จดหมายแจ้งภาษีทรัมป์ถึง “ไทย” ว่อนโซเชียล นักวิเคราะห์เตือน ถ้าทีมไทยแลนด์เจรจาล้มเหลว เตรียมเดินหน้าเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอย
เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - จดหมายแจ้งภาษีทรัมป์ถึงไทยถูกแชร์ไปทั่วอินเตอร์เนตหลังผู้นำสหรัฐฯ โพสต์ลงแพลตฟอร์ม Truth Social เรียกเสียงฮือฮาไปทั่ว เนื้อหาลักษณะเชิงคุกคามอ้างขาดดุลกับไทยมานานแต่ยังคงต้องการมีความสัมพันธ์การค้าต่อไป ยืนกรานตั้งป้อมเก็บภาษีอัตรา 36% จากสินค้าไทยเริ่มตั้งแต่ 1 ส.ค แต่ย้ำจะบวกเพิ่มหากไทยเดินหน้าตอบโต้ บลูมเบิร์เปิดเผย ทีมไทยแลนด์อ้างมั่นใจสามารถต่อรองลดอัตราภาษีได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนถ้าพลาดเตรียมเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในครึ่งหลังของปี
บลูมเบิร์กรายงานวันนี้(8 ก.ค)ว่า ไทยยังคงมีการมองในแง่บวกที่จะสามารถทำให้อัตราภาษีเรียกเก็บจากสหรัฐฯลดลงจาก 36% ที่ถูกประกาศโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 7 ก.ค
โดยฝ่ายไทยคาดว่าจะเสนอการลดกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯส่วนใหญ่ให้เหลือ 0% อ้างอิงจากรัฐมนตรีการคลัง พิชัย ชุณหวชิร (Pichai Chunhavajira)
รัฐมนตรีการคลังให้สัมภาษณ์วันอังคาร(8)ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ตั้งกำแพงภาษีกับไทยโดยที่ไม่ได้นำข้อเสนอที่ได้รับการแก้ไขในการเพิ่มการเข้าถึงตลาดด้วยการลดกำแพงภาษีและกำแพงปลอดภาษีบนจำนวนของสินค้า
โดยในการให้สัมภาษณ์รมว.พิชัยเปิดเผยกับบลูมเบิร์กว่า รู้สึกตกใจเล็กน้อยเมื่อได้รับจดหมายจากทำเนียบขาวแจ้งอัตราภาษี 36% ต่อไทย
ทั้งนี้พบว่า ไทยซึ่งเป็นชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดนภาษีทรัมป์สูงเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มที่ 36 % เทียบเท่ากับกัมพูชา และไทยยังเป็น 1 ใน 3 ชาติจากทั้งหมด 14 ชาติที่ถูกเรียกจัดเก็บในอัตราภาษีระดับเดิมของประกาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 เม.ย รวม อินโดนีเซีย (32%) และ เกาหลีใต้ (25%) อ้างอิงการรายงานตารางอัตราประกาศภาษีสหรัฐฯวันที่ 7 ก.ค จาก CNBC ของสหรัฐฯ
จากตาราง 16 ชาติยังพบว่ามี 2 ชาติที่โดนเรียกเก็บเพิ่มขึ้นได้แก่ ญี่ปุ่น และ มาเลเซีย จาก 24% มาอยู่ที่ 25% เท่ากัน ส่วนประเทศที่เหลือทั้งหมดเป็นต้นว่า ลาว และเมียนมา ล้วนถูกเรียกเก็บภาษีลดลงโดยเมื่อวันที่ 2 เม.ย ลาวโดนเรียกเก็บที่อัตราภาษี 48% แต่ในวันที่ 7 ก.ค ถูกลดเหลือในอัตราภาษี 40% ขณะที่เมียนมาเดิมโดนเรียกเก็บ 44% แต่ลดเหลือที่ระดับ 40% เช่นกัน
นอกจากนี้ยังกลายเป็นกระแสไวรัลไปทั่วเมื่อพบว่าเนื้อหาจดหมายแจ้งอัตราภาษีใหม่จากทำเนียบขาวถึงประเทศไทยได้ถูกเผยแพร่ไปทั่วโซเชียลมีเดีย โดยสื่อไทยในประเทศรายงานว่า ผู้นำสหรัฐฯโพสต์จดหมายแจ้งภาษีต่อรัฐบาลไทยบนแพลตฟอร์มโซเชียลของตัวเอง Truth Social
นักข่าว CNA ของสิงคโปร์โพสต์ตั้งข้อสังเกตบนแพลตฟอร์ม X ว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าสหรัฐฯส่งจดหมาย 2 ฉบับที่มีเนื้อหาเดียวกันโดยฉบับแรกส่งถึงรักษาการนายกรัฐมนตรี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และฉบับที่ 2 ทูลเกล้าถวายพระประมุขไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัฐกาลที่ 10
ซึ่งตามเนื้อหาจดหมายแจ้งภาษีจากทำเนียบขาวที่โพสต์พบว่า จดหมายลงวันที่ 7 ก.ค เนื้อหาลักษณะเชิงคุกคามอ้างขาดดุลกับไทยมานานแต่ยังคงต้องการมีความสัมพันธ์การค้าต่อไป ยืนกรานตั้งป้อมเก็บภาษีอัตรา 36% จากสินค้าไทยเริ่มตั้งแต่ 1 ส.ค แต่ย้ำจะบวกเพิ่มหากไทยเดินหน้าตอบโต้
โดยตอนท้ายของจดหมายแจ้งภาษีได้กล่าวมีใจความว่า
“หากว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามที่ทางฝ่ายท่านตัดสินใจจะเพิ่มอัตราภาษี ดังนั้นแล้วตัวเลขใดก็ตามที่ฝ่ายท่านเลือกที่จะเพิ่มนั้นจะถูก(ทางเรา)บวกเพิ่มจาก 36% ที่ทางเราได้ตั้งไว้”
และเสริมต่อว่า “ขอได้โปรดเข้าใจว่าภาษีเหล่านี้มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขภาษีไทย และมาตรการไม่ใช่ภาษี(Non Tariff), นโยบาย และกำแพงการค้าส่งผลทำให้เกิดการขาดดุลการค้าอย่างไม่ยั่งยืนสำหรับสหรัฐฯ การขาดดุลการค้านี้ถือเป็นภัยคุกคามใหญ่ต่อเศรษฐกิจของพวกเรา และแน่นอนต่อความมั่นคงของพวกเรา!”
ซึ่ง "ไทย" ที่มีรายชื่อในประเทศยื่นใบสมัครเข้าร่วมกลุ่มBRICSภายใต้การนำของ รัสเซีย และ จีน ที่ถือเป็นปรปักษ์ต่อสหรัฐฯ โดยปัจจุบันไทยถูกประกาศให้อยู่ในสถานะชาติพันธมิตรกลุ่ม BRICS และจากจุดนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ไทยอาจโดนสหรัฐฯเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีก 10% สำหรับชาติสนับสนุนกลุ่ม BRICS ด้วยหรือไม่
อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ที่เชื่อว่าจดหมายแจ้งภาษีสหรัฐฯส่งถึงรัฐบาลไทยนี้มีการส่งคล้ายจดหมายเวียนที่มีเนื้อหาเดียวกันที่เป็นการแจ้งไปยังชาติต่างๆเป็นต้นว่า ญี่ปุ่น
โดยภาพข่าวรอยเตอร์รายงานภาพจดหมายแจ้งภาษีไปยังนายกรัฐมนตรีญี่ปุุ่น ชิเงะรุ อิชิบะ ที่แสดงโดยโฆษกหญิงทำเนียบขาว แคโรไลน์ เลฟวิตต์ (Karoline Leavitt) จดหมายลงวันที่ 7 ก.ค นั้นมีถ้อยความเช่นเดียวกันกับเนื้อความของจดหมายที่ส่งมาถึงรัฐบาลไทย
บลูมเบิร์กรายงานว่า ไทยคาดว่าจะสามารถสรุปการเจรจาได้ทันก่อนเส้นตายวันที่ 1 ส.คที่กำลังจะถึง
โดยในนาทีสุดท้ายเพื่อเลี่ยงการลงโทษทางภาษีพบว่า ไทยได้ยื่นข้อเสนอที่ได้รับการแก้ไขไปยังสหรัฐฯเมื่อวันที่ 6 ก.คเพื่อกระตุ้นโวลูมการค้าระดับทวิภาคีระหว่างกัน และเสนอลดการเกินดุลทางการค้าต่อสหรัฐฯของไทยที่มี 46 พันล้านดอลลาร์ลงราว 70% ภายใน 5 ปี
บลูมเบิร์กรายงานว่า ไทยเสนอการเข้าถึงตลาดเพิ่มมากขึ้นสำหรับสินค้าการเกษตรและอุตสาหกรรมสหรัฐฯรวมไปถึงฝ่ายไทยเสนอจะซื้อพลังงานและเครื่องบินโบอิ้งเพิ่ม
เจ้าหน้าที่ไทยประเมินว่าภาษีทรัมป์ 36% จะกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย ที่เชื่อว่าอาจจะลดตัวเลข GDP ของไทยในปีนี้ไปไม่ต่ำกว่า 1%
บุรินทร์ อดุลวัฒนะ (Burin Adulwattana) ผู้จัดการบริหารและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำศูนย์วิจัยกสิกร ได้วิเคราะห์ว่า ไทยอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนักในครึ่งหลังของปีหากว่า ทีมไทยแลนด์ล้มเหลวในการเจรจาลดภาษีกับสหรัฐฯ
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO