บล.ทรีนีตี้ชี้การเมืองกระทบหุ้นไทยมากกว่าภาษีสหรัฐฯ มั่นใจ SET ไม่หลุด 1,000 จุด
นักวิเคราะห์จาก บล.ทรีนีตี้ ประเมินว่าความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2569 จะเป็นปัจจัยลบต่อตลาดหุ้นไทยมากกว่ากรณีที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าไทยเป็น 36%
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า “หากต้องเลือกระหว่างปัจจัยภาษีสหรัฐฯ กับการเมือง เชื่อว่าการเมืองจะกระทบหุ้นไทยรุนแรงกว่า เพราะส่งผลโดยตรงต่อหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศ”
โดยปกติ ดัชนี SET จะอ่อนไหวต่อกำไรต่อหุ้น (EPS) มากกว่าการเติบโตของ GDP คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ประมาณการ EPS ของหุ้นไทยปีนี้ที่คาดการณ์ไว้ล่าสุดที่ 91 บาท จะสามารถรักษาระดับนี้ไว้ได้หรือไม่
เนื่องจากภาพรวม EPS ของหุ้นไทยมีสัดส่วนสำคัญมาจากหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจโลก เช่น กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมี DELTA เป็นหุ้นตัวสำคัญ หากไทยถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษี 36% จริง อาจส่งผลกระทบต่อ DELTA ค่อนข้างมาก แต่หุ้นตัวอื่นๆ อาจไม่ได้รับผลกระทบนัก โดยเฉพาะถ้าเศรษฐกิจโลกยังคงประคองตัวอยู่ได้
ณัฐชาตกล่าวเสริมว่า “ไม่ว่าจะเกิดกรณีใดขึ้น เชื่อว่าดัชนี SET จะไม่หลุด 1,000 จุด”
บล.ทรีนีตี้ ประเมินดัชนีเป้าหมายที่เหมาะสมสำหรับไตรมาส 3 ไว้ที่ 1,011 จุด โดยอิงจากคาดการณ์ EPS ที่ 91.4 บาทต่อหุ้น และ P/E ที่ 11.06 เท่า ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ระดับ -1 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) ของ SET นับตั้งแต่ปี 2006
“หาก พ.ร.บ. งบประมาณยังเป็นไปตามกรอบเวลาเดิม คาดว่าดัชนีจะสามารถประคองตัวเหนือ 1,050 จุดได้ แต่หากเกิดความล่าช้า ดัชนีอาจปรับตัวลงต่ำกว่า 1,050 จุด แต่คาดว่าจะไม่ต่ำกว่าแนวรับสำคัญที่ 1,000 จุด”
สำหรับภาพรวมทั้งปี บล.ทรีนีตี้เชื่อว่าดัชนี SET มีโอกาสฟื้นตัวกลับไปที่ 1,183 จุด (อิงจาก EPS 91 บาท และ Forward P/E 13 เท่า) แม้ไทยอาจถูกขึ้นภาษี 36% ก็ตาม โดยผลกระทบต่อ GDP ในปีนี้อาจไม่มากนัก แต่คาดว่าจะเห็นการหดตัวชัดเจนขึ้นในปี 2569 โดยเฉพาะในภาคการส่งออก
ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ คือ ส่งออก, อาหาร, เกษตร, เครื่องดื่ม และนิคมอุตสาหกรรม ขณะที่ความกังวลเรื่อง Technical Recession (ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค) อาจยังไม่เกิดขึ้น แม้ GDP ไตรมาส 3 มีแนวโน้มติดลบสูง แต่หากการส่งออกในไตรมาส 4 ไม่ทรุดตัวลงไปอีก GDP ก็มีโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้จากปัจจัยหนุนของฤดูกาลท่องเที่ยว
สำหรับความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยวันนี้ (8 กรกฎาคม) ดัชนี SET ปรับตัวลดลงมากที่สุดระหว่างวัน 12.84 จุด แตะระดับ 1,110.16 จุด ก่อนจะฟื้นตัวมาปิดที่ระดับ 1,115.65 จุด ลดลง 7.35 จุด จากวันก่อนหน้า
ด้าน บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ระบุว่า หุ้นที่ปรับตัวลดลงในช่วงเช้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงกลุ่มส่งออกอิเล็กทรอนิกส์และอาหาร
บล.ซีจีเอสฯ ประเมินว่า ไทยจะยื่นข้อเสนอเพื่อเจรจาลดระดับภาษีอีกครั้ง เนื่องจากอัตรา 36% ถือว่าสูงและแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ และมองว่าเป็นเรื่องยากที่ไทยจะเปิดตลาดสินค้าเกษตรให้สหรัฐฯ โดยเฉพาะการนำเข้าแบบปลอดภาษี เพราะจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยในประเทศอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่ไทยจะลดภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการจากสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกันและปรับสมดุลการค้า โดยล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ไทยเตรียมลดภาษีนำเข้าสินค้าหลายรายการจากสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงข้าวโพด
บล.ซีจีเอสฯ ยังคาดการณ์ว่า ไทยน่าจะเลือกอนุญาตให้นำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบเกษตรกรในวงจำกัดกว่า แทนการเปิดตลาดเนื้อหมูและเนื้อไก่ที่จะส่งผลกระทบในวงกว้าง