“คำนำหน้าชื่อสตรีและเด็ก" สมัยรัชกาลที่ 6 เหมือนหรือต่างกับที่ใช้ในปัจจุบัน?
นาง, นางสาว, เด็กหญิง และเด็กชาย คือ “คำนำหน้าชื่อสตรีและเด็ก” ในปัจจุบันที่ใช้กันทั่วไป แรกเริ่มการใช้นั้นเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งยังมีคำอื่นๆ อีก และคำที่ใช้จนถึงปัจจุบันก็มีความหมาย และระเบียบการใช้ต่างกัน
คำนำหน้าชื่อสตรี
รัชกาลที่ 6 พระราชทาน “พระราชกฤษฎีกาคำนำหน้านามสตรี” เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 พอสรุปได้ดังนี้
1. สตรีทั่วไป ถ้ายังไม่มีสามีใช้คำว่า “นางสาว” นำหน้าชื่อ ตามด้วยนามสกุลของตน, ถ้ามีสามีแล้วใช้คำว่า “นาง” นำหน้าชื่อตนเอง ตามด้วยนามสกุลของสามี ถ้าไม่ใช้ในราชการสามารถใช้เพียงคำว่า “นาง” นำหน้านามสกุลของสามีก็ได้
2. สตรีที่สามี “มีบรรดาศักดิ์” แต่ “ต่ำกว่าชั้นพระยา” ให้ใช้คำว่า “นาง” ตามด้วยราชทินนามของสามี, บรรดาศักดิ์ชั้น “พระยา” ใช้คำว่า “คุณหญิง” ตามด้วยราชทินนามของสามี, บรรดาศักดิ์ชั้น “เจ้าพระยา” ใช้คำว่า “ท่านผู้หญิง” ตามด้วยราชทินนามของสามี โดยระเบียบข้อนี้ให้ใช้ได้เฉพาะภรรยาเอกเท่านั้น
3. สตรีที่ได้รับพระราชทานครื่องราชอิสริยาภรณ์ “จุลจอมเกล้าฝ่ายใน” ให้ใช้คำว่า “คุณหญิง” นำหน้าชื่อตนเอง แม้มีสามีที่บรรดาศักดิ์ต่ำกว่าชั้นพระยา
แต่ถ้าเป็นการเขียนชื่อตนเอง ให้เขียนเฉพาะชื่อและนามสกุลเท่านั้น
คำนำหน้าชื่อเด็ก
ด้วยขณะนั้นไม่มีหลักเกณฑ์ใดที่แสดงให้รู้ว่า “เด็ก” คนนั้นๆ มีอายุเท่าใด และเพื่อแยกแยะชาติกำเนิดของเด็กว่ามาจากตระกูลขุนนาง หรือครอบครัวสามัญชน รัชกาลที่ 6 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยคำนำนามเด็ก พ.ศ. 2464” พอสรุปความได้ดังนี้
1. จำกัดความคำว่า เด็ก และบุตร “เด็ก” หมายถึงผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีลงมา ส่วนคำว่า “บุตร” นั้น ให้นับเฉพาะผู้ที่สืบสายโลหิตทางตระกูลบิดาเท่านั้น ไม่รวมบุตรบุญธรรม และบุตรติดมารดา ซึ่งตระกูลข้างบิดาเดิมไม่ใช่ข้าราชการชั้นสัญญาบัตร
2. การใช้คำนำหน้าชื่อของเด็ก ถ้าเด็กเป็น “บุตรข้าราชการชั้นสัญญาบัตร” ชายให้ใช้คำว่า “นายน้อย” หญิงใช้คำว่า “นางน้อย” นำหน้าชื่อตนเอง ถ้าเด็กเป็น “บุตรสามัญชน” ให้ใช้คำ “เด็กชาย” หรือ “เด็กหญิง” นำหน้าชื่อตนเอง
คำนำหน้าชื่อสตรีและเด็กที่กล่าวมานั้น ใช้กับบุคคลทั่วไป หากเป็นสตรีและเด็กที่อยู่ในราชสกุล หรือมีสถานะพิเศษอื่นๆ ก็ไม่ใช้คำเหล่านี้
คลิกอ่านเพิ่ม :
- “ขุนนาง” มาจากไหน ทำไมเรียกว่าขุนนาง ศัพท์คำนี้มีความหมายอย่างไร
- “ลำดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย” เรียงอย่างไร ชิ้นไหนสูงสุด?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง
อุสาห์ มากันต์. “คำนำหน้านาม” ใน, สารานุกรม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม 1 ก-ม, คณะกรรมการฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ 8 รอบ และ 100 ปี ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานเปิดหอวชิราวุธานุสรณ์ วันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2518.
เผยแพร่ในระบบออนไล์ครั้งแรกเมื่อ 16 กรกฎาคม 2568.
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “คำนำหน้าชื่อสตรีและเด็ก” สมัยรัชกาลที่ 6 เหมือนหรือต่างกับที่ใช้ในปัจจุบัน?
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com