจากการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.

จากการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ในช่วงปี พ.ศ. 2556-2557 มีแกนนำและผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีประมาณ 221 คน โดยส่วนใหญ่เป็นคดีจากการชุมนุมในข้อหากบฏ, ก่อการร้าย, ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116), บุกรุกสถานที่ราชการ, ขัดขวางการเลือกตั้ง และความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

คดีสำคัญและรายชื่อแกนนำที่ถูกดำเนินคดีในช่วงการเคลื่อนไหวของกลุ่มกปปส. เช่น

คดีกบฏและก่อการร้าย คดีหลักของการชุมนุมยุคนี้ในฐานความผิดร่วมกันยุยงให้เกิดการร่วมกันหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาล, ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาอันมิใช่ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ, ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยผู้ใดผู้หนึ่งมีอาวุธเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก, ร่วมกันบุกรุกสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น, ร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันกระทำการใดโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิได้ ผู้ที่ถูกดำเนินคดีประกอบด้วย

  • สุเทพ เทือกสุบรรณ

  • ชุมพล จุลใส

  • พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์

  • อิสสระ สมชัย

  • ถาวร เสนเนียม

  • ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ

  • สมศักดิ์ โกศัยสุข

  • สุวิทย์ ทองประเสริฐ (พุทธะอิสระ)

  • เรือตรี แซมดิน เลิศบุศย์

  • คมสัน ทองศิริ

  • สาวิทย์ แก้วหวาน

  • สุริยะใส กตะศิลา

  • สำราญ รอดเพชร

  • อมร อมรรัตนานนท์

  • วิทยา แก้วภราดัย

  • เอกนัฏ พร้อมพันธ์

  • อัญชะลี ไพรีรัก

  • สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์

  • ถนอม อ่อนเกตุพล

  • สาธิต เซกัลป์

  • พลอากาศโท วัชระ ฤทธาคนี

  • พลเรือเอก ชัย สุวรรณภาพ

  • มั่นแม่น กะการดี

  • พิเชษฐ พัฒนโชติ

  • กิตติชัย ใสสะอาด

  • ทยา ทีปสุวรรณ

ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาในคดีแกนนำ กปปส. โดยตัดสินจำคุกสุเทพ เทือกสุบรรณ ถูกจำคุก 5 ปี, ชุมพล จุลใส 9 ปี 24 เดือน, พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 7 ปี, อิสสระ สมชัย 7 ปี 16 เดือน, ถาวร เสนเนียม 5 ปี, ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 6 ปี 16 เดือน และสุวิทย์ ทองประเสริฐ (พุทธะอิสระ) 4 ปี 8 เดือน

นอกจากนี้ ศาลยังสั่งตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี สำหรับ ชุมพล จุลใส, อิสสระ สมชัย, ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, สุวิทย์ ทองประเสริฐ, เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์, สำราญ รอดเพชร และทยา ทีปสุวรรณ จำเลยที่เหลือศาลเห็นว่าเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุม หรือเป็นแกนนำแต่กระทำความผิดน้อยกว่า และไม่ปรากฏพฤติการณ์รุนแรง หรือไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้ รอการลงโทษเป็นเวลา 2 ปี

คดีขัดขวางการเลือกตั้ง ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ โดยมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ อั้งยี่ซ่องโจรฯ ขัดขวางการเลือกตั้ง และบุกรุกสถานที่ราชการ ผู้ที่ถูกดำเนินคดีประกอบด้วย

  • สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม

  • สกลธี ภัททิยกุล

  • สมบัติ ธำรงธัญวงศ์

  • เสรี วงศ์มณฑา

ในคดีนี้ศาลชั้นต้นเคยพิพากษายกฟ้อง แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้กลับคำตัดสินบางส่วน โดยพิพากษาว่าสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม มีความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. และให้จำคุก 1 ปี โดยลดโทษให้หนึ่งในสามเหลือจำคุก 8 เดือน และไม่รอลงอาญา พร้อมมีคำสั่งให้ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี

จับตาสภาพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม คดีพันธมิตร-กปปส.

จากการพิจารณาเงื่อนไขของร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีกรอบเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 - 2565 และครอบคลุมทั้งคดีอาญาและความรับผิดทางแพ่งต่อหน่วยงานของรัฐ แต่ยกเว้นคดี 112, ทุจริต, และอาญาร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าหรือทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ชีวิต ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า แกนนำตัวตึงจากทั้งกลุ่มพันธมิตรฯ และ กปปส. ที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมประท้วง เป็นกลุ่มคนกลุ่มหลักที่ได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมครั้งนี้เป็นหลัก โดยเฉพาะผู้ที่มีคำพิพากษาคดีแพ่งให้ต้องชดใช้ค่าเสียหายมหาศาลแก่หน่วยงานรัฐ เช่น การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เป็นต้น

สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ การนิรโทษกรรมไม่ได้เป็นความหวังของกลุ่มพันธมิตรฯ หรือ กปปส. เท่านั้น เพราะยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ถูกดำเนินคดีจากการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองและกำลังรอการนิรโทษกรรมอยู่เช่นกัน ทั้งกลุ่มคนเสื้อแดง (นปช.) กว่า 1,150 คน และการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีคนกว่า 1,683 คน ถูกดำเนินคดี หากการนิรโทษกรรมจะเป็นไปเพื่อสร้างสังคมสันติสุขตามชื่อร่างพ.ร.บ.จริง การที่ร่างฉบับของพรรครวมไทยสร้างชาติกำหนดกรอบเวลาสิ้นสุดไว้ที่ปี พ.ศ. 2565 และ ยังคงยกเว้นคดีมาตรา 112 ทำให้คดีการเมืองที่เกิดขึ้นหลังปี 2563 ซึ่งส่วนใหญ่เผชิญข้อหา มาตรา 112 และข้อหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากกรอบเวลาดังกล่าว และทำให้การพยายามนิรโทษกรรมในรอบนี้เป็นไปแบบ "เลือกข้าง" ช่วยเฉพาะบางกลุ่มและทิ้งอีกกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก iLaw

ศาลตีความมาตรา 112 ขยายขอบเขตเอาผิดการหมิ่นอดีตกษัตริย์ (ในบางคดี)

5 ชั่วโมงที่ผ่านมา

เปิดขั้นตอน-เงื่อนไข อภิปรายไม่ไว้วางใจ ตรวจสอบรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญ 2560

1 วันที่แล้ว

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความยอดนิยม