หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ผู้สร้างนครวัดจำลองสมัยรัชกาลที่ 5
เปิดประวัติ หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย นายช่างสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้สร้างนครวัดจำลองที่วัดพระแก้ว
นครวัดจำลองที่ตั้งตระหง่านอยู่ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง เป็นที่คุ้นเคยกันดีของคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยทั่วไปเข้าใจกันอยู่แล้วว่าเป็นการจำลองปราสาทนครวัดที่กัมพูชา ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แต่ประวัติของผู้ก่อสร้างสถาปัตยกรรมจำลองนี้ไม่ค่อยมีกล่าวถึงมากนัก ซึ่งท่านผู้นั้นก็คือ หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย
หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ทรงเป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3) ประสูติแต่หม่อมน้อย เมื่อ พ.ศ. 2392 สิ้นชีพิตักษัยเมื่อ พ.ศ. 2434 มีพระนามลำลองว่า “ต๋ง”
หม่อมเจ้าประวิชทรงมีพี่น้องร่วมพระบิดามารดาเดียวกันคือ 1. หม่อมเจ้าระเบียบ 2. หม่อมเจ้าหญิงประภา (ปุ๊ก) 3. หม่อมเจ้าจำเริญ 4. หม่อมเจ้าหญิงจำรัส 5. หม่อมเจ้าประวิช (ต๋ง) และ 6. หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์)
หม่อมเจ้าประวิชมีหม่อมทั้งสิ้น 4 คน และมีพระโอรสธิดารวม 8 คน
เนื่องจากกรมขุนราชสีหวิกรม พระบิดา ทรงพระปรีชาสามารถในด้านงานช่างมาตั้งแต่ครั้งที่รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างวัดวาอารามต่าง ๆ ส่งผลให้หม่อมเจ้าประวิชก็ทรงมีความรู้ในด้านงานช่างหลากหลายแขนงด้วยเช่นกัน
หม่อมเจ้าประวิชทรงเป็นนายช่างผู้มากฝีมือคนหนึ่งแห่งราชสำนักสยาม ผลงานของหม่อมเจ้าประวิชมีมากมายหลายอย่าง เช่น
ปฏิสังขรณ์พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน, ทำตัวอย่างพระที่นั่งทรงผนวช (เดิมตั้งอยู่ในบริเวณพระพุทธรัตนสถาน ที่สวนศิวาลัย ในพระบรมมหาราชวัง ปัจจุบันอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม), สร้างสวนขวา ติดกับพระที่นั่งพิมานรัตยา
เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังและทำงานประดับ ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, วัดปรมัยยิกาวาส, วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร, วัดชุมพลนิกายารามราชวรวิหาร, วัดมหาธาตุวรวิหาร (เพชรบุรี), พระปฐมเจดีย์ และเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ในพระระเบียงคดวัดพระแก้ว (บางห้อง)
ปฏิสังขรณ์วัดต่าง ๆ เช่น วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร, วัดไลย์ (ลพบุรี), ซ่อมพระอุโบสถ วัดพระสมุทรเจดีย์, ออกแบบปราสาทเขมรที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม, ออกแบบและทำลายปูนปั้นในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท, ออกแบบตราประจำพระองค์สี่รัชกาลเป็นลายปูนปั้นประดับในพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร และออกแบบตราสัญลักษณ์อื่น ๆ อีกมากมาย
นอกจากนี้ ยังมีผลงานอื่นเช่น รูปหล่อพานแว่นฟ้าทรงข้าวบิณฑ์ ในบริเวณวัดพระแก้ว, อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 5 ที่พระราชวังบางปะอิน และสวนสราญรมย์ และอนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1
หม่อมเจ้าประวิชยังทรงพระนิพนธ์หนังสือ “จิตรกรรมโกศล” ซึ่งเป็นต้นตำราแบบลายไทย และช่างไทย อีกด้วย
แต่ผลงานของหม่อมเจ้าประวิชที่น้อยคนนักจะรู้ก็คือ นครวัดจำลองที่วัดพระแก้ว
การสร้างนครวัดจำลองสร้างขึ้นเมื่อคราวฉลองพระนครครบรอบ 100 ปี พ.ศ. 2425 ปรากฏใน “คำกราบบังคมทูลรายงานการบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม” ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ซึ่งทรงกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “หม่อมเจ้าประวิชทำรูปพระนครวัดหล่อด้วยปูนทำใหม่ทั้งสิ้น…”
ในขั้นตอนการสร้างมีเกร็ดเล่าไว้ว่า
“เมื่อครั้งโปรดเกล้าฯ ให้ทำหุ่นจำลองนครวัดนั้น ตรงกับการเตรียมสมโภชพระนครครบร้อยปี หม่อมเจ้าประวิชเสวยน้ำจันทน์เหลาไม้กองพะเนินอยู่ที่บ้านท่าช้าง พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเร่งมาให้งานแล้วเสร็จ จึงมีคนมาเตือนว่าแทนที่จะนั่งเหลาไม้เล่น ควรทำหุ่นจำลองเสียโดยเร็ว มิฉะนั้นพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเฆี่ยน ท่านก็มิได้ว่ากระไร เหลาไม้ต่อไปเรื่อย ๆ จนคิดกันว่าจะต้องถูกพระเจ้าอยู่หัวเฆี่ยนแน่ ๆ เกือบจะถึงวันส่งงานท่านประกอบไม้ชิ้นต่าง ๆ เข้าด้วยกันแล้วเทปูนหล่อออกมาเป็นนครวัดจำลองในชั่วเวลาอันสั้น เป็นเสร็จทันการ…”
รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างสถาปัตยกรรมจำลองนี้ขึ้นเพื่อให้คนทั้งหลายได้ชม ดังพระราชดำริที่ว่า “เพื่อจะให้คนทั้งหลายเห็นว่าเป็นของอัศจรรย์ทำด้วยศิลาทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งไรปน…”
หม่อมเจ้าประวิชทรงเป็นนายช่างพระองค์สำคัญของราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่แพ้เจ้านายพระองค์อื่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงยกย่องหม่อมเจ้าประวิชไว้ว่า “แบบอย่างการช่างอย่างสมัยใหม่ซึ่งเกิดขึ้นใน 20 ปีต้นแห่งรัชกาลที่ 5 หม่อมเจ้าประวิชเป็นผู้ให้เกือบจะทั้งนั้น”
นอกจากนี้ ในลายพระหัตถ์ของกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ที่ทรงมีถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2479 ตอนหนึ่งทรงกล่าวถึงหม่อมเจ้าประวิชไว้ว่า
“ช่างที่ควรจะนับว่าเป็นช่างดี จะต้องประกอบด้วยองค์คุณสองประการคือ ต้องประกอบด้วยฝีมืออย่างหนึ่ง ประกอบด้วยความคิดดีรู้ที่ควรมิควรอีกอย่างหนึ่ง ประการหลังนั้นแหละสำคัญมาก ถ้ามีแต่ฝีมือดีก็เป็นได้แต่ลูกมือเสมอไป ต้องมีความคิดดีอีกอย่างด้วยจึงจะเลื่อนขึ้นเป็นนายช่างได้
เมื่อกล่าวข้อนี้ ทำให้คิดถึงครอกต๋ง…รู้สึกในใจว่าครอกต๋งเธอเป็นช่างที่มีความคิดรู้ดีรู้ชั่วอย่างสูง สมควรจะไหว้ได้ ที่จริงเกล้ากระหม่อมก็รู้ตัวมานานแล้วว่าสู้เธอไม่ได้”
อ่านเพิ่มเติม :
- “อองรี มูโอต์” ผู้ปลุกกระแสความนิยม “นครวัด”
- วารสาร “นักล่าอาณานิคม” ตีแผ่สัญญารัชกาลที่ 5 ทำไมสยามสละ “นครวัด” ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ. นครวัดทัศนะเขมร. มติชน, 2545.
ที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ หม่อมราชวงศ์หญิงทวีลาภา ปูรณะสุคนธ (ชุมสาย) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พุทธศักราช 2528. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. สัมพันธ์พานิชย์, 2528.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กรกฎาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ผู้สร้างนครวัดจำลองสมัยรัชกาลที่ 5
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com