ภาษีทรัมป์ 36% บอมบ์ไทย – “รัฐบาลอิ๊งค์” ไม่ได้ช้า?
ตื่นมาช็อคแต่เช้ากันถ้วนหน้าแบบทุกทิศทั่วไทยวันนี้ (8ก.ค.) กับ “จดหมายน้อย” จากทำเนียบขาวสหรัฐฯของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่แจ้งไปยัง14ประเทศ รวมถึง ไทย โดย “ทรัมป์” ได้เผยแพร่ภาพจดหมายที่ส่งถึงรัฐบาลไทยผ่านแพลตฟอร์ม Truth Social พร้อมรายชื่ออีก 7 ประเทศที่จะถูกตั้งกำแพงภาษีนำเข้า
อาทิ กัมพูชา อินโดนีเซีย บังกลาเทศ ตูนิเซีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา และเซอร์เบีย โดยประเทศไทย สหรัฐฯ ประกาศตั้งภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากไทย “อัตราคงที่ 36%” ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.68 เป็นต้นไป โดย ในจดหมายที่ส่งถึง “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รักษาการนายกไทย ทรัมป์ระบุ ว่า แม้ยินดีทำงานร่วมกับไทยในฐานะคู่ค้า แต่ “ไม่อาจทน ต่อการขาดดุลการค้าที่มีมาอย่างยาวนานและเรื้อรัง”
อันเกิดจาก “มาตรการภาษีและมิใช่ภาษี, นโยบาย และกำแพงทางการค้าของไทย” และว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศนั้น “ห่างไกลจากคำว่าตอบแทนซึ่งกันและกัน” โดยย้ำว่า การเก็บภาษี 36% เป็นเพียงจุดเริ่มต้น โดยจะเพิ่มขึ้นได้อีกหากไทยตอบโต้ด้วยการตั้งกำแพงภาษีกลับ
เรียกว่าจดหมายอย่างเป็นทางการดังกล่าวที่ “รัฐบาลอิ๊งค์ 2” ยังไม่มีการแถลงท่าทีอย่างเป็นทางการว่าจะเอายังไง ถูกหลายฝ่ายวิจารณ์ว่า ”ช้าแล้วช้าอีก” หรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า ดีลการเจรจาทางภาษีระหว่างไทย–สหรัฐฯ เกิดขึ้นมาแล้วหลายเดือนนับตั้งแต่ “ทรัมป์” รับตำแหน่งและประกาศมาตราการภาษีตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์2568 แต่ ”ทีมไทยแลนด์” โดย “พิชัย” เพิ่งมีโอกาสเจรจา ”รอบแรก” และออกมาบอกว่า “ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้” ก่อนถึงเส้นตายวันที่ 9 ก.ค.2-3 วัน
และก่อนที่ “ทรัมป์” จะส่งจม.ถึงไทย “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯและรมว.คลัง เพิ่งยื่น “ข้อเสนอใหม่”ไปให้สหรัฐฯ คือ มีสินค้าบางรายการของสหรัฐฯ ได้รับอัตราภาษี 0% แต่ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลที่สะท้อนถึง“ความล้มเหลว”ในการเจรจา
ที่แม้ “พิชัย” จะแจงว่า “ไม่ได้ช้า” และไทยยังลุ้นได้ต่อว่าสหรัฐจะลดจากอัตรา 36% แต่เรื่องนี้ส่งผลกระเพื่อมไปยังทุกฝ่าย ที่เรียกร้องให้ “รัฐบาลอิ๊งค์ 2” ภายใต้นายกรักษาการ “อ้วน ภูมิธรรม เวชชยชัย” แถลงทางการให้ความชัดเจนฉากทัศน์ข้างหน้า ว่าจะส่งผลกระทบเศรษฐกิจปากท้องประชาชนอย่างไร
หลังวันที่ 1ส.ค.68 ที่ “กูรูเศรษฐกิจ”หลายคนเริ่มออกมาเตือนรัฐบาลต้องหาทางหนีทีไล่ แล้ว เพราะ ไม่ใช่กระทบแค่“กลุ่มผู้ส่งออก”เท่านั้น หากแต่จะมีผลกระทบเป็นโดมิโน่ หลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้แรงงาน พ่อค้า แม่ค้ารายย่อย ธุรกิจ SME หรือแม้แต่เกษตรกร โดยสิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือ แรงงานในอุตสาหกรรมส่งออก, กลุ่ม SMEs ผู้ผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐ,กลุ่ม พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย กลุ่มเกษตรกร
อย่างที่ “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย โพสต์FB“เราคงต้องคิดเพิ่มว่าในช่วง 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าประเทศไทยจะเสนออะไรกลับไปอีกรอบ เพื่อให้พ้นจากจุดนี้ เพราะจากที่เวียดนามเจรจาลดลงมาได้ 46% เหลือ 20% แสดงว่าต้องมีหนทางเป็นกำลังใจให้กับทีมเจรจา ขณะที่ “กรณ์ จาติกวนิช” อดีต รมว.คลัง โพสFB ระบุว่า ไทยเจอภาษีตอบโต้สหรัฐเต็ม 36% นี่คือผลเจรจาที่เลวร้ายที่สุดที่เป็นไปได้ เพราะนอกจากไม่ได้ลดหย่อนจากที่สหรัฐประกาศไว้ เมื่อ 90 วันก่อน และเป็นอัตราที่สูงกว่าเวียดนามที่เจรจาลดลงได้กว่าครึ่ง
ซึ่งสหรัฐแจ้งมาว่าหากในอนาคตเราลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐลงเขาก็จะปรับภาษี ที่คิดกับเราลงตาม การเจรจากับ “ทรัมป์”เป็นเรื่องที่ยากมาก สหรัฐถือไพ่เหนือกว่าเราเป็นทุนเดิม และในขณะที่รัฐบาลเราหา win-win ขณะที่เขามองว่าเราเอาเปรียบมานานแล้วถึงเวลาที่เขาต้อง win คนเดียวบ้างเพื่อเป็นการชดเชย ซึ่งทีมเราอ่านเกมส์นี้ไม่ขาด คำถามคือในการเจรจาที่ผ่านมาเรายังพยายามปกป้องใครอยู่บ้าง? คุ้มหรือไม่กับความเดือดร้อนของผู้ส่งออก และการสูญเสียรายได้ของประเทศ?
โดย “กรณ์” ตั้งคำถามอีก ว่า ที่สำคัญคือรัฐบาลได้เตรียมแผนรองรับสถานการณ์นี้อย่างไร? อันดับแรกรัฐบาลควรทบทวนการพิจารณา งบประมาณปี 69 ทั้งหมด ทั้งแหล่งรายได้ และทั้งการใช้จ่าย หากรัฐบาลยังทำทุกอย่างเหมือนเดิมคนไทยจะเดือดร้อนหนักมาก อันดับที่สอง ควรระวังผลต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศ หากเราเริ่มขาดดุลต่อเนื่อง ในขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศก็ลดลง ประเด็นเรื่องเสถียรภาพจะเริ่มมีความสำคัญ ในจังหวะนี้เราจะมีเลือกผู้ว่าแบงค์ชาติคนใหม่พอดี วิสัยทัศน์และทัศนคติของผู้ว่าคนใหม่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นมาก.
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook: https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews