Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ 32.39-มีโอกาสผันผวนอ่อนค่า-ติดตามนโยบายการค้าสหรัฐฯ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยมองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.10-33.00 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.30-32.50 บาท/ดอลลาร์ จากระดับเปิดเช้านี้(7ก.ค.68)ที่ 32.39 บาทต่อดอลลาร์
“อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ณ ระดับ 32.36 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 32.33-32.40 บาทต่อดอลลาร์) สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวไร้ทิศทางที่ชัดเจน หรือ Sideways ของทั้งเงินดอลลาร์และราคาทองคำ โดยผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะแนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีการประกาศอัตราภาษีนำเข้าใหม่ในเร็ววันนี้ หลังครบกำหนดพักมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ในวันที่ 9 กรกฎาคม ทั้งนี้ เงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ในช่วงเช้าของตลาดการเงินเอเชีย ตามการทยอยปรับตัวลดลงของราคาทองคำเข้าใกล้โซนแนวรับระยะสั้นอีกครั้ง
สัปดาห์ที่ผ่านมา มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด หนุนให้เงินดอลลาร์รีบาวด์สูงขึ้น
สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอลุ้น การประกาศอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ต่อบรรดาประเทศคู่ค้า หลังครบกำหนดการพักมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs)
สำหรับ แนวโน้มเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้ชะลอลง เปิดโอกาสให้เงินบาทเสี่ยงอ่อนค่าลงได้ ซึ่งเรามองว่า ในระยะสั้น เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลง หากทางการสหรัฐฯ ปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้ากับสินค้าไทย จากระดับปัจจุบันที่ถูกเรียกเก็บในอัตรา 10% (Universal Tariffs) ซึ่ง เรามองว่า ทางการสหรัฐฯ อาจเลือกที่จะประกาศอัตราภาษีนำเข้าใหม่ในลักษณะ 10%, 20% (เรียกเก็บกับสินค้านำเข้าจากเวียดนามล่าสุด) และ 30% (ซึ่งเรียกเก็บกับสินค้านำเข้าจากจีน) และหากประเมินจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนามล่าสุด เรามองว่า สินค้าไทยก็เสี่ยงเผชิญอัตราภาษีนำเข้าในระดับ 20% เช่นกัน (30%-40% สำหรับสินค้าเสี่ยงมีการสวมสิทธิ์ หรือ Transshipment) ซึ่งหากเทียบเคียงกับช่วงสหรัฐฯ ประกาศมาตรการภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่ไทยเผชิญอัตราภาษีที่สูงถึง 36% กดดันให้เงินบาททยอยอ่อนค่าลงในช่วง 2%-3% ภายในระยะสั้น ทำให้ เรามองว่า หากไทยเผชิญอัตราภาษีนำเข้าใหม่ที่สูงเกิน 10% ก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ไม่ยาก แม้อาจไม่ได้อ่อนค่าหนักเท่ากับช่วงการประกาศ Reciprocal Tariffs ก็ตาม อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนบ้าง หากราคาทองคำทยอยปรับตัวสูงขึ้นบ้าง ในกรณีที่ตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากความกังวลนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเงินบาท (USDTHB) ยังมีโซนแนวต้านแถว 32.65-32.75 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป 32.90-33.00 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนโซนแนวรับจะอยู่แถว 32.30-32.40 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 32.10 บาทต่อดอลลาร์)
อนึ่ง เมื่อประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following เงินบาทจะกลับมาอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่าลงอีกครั้ง หากสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 32.70-32.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้ชัดเจน (หรืออ่อนค่าทะลุเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน)
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้ หนุนโดยการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินคู่ค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย ที่อาจเผชิญการเรียกเก็บภาษีนำเข้าใหม่ในอัตราที่สูงขึ้นจาก Universal Tariffs 10% ทั้งนี้ ทิศทางเงินดอลลาร์จะยังคงขึ้นกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและประเด็นเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO