โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

‘ภูมิธรรม’ จี้สำนักพุทธฯแก้ กม.จัดระเบียบพระ-ดูแลเงินวัด-ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ดึงต่างชาติลงทุน ‘Fin Hub’

ไทยพับลิก้า

อัพเดต 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.00 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

  • ‘ภูมิธรรม’ จี้สำนักพุทธฯแก้ กม.จัดระเบียบพระ-ดูแลเงินวัด
  • สั่งพาณิชย์ช่วยพ่อค้าชายแดนไทย-กัมพูชา
  • มติ ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ดึงต่างชาติลงทุน ‘Financial Hub’
  • แนะเพิกถอนป่าสงวนแม่เมาะ เยียวยาผลกระทบขยายเหมือง
  • จัดงบ 602 ล้าน ซื้อที่ดิน-จ่ายค่ารื้อถอน สร้างอ่างเก็บน้ำ ‘ลำน้ำชี’
  • ผ่านแผนเพิ่มรายได้เกษตรกร 5.4 แสนบาท ในปี’70 ตั้ง ‘เอกนิติ รมยานนท์’ เลขาธิการ สมอ.

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.00 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.มีดังนี้

จี้สำนักพุทธฯแก้ กม.จัดระเบียบพระ-ดูแลเงินวัด

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาการนายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการในที่ประชุมดังนี้

1. เรื่อง ปัญหาพระภิกษุสงฆ์ กระทำความผิดวินัยสงฆ์ ในกรณีพระชั้นผู้ใหญ่หลายรูปกระทำผิดวินัยสงฆ์ ซึ่งปรากฏว่าพระหลายรูปได้มีการลาสิกขาไปแล้ว แต่ขณะที่ยังมีพระอีกหลายรูป ที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อความศรัทธาของประชาชนต่อพุทธศาสนาของประเทศโดยรวม จึงขอให้นายสุชาติ ตันเจริญ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับ ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาร่วมกับมหาเถรสมาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการติดตามพระสงฆ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทุกฝ่ายในเรื่องนี้มาเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย และดำเนินตามวินัยสงฆ์ ตลอดจนพิจารณาถึงการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมถึงความผิดในทุกมิติ รวมถึงการบริหารจัดการดูแลเงินของวัดให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสื่อมเสียแก่พระพุทธศาสนา และให้กระทรวงวัฒนธรรม รณรงค์ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยพุทธที่ถูกต้อง รวมทั้งวิธีการปฏิบัติตนระหว่างฆราวาส และพระสงฆ์ ในการดำเนินชีวิตตามวิถีขนบธรรมเนียมประเพณีไทย เพื่อธำรงไว้ซึ่งศีลธรรมอันดี ความสงบเรียบร้อยของประชาชนในสังคม

สั่งพาณิชย์ช่วยพ่อค้าชายแดนไทย-กัมพูชา

2. กรณีชายแดนไทย-กัมพูชา รักษาการนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการว่า ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในจังหวัดชายแดน จากการที่รัฐบาลได้มีมาตรการจำกัดเวลาในการเปิด-ปิดด่านในจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา 7 จังหวัด ซึ่งอาจจะกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน และผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจตามแนวชายแดนนั้น โดยสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการดังนี้

  • ให้กระทรวงพาณิชย์ เร่งดำเนินการหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการตามแนวชายแดนที่จะต้องมีการส่งสินค้าข้ามแดน ในการหาตลาดหรือขอความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในการรับซื้อสินค้า ตลอดจนกระบวนการขนส่งสินค้าที่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาที่นานขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการในบริเวณดังกล่าวและ

  • ให้กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานความมั่นคง ดูแลความปลอดภัยให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ และไม่ให้กระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนทั้ง 2 ประเทศ โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยธรรมสากลเป็นที่ตั้ง

บูรณาการข้อมูล- CCTV ปราบยาเสพติด-แก๊งคอลเซ็นเตอร์

3. สำหรับมาตรการยกระดับความปลอดภัย ทั้งในเรื่องการดูแลนักท่องเที่ยว และการป้องกันและปราบปราม ยาเสพติด และขบวนการคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งที่ผ่านมากองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ที่รับผิดชอบ จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร ตาก พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ได้มีการบูรณาการในการนำข้อมูลของหน่วยงานต่างๆร่วมใช้กับกล้อง CCTV แล้วเกิดผลสำเร็จ ทำให้สามารถติดตามตรวจสอบผู้กระทำความผิดทั้งในด้านยาเสพติด ขบวนการ call center ที่อาศัยประเทศไทยเป็นทางผ่าน ในบริเวณภาคกลางตอนบน ภาคเหนือ และภาคอีสานได้เป็นอย่างมาก

“จึงขอให้หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง บูรณาการนำข้อมูล และระบบดังกล่าวมาใช้ในการเพิ่มมาตรการความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน และนักท่องเที่ยว ในบริเวณชุมชนโดยเฉพาะบริเวณแหล่งท่องเที่ยว โรงพยาบาล โดยเริ่มนำร่องในจังหวัดหลัก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน และนักท่องเที่ยวโดยเร็วตามนโยบายของรัฐบาล” นายจิรายุกล่าว

มติ ครม.มีดังนี้

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษก ฯ และนายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกฯร่วมกันแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ผ่านร่าง พ.ร.บ.ดึงต่างชาติลงทุน ‘Financial Hub’

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. ….. ของ กระทรวงการคลัง (กค.) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินของโลก (Financial Hub) และดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินจากต่างประเทศให้มาประกอบธุรกิจในประเทศไทยผ่านกลไกในการส่งเสริม กำกับดูแล และการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการที่เข้ามาประกอบธุรกิจเป้าหมายใน Financial Hub เพื่อให้บริการแก่นิติบุคคล หรือ บุคคลที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (Non-residents) อันจะช่วยพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการเงินและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน รวมทั้งสามารถดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินจากต่างประเทศให้มาประกอบธุรกิจเป้าหมายในประเทศไทย

โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา [คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ)] ได้ตรวจพิจารณาโดยนำความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว โดยยังคงเป็นไปตามหลักการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ และแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดต่าง ๆ ให้ชัดเจนขึ้น รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้

กำหนดแนวทางการจัดตั้ง Financial Hub ในเขตพื้นที่ที่กำหนดสำหรับการประกอบธุรกิจเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจบริการการชำระเงิน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ และธุรกิจทางการเงินอื่นหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงินตามที่คณะกรรมการฯ ประกาศกำหนดโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (เดิมตามที่คณะกรรมการฯ ประกาศกำหนด) และให้บริการเฉพาะผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (non-residents) เท่านั้น ยกเว้น 2 กรณี คือ

1) การให้บริการระหว่างผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายด้วยกันเอง และ

2) การให้บริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นการดำเนินกิจกรรม เพื่อมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนตลาดภายในประเทศ (Market Participant) โดยมิได้ให้บริการแก่ลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวโดยตรง (ตัดข้อยกเว้นการให้บริการแก่ลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายที่เป็นการให้บริการแก่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการฯ กำหนดออก เนื่องจากคำว่า “ผู้มีถิ่นที่อยู่ในลักษณะอื่น” อาจหมายถึง “คนไทย” ได้ ซึ่งการให้บริการแก่คนไทยได้ด้วยอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นและเกิดปัญหากับลูกค้าคนไทยหรือระบบการเงินในภาพรวมได้) ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายจะต้องเป็นบริษัทจำกัด หรือ บริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งจดทะเบียนในไทย หรือ สาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ และต้องจ้างแรงงานไทยเป็นสัดส่วนตามที่กำหนด

  • การให้บริการระหว่างผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายด้วยกันเอง และ
  • การให้บริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นการดำเนินกิจกรรม เพื่อมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนตลาดภายในประเทศ (Market Participant) โดยมิได้ให้บริการแก่ลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวโดยตรง (ตัดข้อยกเว้นการให้บริการแก่ลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายที่เป็นการให้บริการแก่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการฯ กำหนดออก เนื่องจากคำว่า “ผู้มีถิ่นที่อยู่ในลักษณะอื่น” อาจหมายถึง “คนไทย” ได้ ซึ่งการให้บริการแก่คนไทยได้ด้วยอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นและเกิดปัญหากับลูกค้าคนไทยหรือระบบการเงินในภาพรวมได้) ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายจะต้องเป็นบริษัทจำกัด หรือ บริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งจดทะเบียนในไทย หรือ สาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ และต้องจ้างแรงงานไทยเป็นสัดส่วนตามที่กำหนด

กำหนดให้มี “คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน” (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ) มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะนโยบาย กำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาตในการประกอบธุรกิจ เป้าหมาย จัดทำแนวทางการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเป้าหมาย รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหรือเห็นชอบ (เดิมเป็นอำนาจของคณะกรรมการฯ) ตลอดจนเพิ่มเติมให้เสนอแนะคณะรัฐมนตรีในการหราพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดเขตพื้นที่ของสถานที่ประกอบธุรกิจเป้าหมาย นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังคงมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาให้ความเห็นชอบการอนุญาต การต่ออายุ และการเพิกถอนการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเป้าหมาย รวมทั้งติดตามและประเมินผลการดำเนินการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน

ให้มีการจัดตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน” มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลและไม่เป็นส่วนราชการ เพื่อกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายใน Financial Hub โดยคำนึงถึงเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจหรือระบบการเงินของประเทศ โดยเพิ่มเติมให้สำนักงานฯ ต้องให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจเป้าหมายแก่หน่วยงานหลักที่มีหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจทางการเงินของประเทศร้องขอ

การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเป้าหมาย กำหนดให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจประกาศกำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาตประกอบธุรกิจเป้าหมายโดยต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (เดิมกำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการฯ) และในกรณีที่การกำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาตประกอบธุรกิจเป้าหมายดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลอื่น ให้คณะกรรมการฯ หารือร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องนั้นก่อนด้วย รวมทั้งกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายที่ได้รับอนุญาตได้รับยกเว้นไม่นำกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจทางการเงินจำนวน 7 ฉบับ(กฎหมายหลัก) มาใช้บังคับแก่การประกอบธุรกิจเป้าหมาย (โดยนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัตินี้ เช่น หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการจะกำหนดในเรื่องการกำกับดูแลฐานะทางการเงิน การจัดทำบัญชีเงินหรือทรัพย์สินของลูกค้าหรือผู้บริโภค การบริหารจัดการความเสี่ยง มาใช้บังคับในการกำกับดูแลแทน) เว้นแต่ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายนั้นเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจตามกฎหมายหลักดังกล่าว ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายนั้นจะต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายในการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจตามร่างพระราชบัญญัตินี้ด้วย

กำหนดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายใน Financial Hub (หลักการตามร่างฯ เดิม) เช่น สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด โดยได้รับยกเว้นจากการจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สิทธิในการนำคนต่างด้าว (ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญใด ๆ ที่คณะกรรมการฯ กำหนด ผู้บริหารหรือผู้ชำนาญการ และคู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะของบุคคลดังกล่าว) เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรได้ตามจำนวนและระยะเวลาที่สำนักงานฯ อนุญาต

การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจเป้าหมาย กำหนดให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจออกประกาศหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจเป้าหมายให้มีความมั่นคงและปลอดภัย เช่น การกำกับดูแลฐานะทางการเงินและผลการดำเนินการมาตรฐานในการประกอบธุรกิจเป้าหมาย การบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล การคุ้มครองลูกค้าหรือผู้บริโภค หรือเรื่องอื่นใดเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแล

มาตรการปรับเป็นพินัยและโทษทางอาญา โดยตัดบทบัญญัติที่กำหนดให้เป็นความผิดและมีโทษทางอาญา ซึ่งมีองค์ประกอบความผิดเหมือน หรือ คล้ายคลึงกับความผิดที่ได้กำหนดไว้แล้วในภาคความผิดของประมวลกฎหมายอาญา และกำหนดให้ใช้มาตรการปรับเป็นพินัย สำหรับกรณีที่เป็นการกระทำที่มิใช่ความผิดร้ายแรง หรือ มิได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ หรือ ระบบการเงินของประเทศ และโทษทางอาญา สำหรับกรณีที่เป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรง หรืออาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ หรือ ระบบการเงินของประเทศ โดยในกรณีที่มีโทษปรับสถานเดียว กำหนดให้เป็นความผิดที่เปรียบเทียบได้

กำหนดบทเฉพาะกาล โดยในวาระเริ่มแรก ให้รัฐบาลจัดสรรทุนประเดิมให้แก่สำนักงานฯ ตามความจำเป็น และให้คณะกรรมการฯ โดยตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน โดยให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ และดำเนินการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน โดยให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งทำหน้าที่ผู้อำนวยการไปพลางก่อน โดยให้มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการและจัดตั้งสำนักงานฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน และให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐมาปฏิบัติงานเป็นพนักงานของสำนักงานฯ เป็นการชั่วคราวภายในระยะเวลาที่กำหนด (กระทรวงการคลังคาดว่าในระยะ 3 ปีแรก เป็นจำนวน 300 ล้านบาท และอัตรากำลังที่ใช้ในสำนักงานฯ จำนวน 50 อัตรา)

แนะเพิกถอนป่าสงวนแม่เมาะ เยียวยาผลกระทบขยายเหมือง

นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบข้อเสนอแนะกรณีประชาชนที่ถูกอพยพจากโครงการขยายเหมืองแม่เมาะ บ้านเวียงหงส์ล้านนา อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ไม่ได้รับเอกสารสิทธิที่ดิน ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เสนอ

สืบเนื่องจากความต้องการขยายเหมืองในพื้นที่บ้านหางฮุง จึงมีความจำเป็นต้องอพยพประชานในพื้นที่ ไปยังพื้นที่อื่น ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 25 ธันวาคม 2544 เห็นชอบให้อพยพประชาชน บ้างหางฮุง ออกจากพื้นที่เดิม ไปยังบ้านเวียงหงส์ล้านนา หมู่ที่ 12 ตำบลแม่เมาะ โดยได้รับการจัดพื้นที่อยู่อาศัยครัวเรือนละ 2 งาน จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่ทั้งนี้ ประชานที่ถูกอพยพไป ไม่ได้รับเอกสารสิทธิที่ดิน ในพื้นที่บ้านเวียงหงส์ล้านนา ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

จากการตรวจสอบพบว่า เป็นโครงการการอพยพผู้ได้รับผลกระทบจากการขยายเหมืองแม่เมาะ และโครงการแม่จาง ครั้งที่ 5 จำนวน 341 ครัวเรือน โดยหน่วยงานที่กำกับดูแลในขณะนั้น ไม่ได้ดำเนินการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน ให้กับประชาชนบ้านเวียงหงส์ล้านนา ทำให้เสียโอกาสในการถือครองที่ดิน ไม่สามารถพัฒนาด้านเศรษฐกิจ หรือ สิ่งปลูกสร้างอื่น ๆได้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่เมาะ โดยทาง กสม. ได้เสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหา 2 แนวทาง คือ 1. เพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่เมาะ บางส่วนให้เป็นพื้นที่รองรับการอพยพ 2. ออกเอกสารสิทธิเฉพาะในส่วนที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน บ้านเวียงหงส์ล้านนา หมู่ที่ 12 ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ทราบถึงข้อร้องเรียนดังกล่าว และได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะ เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

แนะ 2 มาตรการ แก้มลพิษข้ามแดนแม่น้ำกก-สาย

นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ได้พิจารณาข้อเสนอแนะมาตรการ หรือ แนวทางส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน กรณีการปนเปื้อนมลพิษในแม่น้ำกก และแม่น้ำสายจากประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 247 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 (3) และมาตรา 42 ตามที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอ

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์การปนเปื้อนมลพิษในแม่น้ำกกและแม่น้ำสายทวีความรุนแรงขึ้น โดยมีสาเหตุหลักจากการทำเหมืองแร่ทองคำและแร่แรร์เอิร์ธของบริษัทเอกชนที่ไม่ทราบสัญชาติ บริเวณต้นแม่น้ำกก และแม่น้ำสายในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา มีการสกัดแร่ด้วยสารเคมีอันตราย ทำให้ดินและกากแร่ปนเปื้อนโลหะหนัก (สารหนู แคดเมี่ยม ปรอท) ชะล้างลงสู่แม่น้ำสายหลัก และไหลเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลสู่ปัญหาร้ายแรงทางสุขภาพ โดย กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลที่ดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด

ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในลุ่มแม่น้ำกก (แม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำรวก) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันปัญหาขยายตัวสู่ลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงมีข้อเสนอแนะเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ดังนี้

1. มาตรการภายในประเทศ

1.1 ให้กรมควบคุมมลพิษประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเพิ่มความถี่ของการเก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนดินในพื้นที่เสี่ยง และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนที่เหมาะสม และพัฒนาระบบการเตือนภัยให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง

1.2 ให้กระทรวงสาธารณสุข (โดยกรมควบคุมโรค กรมอนามัย และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด) ตรวจสุขภาพและคัดกรองโรคที่อาจเกิดจากโลหะหนัก (โดยเฉพาะสารหนู) ให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

1.3 ให้การประปาส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกระทรวงมหาดไทย เร่งจัดหาน้ำดื่มสะอาดสำรองสำหรับประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัย และวางแผนระยะยาวในการจัดหาแหล่งน้ำดิบที่ปลอดภัย พร้อมพัฒนาระบบประปาหมู่บ้านให้มีประสิทธิภาพครอบคลุม

1.4 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเมินผลกระทบเบื้องต้นต่อภาคเกษตรและการท่องเที่ยว และกำหนดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเฉพาะหน้าแก่ผู้ได้รับผลกระทบ

1.5 สนับสนุนงบประมาณสำหรับการขจัดสารพิษ และฟื้นฟูแหล่งน้ำที่ปนเปื้อน รวมถึงโครงการอนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ และพืชพรรณริมตลิ่ง เพื่อเสริมสร้างความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

1.6 ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำโขงเหนือ เป็นหน่วยประสานหลัก และเสนอให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติแต่งตั้ง หรือ ปรับปรุงองค์ประกอบของอนุกรรมการทรัพยากรน้ำระดับจังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่

2. มาตรการระหว่างประเทศ

2.1 ให้กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการเจรจากับประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ เพื่อยุติการกิจการเหมืองแร่ที่เป็นต้นเหตุของมลพิษโดยเร็วที่สุด โดยใช้กลไกความร่วมมือ ทั้งในทวิภาคีและระดับภูมิภาคที่มีอยู่

2.2 ให้กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางความร่วมมือ เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดนผ่านกรอบความร่วมมือต่างๆ ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิผล รวมถึงให้ประเทศในภูมิภาคพัฒนากฎหมายภายใน เพื่อรองรับการจัดการ ป้องกัน และเยียวยาผลกระทบจากปัญหามลพิษข้ามพรมแดน

ทั้งนี้ ครม. รับทราบข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณา ร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงบประมาณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการลุ่มแม่น้ำโขงเหนือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน

จัดงบ 602 ล้าน ซื้อที่ดิน-จ่ายค่ารื้อถอน สร้างอ่างเก็บน้ำ ‘ลำน้ำชี’

นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยกรมชลประทาน ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (งบกลางฯ) เพื่อเป็นรายการค่าซื้อที่ดิน ค่าทดแทน ค่ารื้อย้ายในการจัดหาที่ดิน โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ จังหวัดชัยภูมิ (โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีฯ) ภายในกรอบวงเงิน 602.74 ล้านบาท โดยให้กรมชลประทานใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลางฯ จำนวน 602.74 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรายการดังกล่าว (ตามบัญชีค่าทดแทนทรัพย์สินที่มีความพร้อมจ่าย) ด้วยแล้ว และให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกมิติ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีฯ เป็นการสนับสนุนพื้นที่การเกษตร และการใช้ประโยชน์ด้านการอุปโภค บริโภคและอุตสาหกรรม รวมทั้งบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนและเขตเกษตรกรรมบริเวณพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ

ผ่านแผนเพิ่มรายได้เกษตรกร 5.4 แสนบาท ในปี’70

นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม (ร่างแผนแม่บทฯ) ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2568 – 2575) และ มอบหมายให้สำนักงาน สภช. เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2568 – 2575) สู่การปฏิบัติ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. วิสัยทัศน์ เกษตรกรเป็นพลังสำคัญในการผลักดันต่อการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม

2. พันธกิจ ขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมสู่ความมั่นคงและพอเพียงของเกษตรกรไทย

(1) พัฒนาความสามารถการผลิตของเกษตรกรไทย สู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร

(2) เกษตรชาญฉลาดขับเคลื่อนสภาพแวดล้อมสีเขียว

(3) ส่งเสริมการทำการเกษตรเพื่อรองรับข้อกำหนดทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อม

(4) ยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัย

(5) การยกระดับรายได้ต่อหัวของเกษตรกรให้มีความอยู่ดีกินดี

3. วัตถุประสงค์

(1) เพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งพร้อมสร้างโอกาส และรับมือกับการเปลี่ยนแปลง

(2) เพื่อขับเคลื่อนเกษตรสีเขียวที่ สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

(3) เพื่อให้ภาคการเกษตรสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

4. เป้าหมาย

(1) ร้อยละ 75 ของครัวเรือนเกษตรกรมีความเข้มแข็งพร้อมสร้างโอกาสและรับมือกับการเปลี่ยนแปลง (5.78 ล้านครัวเรือน)

(2) มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี

(3) อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในประเทศ สาขาเกษตรไม่น้อยกว่าร้อยละ 4.5 ต่อปี

(4) รายได้เงินสดสุทธิครัวเรือนเกษตรไม่ต่ำกว่า 537,000 บาทต่อครัวเรือน ภายในปี 2570

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีความเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมบางประการ เช่น ควรพิจารณาเพิ่มเติมข้อมูลผลการดำเนินการที่สำคัญตามแผนแม่บทฯ พ.ศ. 2560 – 2565 ในแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 ด้วย และการทบทวนและปรับปรุงแผนแม่บทฯ

ในระยะต่อไป สภช. ได้กำหนดระบบและกลไก่ไว้อย่างน้อยทุก 2 ปีแต่กรอบระยะเวลา 8 ปี ของแผนแม่บทฯ ดังกล่าว จะคาบเกี่ยวกับระยะเวลาของแผนแม่บทภายใต้ ยุทธศาสตร์ชาติห้วงที่ 3 (พ.ศ. 2571 – 2595) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2571 – 2575) ดังนั้น ในการทบทวนและปรับปรุงแผนแม่บทฯ ของ สภช. ควรมีการพิจารณาถึงความสอดคล้องกับแผนระดับที่ 2 ที่เกี่ยวข้อง อาทิ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2571 – 2575) เพื่อทบทวนตัวชี้วัด เป้าหมาย และกลยุทธ์เพื่อกำหนดแผนการขับเคลื่อนในช่วง พ.ศ. 2571 – 2575 ให้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์การพัฒนาประเทศที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต และโดยที่เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 มาตรา 11 (4) มาตรา 41 และมาตรา 42 ที่บัญญัติให้ สภาเกษตรกรแห่งชาติ (สภช.) จัดทำแผนแม่บท โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งเชื่อมโยงกับแผนแม่บทระดับจังหวัด และให้เสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณา วิเคราะห์ และกลั่นกรอง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป จึงเข้าข่ายเรื่อง ที่เสนอคณะรัฐมนตรีได้ตามนัยมาตรา 4 (1)แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548

ตั้ง ‘เอกนิติ รมยานนท์’ เลขาธิการ สมอ.

นายอนุกูล กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทบริหารระดับสูง

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอแต่งตั้ง นายเอกนิติ รมยานนท์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 เป็นต้นไป

2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอแต่งตั้ง ว่าที่ร้อยตรี ยงยุทธ ภูมิประเทศ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ภาษีสรรพสามิต (นักวิชาการสรรพสามิตทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

3. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) เสนอแต่งตั้ง นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบด้วยแล้ว

4. เรื่อง การมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ดังนี้

1. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์)

2. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายเดชอิศม์ ขาวทอง)

5. เรื่อง การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ดังนี้

1. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายอนุชา สะสมทรัพย์)

2. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายชัยชนะ เดชเดโช)

6. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงคมนาคม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงจำนวน 4 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

1. นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

2. นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการขนส่งทางบก

3. นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

4. นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมทางหลวง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป

7. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอแต่งตั้ง นายสมฤกษ์ จึงสมาน ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป

อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 เพิ่มเติม

.

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ไทยพับลิก้า

กทม.นับถอยหลัง ชวนคนกรุงแยกขยะก่อนทิ้ง รับสิทธิ์ลดค่าธรรมเนียมผ่านแอป BKK WASTE PAY เริ่มต.ค. 2568

4 ชั่วโมงที่ผ่านมา

EIC เจาะ Import influx trap…กับดักเศรษฐกิจไทยในยุคพึ่งพานำเข้าสูง

10 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความทั่วไปอื่น ๆ

เตือนฝนตกหนักทั่วไทย 19-21 ก.ค.นี้

TNN ช่อง16

“บิ๊กหวาน”ประสานอินเตอร์โพล ออกหมายแดง ล่า “ก๊ก อาน”

INN News

ตลท. ยกระดับมาตรการกำกับการซื้อขายหุ้น DV8 เป็นระดับ 2 ด้วยการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม สั่งห้าม Net Settlement และให้ซื้อขายด้วยวิธี Auction

THE STANDARD

แผ่นดินไหวเมียนมา ขนาด 5.5 อยู่ห่างแม่ฮ่องสอน 343 กม.

มุมข่าว

เดชอิศม์ ยอมรับท้วงติง งบกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น กลางวง ครม. จริง ชี้กระจุกไม่กระจายจนน่าเกลียด เน้นลงพื้นที่ฐานเสียงภูมิใจไทย

THE STANDARD

หน้า 1 หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันที่ 16/07/68

สยามรัฐ

สลดใจ สาวท้อง 2 เดือน ถูกรถพ่วงทับดับคาที่ กลางถนนแพรกษา

TNews

สภาพอากาศวันนี้ ทั่วไทยยังมีฝนตกหนักบางพื้นที่

INN News

ข่าวและบทความยอดนิยม

Loading...