โลกต้องเร่งสร้าง 293 เหมือง รับดีมานด์ยุคพลังงานสะอาด
ความต้องการแบตเตอรี่ที่เพิ่มขึ้นในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน จำเป็นต้องสร้างเหมืองใหม่จำนวน 293 แห่งภายในปี 2030 ตามการวิเคราะห์ของ Benchmark โดยลิเทียมมีแนวโน้มที่สำคัญที่สุดในอุตสาหกรรม โดยต้องมีเหมืองลิเทียม 52 แห่งภายในสิ้นทศวรรษ แม้จะเป็นรองทองแดงในแง่ของจำนวนเหมืองที่ต้องสร้างใหม่ แต่ซัพพลายของลิเทียมจะต้องเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับระดับในปัจจุบัน ตามการคาดการณ์ลิเทียมของ Benchmark
สำหรับทองแดงซึ่งใช้ในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่แบตเตอรี่ไปจนถึงสายไฟ จำเป็นต้องมีเหมืองใหม่ 61 แห่งภายในปี 2030 ส่วนแมงกานีสซัลเฟตโมโนไฮเดรตความบริสุทธิ์สูง (High Purity Manganese Sulphate Monohydrate) ซัพพลายต้องเพิ่มขึ้นมากกว่าสามเท่าภายในห้าปี และต้องมีโรงงานใหม่ 21 แห่งเปิดดำเนินการ ตามรายงานแนวโน้มตลาดแมงกานีสซัลเฟตของ Benchmark
ข้อมูลจาก Benchmark’s Capital Tracker ระบุว่า จำเป็นต้องมีการลงทุนมูลค่า 285,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้วัตถุดิบสำคัญเพียงพอและพร้อมใช้งานภายในปี 2030 แม้ว่าหลายตลาดในปัจจุบันจะมีภาวะซัพพลายล้นตลาด
แต่การขาดแคลนในอนาคตที่คาดการณ์ไว้นั้นสูงกว่าปริมาณส่วนเกินในปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นปัญหา เพราะราคาที่ต่ำในปัจจุบันเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในวัตถุดิบที่จำเป็นเพื่อให้มีซัพพลายเพียงพอในอนาคต
ขณะที่กำลังการผลิตของแอโนด แคโทด (เป็นขั้วไฟฟ้าอิเล็กโทรด ที่ใช้ในวงจรไฟฟ้าและเซลล์ไฟฟ้าเคมี) และเซลล์แบตเตอรี่สามารถเริ่มผลิตได้ภายในเวลาไม่ถึง 5 ปี แต่ซัพพลายของวัตถุดิบอาจต้องใช้เวลานานถึง 25 ปีในการพัฒนาให้พร้อมใช้งาน
นอกจากนี้ ชาติตะวันตกกำลังดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานที่พึ่งพาจีน โดยซัพพลายของตลาดวัตถุดิบหลายชนิดในปัจจุบันขับเคลื่อนโดยการผลิตจากจีนเป็นหลัก หมายความว่า ชาติตะวันตกจำเป็นต้องลงทุนมากขึ้นเพื่อให้สามารถจัดหาวัตถุดิบเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศได้