“อะมีบากินสมอง” ภัยร้ายใต้น้ำธรรมชาติ
บางครั้งในชีวิตประจำวันของเรา อาจนำเชื้อร้ายเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว.. ล่าสุดแพทย์เตือนภัยเงียบจาก“น้ำธรรมชาติ” อาจส่งผลร้ายถึงชีวิต
วันนี้ (15 ก.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยแพทย์และทีมคณาจารย์ ประจำภาควิชาปรสิตวิทยา โพสต์เตือนประชาชน หลีกเลี่ยงการล้างจมูกด้วย“น้ำประปา” และระมัดระวังขณะเล่นน้ำ ในแหล่งธรรมชาติ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงเผชิญโรค “อะมีบากินสมอง” ที่แม้ไม่ค่อยเกิดขึ้นในไทย แต่อาจเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว พร้อมเปิดข้อบ่งชี้อาการ
โพสต์ระบุว่า
แพทย์และทีมคณาจารย์ ประจำภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. ออกเตือนประชาชน หลีกเลี่ยงล้างจมูกด้วยน้ำประปา และควรระวังขณะเล่นน้ำในแหล่งธรรมชาติ แม้ความเสี่ยงต่ำ แต่อันตรายร้ายแรงถึงชีวิต
แม้จะพบได้น้อยมากในประเทศไทย แต่โรค “อะมีบากินสมอง” หรือ Primary Amoebic Meningoencephalitis (PAM) ถือเป็นภัยสุขภาพที่รุนแรงและมักจบลงด้วยการเสียชีวิตภายในไม่กี่วัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงการใช้และสัมผัสน้ำจากแหล่งธรรมชาติ หรือแม้แต่น้ำประปาในบางกรณี พร้อมแนะนำแนวทางป้องกันที่ทุกคนสามารถทำได้
อะมีบากินสมองคืออะไร ?
อะมีบากินสมอง คือเชื้อปรสิตเซลล์เดียวในกลุ่มอะมีบา ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Naegleria fowleri พบได้ทั่วโลก ทั้งในดิน แหล่งน้ำจืดธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ทะเลสาบ น้ำพุร้อน รวมถึงแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น สระว่ายน้ำหรือถังเก็บน้ำที่ไม่ได้มาตรฐาน
ประเทศไทยพบเชื้อชนิดนี้ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในแหล่งน้ำจืด ไม่พบในน้ำทะเล และปัจจุบันยังไม่มียารักษาที่จำเพาะสำหรับเชื้อชนิดนี้
ภัยเงียบที่คร่าชีวิต
แม้จะพบได้น้อยมาก แต่อะมีบากินสมองกลับอันตรายถึงชีวิต ข้อมูลผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2525 – 2564 มีรายงานผู้ติดเชื้อสะสมเพียง 17 ราย แต่เสียชีวิตถึง 14 ราย และส่วนใหญ่เสียชีวิตภายใน 1–2 สัปดาห์หลังแสดงอาการ
ด้วยเหตุนี้ โรคนี้จึงถือเป็น “ภัยเงียบ” ที่ประชาชนมักไม่ตระหนักถึง โดยเฉพาะเมื่อยังไม่มีแนวทางการรักษาที่ชัดเจน
ใครเสี่ยง? ติดได้อย่างไร?
ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้ที่เล่นน้ำในคลอง บึง น้ำตก หรือแม้แต่ในสระว่ายน้ำหรือสวนน้ำที่ไม่ได้รับการดูแลที่ดี รวมถึงผู้ที่ใช้น้ำประปาล้างจมูกโดยตรง
การติดเชื้อเกิดจากการที่น้ำที่มีเชื้อ Naegleria fowleri เข้าทางโพรงจมูก เชื้อจะไต่ขึ้นผ่านเส้นประสาทรับกลิ่นไปยังสมอง ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบรุนแรง
อาการหลังติดเชื้อ ได้แก่ ปวดหัว มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ก่อนพัฒนาเป็นคอแข็ง และมีภาวะทางระบบประสาทอย่างรวดเร็ว หากไม่วินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว มักเสียชีวิตในเวลาอันสั้น การให้ประวัติการว่ายน้ำ เล่นกีฬาทางน้ำหรือกิจกรรมในแหล่งน้ำธรรมชาติ การล้างโพรงจมูกด้วยน้ำประปา จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้น
เคยเกิดในไทยแล้ว
กรณีล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2565 เมื่อชาวเกาหลีที่พำนักในประเทศไทย 4 เดือน กลับไปประเทศแล้วเสียชีวิตด้วยภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบา แพทย์วินิจฉัยภายหลังว่าเป็นโรคอะมีบากินสมอง
น้ำประปาปลอดภัยหรือไม่?
น้ำประปาที่ได้มาตรฐานถือว่าปลอดภัยจากเชื้อชนิดนี้ อย่างไรก็ตาม หากมีการนำน้ำไปพักไว้ในถังเก็บน้ำก่อนใช้งาน อาจมีการปนเปื้อนเชื้อชนิดนี้จากการแตกรั่วซึมของระบบท่อส่ง และปริมาณคลอรีนในถังพักน้ำอาจลดลงจนฆ่าเชื้อไม่ได้
ที่สำคัญคือ “ไม่ควรใช้น้ำประปาในการล้างโพรงจมูกโดยตรง” เพราะเป็นทางเข้าสำคัญของเชื้อ หากจำเป็น ควรต้มน้ำก่อนใช้งาน หรือใช้ “น้ำเกลือปราศจากเชื้อ” ในการล้างโพรงจมูก
แนวทางป้องกันสำหรับประชาชน
• หลีกเลี่ยงการใช้น้ำประปาล้างโพรงจมูก โดยเฉพาะน้ำจากถังเก็บ
• ใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อในการล้างจมูก และควรเป็นขวดขนาดเล็ก ใช้ครั้งเดียว
• หากต้องว่ายน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือสระน้ำที่ไม่มั่นใจ ควรสวมที่หนีบจมูกเสมอ
• หากสำลักน้ำเข้าจมูก ควรสั่งน้ำมูกออกทันที
“ภัยสุขภาพจากสิ่งที่เราคิดว่าปลอดภัย เช่น น้ำประปาหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ อาจมีอยู่จริงแม้โอกาสจะน้อย การป้องกันตนเองไว้ก่อนจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด”
ขอบคุณข้อมูล: เฟซบุ๊ก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่