EIC เจาะ Import influx trap…กับดักเศรษฐกิจไทยในยุคพึ่งพานำเข้าสูง
การนำเข้าของไทยขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2020 เช่นเดียวกับการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากจีนที่เพิ่มบทบาทมากขึ้นในหลายอุตสาหกรรมหลักของประเทศ มูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยในช่วงปี 2020 – 2024 ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 10% สูงกว่าการเติบโตของ GDP และมูลค่าการส่งออก ส่งผลให้สัดส่วนการนำเข้าสินค้าต่อ GDP เพิ่มขึ้นสู่ 53% ณ ปี 2024 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 12 ปีอีกทั้ง ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยเผชิญภาวะขาดดุลการค้าเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนี้ปรากฏชัดขึ้นจากการที่จีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง หรือครองส่วนแบ่งการนำเข้าสูงกว่า 1 ใน 4 ของมูลค่ารวม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุตสาหกรรมสำคัญของไทย เช่น เหล็ก พลาสติก และยานยนต์ หันไปพึ่งพาและกลายเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของจีนกันมากขึ้น
ไทยกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำคัญในการระบายสินค้าส่วนเกินจากจีน ผนวกกับกระแสนิยมการซื้อสินค้าออนไลน์ และการเพิ่มจำนวนของธุรกิจที่พึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าเป็นหลัก ก็ถือเป็นปัจจัยเร่งให้สินค้าจากต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน ทะลักเข้ามาอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยที่เร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คาดว่าเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) การเร่งระบายสินค้าส่วนเกินออกจากจีนซึ่งเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าจากจีนเข้าสู่ประเทศไทยขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึงเกือบ 4 เท่า 2) การเติบโตของธุรกิจแพลตฟอร์มข้ามชาติที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย ไม่เพียงกระตุ้นให้เกิดการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค แต่รายได้จากการเติบโตของธุรกิจออนไลน์เหล่านี้ มักไม่ได้หมุนเวียนกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยอย่างเต็มที่ และ 3) การเพิ่มขึ้นของธุรกิจที่พึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าเป็นหลัก (High import content) ทั้งในภาคก่อสร้าง, ร้านอาหาร, ภาคบริการ รวมถึงภาคการผลิต เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, เหล็ก และพลาสติกโดยธุรกิจเหล่านี้นอกจากจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจไทยในระดับต่ำแล้ว บางส่วนยังอาจเข้ามาลงทุนเพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษีจากชาติตะวันตก ทำให้การดำเนินกิจการมักเน้นการนำเข้าสินค้ามาประกอบขั้นต้น ก่อนส่งออกไปยังประเทศที่สามต่อไป
สินค้านำเข้ากำลังก้าวขึ้นมามีบทบาททดแทนสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ทั้งในแง่การบริโภคและการส่งออก อีกทั้ง ยังพบสัญญาณที่อาจบ่งชี้ได้ว่า ธุรกิจภาคอุตสาหกรรมของไทยเกือบ 3,000 แห่ง เข้าข่ายดำเนินกิจการแบบซื้อมา–ขายไป ซึ่งบางส่วนเสี่ยงที่จะเป็นเพียงโรงงานแปรรูปเบื้องต้นหรือดำเนินกิจกรรมสวมสิทธิ ผลการวิเคราะห์โดย SCB EIC พบว่า 1) การบริโภคภายในประเทศและภาคส่งออกของไทยมีแนวโน้มพึ่งพาสินค้าที่ผลิตในประเทศลดลง และหันไปพึ่งพาสินค้านำเข้า โดยเฉพาะจากจีนมากขึ้น ส่งผลกระทบให้ภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวได้ช้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตเหล็ก แผงวงจร เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน และ 2) ธุรกิจภาคการผลิตในไทยเกือบ 3,000 แห่ง อาจกำลังดำเนินธุรกิจในลักษณะที่เน้นการซื้อมา-ขายไป หรือเป็นเพียง Traderซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าบางส่วนเข้าข่ายกิจกรรมสวมสิทธิแหล่งกำเนิดสินค้า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแผงวงจร, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนยานยนต์, พลาสติก, อะลูมิเนียม และเครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ผลกระทบจากแนวโน้มดังกล่าวจะทำให้ผู้ส่งออกของไทยต้องเผชิญความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดขึ้น อีกทั้ง ในระยะยาวโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอาจค่อย ๆ เปลี่ยนจาก ‘ประเทศผู้ผลิต’ ไปสู่บทบาท ‘ผู้ซื้อและประเทศทางผ่าน’ ในห่วงโซ่อุปทานโลกและทำให้เกิดการเสื่อมถอยอย่างต่อเนื่องของกิจกรรมการผลิตภายในประเทศ
นโยบายเชิงรุกจากภาครัฐที่ครอบคลุม ทั้งด้าน ‘การปกป้อง’ ‘กำกับดูแล’ และ ‘การส่งเสริม’ จะเป็นกลไกสำคัญ ในการรักษาความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในระยะยาวแม้การเปิดรับเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติจะมีส่วนช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย อีกทั้ง สินค้านำเข้าก็ช่วยให้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าที่มีตัวเลือกและระดับราคาหลากหลาย แต่รูปแบบการเติบโตที่อิงกับโมเดลซื้อมา-ขายไป และกิจกรรมที่ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มอย่างแท้จริงภายในประเทศ อาจกลายเป็นจุดอ่อนเชิงโครงสร้างดังนั้น การปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ การกำเนิดนโยบายเชิงรุกเพื่อกำกับดูแลการลงทุน ตลอดจนการคัดกรองขอบเขตและคุณภาพสินค้านำเข้า จึงเป็นกลไกสำคัญในการรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยท่ามกลางทิศทางการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
บทบาทการนำเข้าต่อเศรษฐกิจไทยในยุคหลังโควิด-19
มูลค่าการนำเข้าของไทยเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 และกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยกลับมาขาดดุลการค้าเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน (ระหว่างปี 2022–2024)
หลังจากที่เกินดุลต่อเนื่องมานับตั้งแต่ปี 2015-2021 ซึ่งในฐานะประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กแบบเปิด (Small and open economy) การมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานการค้าโลก ทั้งในด้านการนำเข้าและส่งออก ถือเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2020 ทิศทางการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศได้เร่งตัวขึ้นจนเติบโตเฉลี่ยราวปีละ 10% มากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต (2015-2019) กว่าเท่าตัว อีกทั้ง ยังขยายตัวสูงกว่ามูลค่าการส่งออกส่งผลให้การนำเข้าสินค้าเมื่อปี 2024 มีสัดส่วนสูงถึง 53% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และทำให้ไทยขาดดุลการค้ามาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2022 รวมถึงในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2025 ก็ยังคงมีแนวโน้มขาดดุลสะสมสูงถึงกว่า 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (รูปที่ 1)
โครงสร้างหมวดหมู่สินค้านำเข้าของไทยโดยรวมยังคงใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 (ระหว่างปี 2015–2019) โดยกลุ่มเครื่องจักร, อิเล็กทรอนิกส์, พลังงาน และเหล็ก ยังคงมีสัดส่วนการนำเข้าสูงที่สุด หรือ คิดเป็นกว่า 60% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในมิติของประเทศคู่ค้า พบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยบทบาทของญี่ปุ่นในฐานะประเทศคู่ค้าหลักทยอยปรับลดลง สวนทางกับมูลค่านำเข้าจากจีน ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จนทำให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศคู่ค้าที่ไทยนำเข้าสินค้ามากที่สุด โดยมีสัดส่วนสูงถึงประมาณ 1 ใน 4 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุตสาหกรรมสำคัญ ของไทย อาทิ เหล็ก, พลาสติก และยานยนต์ มีการปรับเปลี่ยนแหล่งที่มาของปัจจัยการผลิตหรือได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของจีนกันมากขึ้นนับตั้งแต่สงครามการค้าระลอกแรกเมื่อปี 2018 (รูปที่ 2)
แม้ว่าการนำเข้าจะเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและกลไกทางการค้าที่จำเป็นสำหรับไทยซึ่งมีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานโลกในระดับสูง แต่การขยายตัวอย่างรวดเร็วของมูลค่านำเข้าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เริ่มส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการฉุดรั้งการฟื้นตัวของภาคการผลิตในประเทศการเพิ่มแรงกดดันให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น รวมถึงการลดทอนโอกาสในการขยายฐานลูกค้าของผู้ผลิตไทยไปยังตลาดโลก ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการกีดกันทางการค้าและมาตรการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าที่เข้มงวดขึ้น โดยแนวโน้มเหล่านี้อาจนำไปสู่บทบาทของไทยในห่วงโซ่อุปทานโลกที่ลดลงอีกทั้ง ยังจะส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยในระยะยาว
ปัจจัยกระตุ้นการทะลักเข้ามาของสินค้านำเข้า
ประเทศไทยและหลายชาติในอาเซียนกำลังกลายเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญในการระบายสินค้าส่วนเกินโดยเฉพาะจากจีนและประเทศที่กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ขณะเดียวกัน กระแส E-commerce และมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ก็ยิ่งเร่งให้เกิดการทะลักเข้ามาของสินค้าจากต่างชาติ รวมถึงภาคธุรกิจที่พึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าเป็นหลัก โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยที่เร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องคาดว่ามีแรงขับเคลื่อนหลักมาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้
- ภาวะเศรษฐกิจจีนขยายตัวชะลอลง ส่งผลให้ผู้ผลิตต้องเร่งระบายสินค้าส่วนเกินออกสู่ตลาดต่างประเทศ
นับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตเพียงปีละประมาณ 5% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนโควิด-19 (ปี 2015–2019) ซึ่งขยายตัวได้ราว 7% ต่อปี การชะลอตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าว มีสาเหตุมาจากกำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศที่ยังเปราะบาง กอปรกับแรงกดดันจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างจีนและชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ก็ทวีความเข้มข้นขึ้น ดังนั้น ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ รัฐบาลจีนจึงได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการเติบโตจากภายในประเทศผ่านมาตรการส่งเสริมกิจกรรมการผลิตเพื่อรักษาระดับการจ้างงานและเสถียรภาพของภาคธุรกิจ ควบคู่กับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยอุปสงค์ภายในจีนฟื้นตัวได้ค่อนข้างล่าช้า ผนวกกับตลาดส่งออกก็เผชิญความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น จึงก่อให้เกิดภาวะสินค้าล้นตลาดในหลายอุตสาหกรรม จนทำให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเร่งระบายสินค้าออกสู่ตลาดต่างชาติ สอดคล้องกับการส่งออกของจีนที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยไทยเป็นหนึ่งในปลายทางสำคัญในการเป็นแหล่งระบายสินค้าออกจากประเทศจีน โดยเฉพาะในช่วงหลังการระบาดของโควิด-19 สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าจีนมายังไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 8% ระหว่างปี 2021 – 2024 และขยายตัวสูงถึง 21% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2025ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึงเกือบ 4 เท่า (ภาพที่ 3) ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการเพิ่มขึ้นของสินค้าจากจีนเข้าสู่ไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน คือ การขยายฐานการผลิตมายังภูมิภาคนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าจากชาติตะวันตก ผนวกกับการมีความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ช่วยลดอุปสรรคด้านภาษีและขั้นตอนทางศุลกากรให้แก่สินค้านำเข้า
ในระยะต่อไป นอกจากการทะลักเข้ามาของสินค้านำเข้าจากจีนแล้ว ไทยยังมีแนวโน้มเผชิญความท้าทายเพิ่มเติมจากการทะลักเข้ามาของสินค้าจากประเทศอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งมีปัจจัยเร่งจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ทำให้สมรภูมิการค้าโลกเปลี่ยนแปลงไป โดยหนึ่งในสัญญาณที่เริ่มปรากฏ คือ การเร่งตัวของมูลค่าส่งออกเหล็กจากเกาหลีใต้มายังประเทศในภูมิภาคอาเซียน ภายหลังสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีแบบเฉพาะเจาะจง (Specific tariffs) ในหมวดสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมเมื่อเดือนเมษายน 20251 ทั้งนี้สถานการณ์ดังกล่าวอาจยิ่งซ้ำเติมภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมภายในประเทศไทยให้ต้องเผชิญการแข่งขันจากสินค้านำเข้า และยังสร้างความเสี่ยงที่ไทยจะถูกใช้เป็นทางผ่านในการส่งต่อสินค้าไปยังประเทศที่สาม เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการทางภาษีของประเทศปลายทาง
2.การเติบโตของธุรกิจและแพลตฟอร์ม E‑commerce ข้ามชาติ
พฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ผนวกกับการเข้ามาแข่งขันของแพลตฟอร์ม E‑commerce ข้ามชาติ ที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูง ทั้งในแง่ความหลากหลายของสินค้าและระดับราคาได้กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเร่งให้เกิดการทะลักเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน สอดคล้องกับรายงาน The Future Shopper Report 2023 จัดทำโดย Wunderman Thompson ที่ระบุว่า กว่า 1 ใน 3 ของการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในประเทศไทย เป็นการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ โดยหมวดหมู่สินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, เสื้อผ้า, เครื่องใช้ไฟฟ้า และของใช้ในครัวเรือน ทั้งนี้แม้ธุรกิจ E-commerce จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในไทย แต่อานิสงส์ต่อเศรษฐกิจยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากแพลตฟอร์มยอดนิยม อาทิ Shein, Temu และ AliExpress ยังคงไม่มีการลงทุน จดทะเบียนธุรกิจ หรือจัดตั้งสำนักงานภายในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ รายได้จากการเติบโตของธุรกิจ E-commerce บางส่วนจึงไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มหรือหมุนเวียนกลับสู่ระบบเศรษฐกิจไทยอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการจัดเก็บภาษี การจ้างงาน หรือแม้แต่การมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการไทยในห่วงโซ่อุปทานดังกล่าว
3.การเพิ่มจำนวนของธุรกิจที่พึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าเป็นหลัก (High import content)
การเพิ่มขึ้นของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศส่วนหนึ่งสะท้อนผลของกระแสโลกาภิวัตน์ที่เอื้อต่อการซื้อขายสินค้าและบริการข้ามพรมแดนได้ง่ายและมีต้นทุนต่ำ อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้มูลค่านำเข้าของไทยเร่งตัวขึ้นในระยะหลัง มาจากการเพิ่มจำนวนของภาคธุรกิจที่มีการพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าในสัดส่วนที่สูง (High import content) ซึ่งกิจการเหล่านี้เกิดขึ้นได้ทั้งจากผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ ที่บางส่วนอาจมีการดำเนินธุรกิจเพียงเพื่อใช้ประเทศไทยเป็น 1) ฐานการประกอบหรือแปรรูปสินค้าขั้นต้น (Mini-processing) เช่น การนำเข้าชิ้นส่วนหรือสินค้าประกอบเกือบเสร็จจากประเทศต้นทางแล้วนำมาประกอบขั้นสุดท้ายในไทยเพื่อส่งออกต่อไปยังประเทศที่สาม และ 2) จุดเปลี่ยนถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อให้เข้าเกณฑ์สิทธิประโยชน์ทางการค้าหรือหลีกเลี่ยงกำแพงภาษี (กิจกรรมสวมสิทธิ) เช่น การนำมาเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ ติดฉลากใหม่ หรือแปะป้าย Made in Thailand โดยไม่ได้มีกระบวนการผลิตจริง ซึ่งการดำเนินธุรกิจในลักษณะดังกล่าว มักไม่ได้พึ่งพาห่วงโซ่อุปทานในประเทศ อีกทั้ง ยังสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจไทยในระดับต่ำ ทั้งนี้สัญญาณบ่งชี้ว่า ธุรกิจที่มีการพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าเป็นหลักกำลังมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทย สามารถสะท้อนให้เห็นผ่านข้อมูลเศรษฐกิจและการค้าใน 2 แง่มุมสำคัญ ได้แก่
I.บทบาทของจีนในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของไทยเพิ่มขึ้น ทั้งในฐานะคู่ค้าวัตถุดิบและในฐานะนักลงทุน ข้อมูลการนำเข้าชี้ว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าขั้นกลางของไทยขยายตัวต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากสินค้าจีน ซึ่งมูลค่านำเข้าเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 9% ในช่วงปี 2018–2024 เทียบกับอัตราเติบโตเฉลี่ยเพียง 2% จากประเทศคู่ค้าอื่น ๆ โดยกลุ่มสินค้าทุนที่มีการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ เหล็ก, โลหะแปรรูป, อะลูมิเนียม และเครื่องจักร ขณะที่ในหมวดสินค้าขั้นกลางที่เติบโตขึ้นอย่างโดดเด่น ได้แก่ ยางสังเคราะห์, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, เคมีภัณฑ์ และพลาสติก ซึ่งแนวโน้มการหันมาใช้จีนเป็นแหล่งนำเข้าหลัก อาจเกิดจากทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างคู่ค้าของผู้ประกอบการไทย รวมถึงบทบาทของจีนที่เข้ามาลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตมาไทยมากขึ้น โดยเฉพาะหลังสงครามการค้าระลอกแรก จนทำให้มูลค่าโครงการลงทุนสะสมจากจีน (และฮ่องกง) เพิ่มขึ้นแตะระดับ 1,025 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของมูลค่าโครงการลงทุนและร่วมทุนจากต่างชาติที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนระหว่างปี 2018 ถึงไตรมาสแรกของปี 2025 (รูปที่ 4) โดยอุตสาหกรรมหลักที่มีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาไทยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, แผงวงจรและโซลาร์เซลล์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ยางและผลิตภัณฑ์ยาง รวมถึงยานยนต์และชิ้นส่วน อย่างไรก็ตาม แม้การนำเข้าสินค้าจากจีนจะมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุน อีกทั้ง เม็ดเงินลงทุนก็มีส่วนช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม แต่อานิสงส์ต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตา เพราะการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าขั้นกลางที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจสะท้อนการขยายตัวของธุรกิจที่พึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าเป็นหลัก ซึ่งมักไม่ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงที่ยั่งยืนกับห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ
II.ความไม่สอดคล้องกันระหว่าง “มูลค่าการส่งออกสินค้า” กับ “มูลค่าการส่งมอบสินค้าส่งออกที่ผลิตจากโรงงานในประเทศ” ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างที่ชัดเจนขึ้นระหว่างมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยกับระดับการผลิตเพื่อส่งออกของภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม 2024 ถึงพฤษภาคม 2025 ที่มูลค่าการส่งออกสินค้า (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวได้ถึง 13% ในขณะที่มูลค่าการผลิตเพื่อส่งออกจากโรงงานในประเทศ กลับหดตัวลง -0.5% ทั้งนี้ความไม่สอดคล้องกันระหว่างมูลค่าการส่งออกและการผลิตในประเทศ อาจเกิดขึ้นได้จาก2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) ข้อจำกัดด้านความครอบคลุมของกลุ่มตัวอย่างในฐานข้อมูลผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ซึ่งใช้ข้อมูลกลุ่มตัวอย่างโรงงานที่จดทะเบียนก่อนปี 2021 ทำให้โรงงานใหม่ โดยเฉพาะจากกลุ่มทุนต่างชาติ บางส่วนอาจยังไม่ถูกสำรวจหรือไม่ถูกสะท้อนในชุดข้อมูลดังกล่าวและ 2) สินค้าส่งออกบางส่วนอาจไม่ได้ถูกผลิตขึ้นจากโรงงานในประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นไปได้ของกิจกรรมสวมสิทธิแหล่งกำเนิดสินค้า ที่อาจกำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นในภาคส่งออกไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมาตรการกีดกันทางการค้าทวีความรุนแรงขึ้น
การเพิ่มขึ้นของธุรกิจที่พึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าเป็นหลัก (High import content) ซึ่งสะท้อนผ่านมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าขั้นกลางที่เร่งตัวขึ้น ประกอบกับความไม่สอดคล้องกันระหว่างมูลค่าการส่งออกกับกิจกรรมการผลิตภายในประเทศ อาจบ่งชี้ได้ว่าสินค้าบางส่วนที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจไทยไม่ได้เกิดจากกระบวนการผลิตในประเทศ หรืออาจเป็นเพียงผลจากการที่ไทยถูกใช้เป็นประเทศทางผ่าน เพื่อเปลี่ยนถิ่นกำเนิดสินค้าก่อนส่งออกต่อไปยังประเทศที่สาม ซึ่งหากสถานการณ์นี้ยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการในประเทศจำนวนไม่น้อยอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง และเสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบหรือเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น
ประเมินความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจไทยในยุคที่พึ่งพาการนำเข้าเพิ่มขึ้น
สินค้านำเข้ากำลังก้าวขึ้นมามีบทบาททดแทนสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ทั้งในแง่การบริโภคและการส่งออก อีกทั้ง SCB EIC ประเมินว่า ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมของไทยบางส่วน อาจกำลังดำเนินธุรกิจโดยเน้นการซื้อมา–ขายไป ทดแทนการผลิตจริงกันมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวสร้างแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม และบั่นทอนขีดความสามารถทางการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว SCB EIC ได้จัดทำการวิเคราะห์เพื่อประเมินแรงกดดันจากแนวโน้มการพึ่งพาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นของระบบเศรษฐกิจไทย โดยผลการศึกษาชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญใน 2 มิติหลัก ดังนี้
1.สินค้านำเข้ากำลังก้าวขึ้นมาแทนที่สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ทั้งในแง่การบริโภคและการส่งออก
รูปที่ 5 แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับสูงระหว่างดัชนีมูลค่าการนำเข้า โดยเฉพาะจากประเทศจีน กับเครื่องชี้ด้านอุปสงค์ของเศรษฐกิจไทย ทั้งดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI) และภาคส่งออก ในทางกลับกัน นับตั้งแต่ปี 2021 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ซึ่งสะท้อนกิจกรรมการผลิตในประเทศ กลับมีความสัมพันธ์ในลักษณะที่สวนทางกับทั้งการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออก ซึ่งความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปนี้สะท้อนสัญญาณเบื้องต้นว่า ความต้องการสินค้าเพื่อการบริโภคและส่งออกของไทยเริ่มพึ่งพาสินค้านำเข้าเพื่อทดแทนสินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมหลักอย่างชิ้นส่วนยานยนต์, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, อะลูมิเนียม และเหล็ก ต่างก็เผชิญกับแรงกดดันจากการแข่งขันกับสินค้านำเข้า โดยเฉพาะจากประเทศจีน จนมีส่วนทำให้กิจกรรมการผลิตในประเทศไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่
2.SCB EIC ประเมินว่า ธุรกิจการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเกือบ 3,000 แห่งทั่วประเทศ อาจดำเนินกิจการภายใต้โมเดลการค้าแบบซื้อมา–ขายไป และมีความเป็นไปได้ว่าบางส่วนจะเข้าข่ายกิจกรรมสวมสิทธิซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่สอดคล้องกันระหว่างมูลค่าการส่งออกกับกิจกรรมการผลิตเพื่อส่งออกจากโรงงานภายในประเทศ SCB EIC ได้จัดทำการศึกษาเพื่อประเมินปัจจัยเชิงโครงสร้างที่อาจเป็นแรงฉุดให้ภาคการผลิตไทยฟื้นตัวได้ช้า โดยอาศัยการวิเคราะห์ 1) ข้อมูลระดับมหภาคจากข้อมูลมูลค่าการส่งออกสินค้าและดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องกันระหว่างกิจกรรมการผลิตภายในประเทศและมูลค่าการส่งออกสินค้าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ และ 2) ข้อมูลระดับจุลภาคจากฐานข้อมูลงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ซึ่งครอบคลุมประมาณ 150,000 กิจการในภาคการผลิตทั่วประเทศ โดยวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบในระดับอุตสาหกรรมย่อย(Sub-sector) ผ่านอัตราส่วนทางการเงินหลัก 3 ประเภท ได้แก่ :
- อัตราส่วนต้นทุน (Cost ratio) ใช้วัดระดับมูลค่าเพิ่มจากกระบวนการแปรรูปสินค้าโดยหากอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ของกิจการนั้น ๆ สูงเกินกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ อาจสะท้อนถึงการไม่ได้มีกิจกรรมการผลิตจริงหรือมีเพียงกระบวนการแปรรูปขั้นต้นซึ่งก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในระดับต่ำ
- อัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงคลัง (Inventory turnover ratio) สะท้อนรอบการหมุนเวียนของสินค้าคงคลัง หากอัตราส่วนดังกล่าวมีค่าสูงผิดปกติเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอาจบ่งชี้ถึงรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เน้นการซื้อมาขายไปโดยไม่ผ่านกระบวนการผลิตหรือการจัดเก็บสินค้าแตกต่างไปจากรูปแบบการดำเนินธุรกิจโดยทั่วไปของอุตสาหกรรม
- อัตราส่วนรายได้ต่อสินทรัพย์ถาวร (Revenue-to-fixed asset ratio) ถูกนำมาประเมินประสิทธิภาพหรือความสามารถในการสร้างรายได้จากการใช้สินทรัพย์ถาวร เช่น โรงงาน เครื่องจักร และอุปกรณ์ โดยหากอัตราส่วนนี้มีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญอาจสะท้อนว่า ภาคธุรกิจมีการลงทุนหรือใช้ทรัพยากรต่ำ เมื่อเทียบกับความสามารถในการสร้างรายได้
ผลการวิเคราะห์ของ SCB EIC พบว่า ธุรกิจภาคการผลิตในประเทศไทยจำนวนเกือบ 3,000 แห่ง เข้าข่ายกิจการที่มีการดำเนินงานในลักษณะซื้อมา-ขายไป (Trade-based manufacturers)2 อาจไม่มีกระบวนการผลิตจริง หรือแม้จะมีการผลิตก็เป็นเพียงการแปรรูปขั้นต้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อีกทั้ง ยังมีมูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในระดับต่ำ หรือมีความสามารถในการสร้างรายได้ไม่สอดคล้องกับขนาดของกิจการ ซึ่งธุรกิจที่เข้าข่ายดำเนินงานในลักษณะนี้มีมูลค่ากิจการรวมกันถึง 1.04 ล้านล้านบาทในปี 2023 หรือประมาณ 5% ของขนาดตลาดในภาคอุตสาหกรรมของไทย (เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากค่าเฉลี่ย 3.4% ในช่วงปี 2020–2022 และเพียง 1.3% ในช่วงปี2014– 2019) ไม่เพียงเท่านี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วน Trade-based manufacturers กระจุกตัวอยู่มาก มักมีความไม่สอดคล้องกันระหว่างมูลค่าการส่งออกสินค้ากับกิจกรรมการผลิตเพื่อส่งออกจากโรงงานภายในประเทศสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตแผงวงจรไฟฟ้า, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนยานยนต์, ผลิตภัณฑ์พลาสติกและอะลูมิเนียม รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า (รูปที่ 6) ซึ่งข้อสังเกตนี้เป็นสัญญาณเบื้องต้นที่บ่งชี้ความเป็นไปได้ถึงความเสี่ยงของกิจกรรมสวมสิทธิแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อการส่งออกซึ่งก้าวเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจไทย
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย SCB EIC ได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ในเบื้องต้นภายใต้สมมติฐานว่า หากธุรกิจภาคอุตสาหกรรมทั้ง 3,000 แห่ง ซึ่งปัจจุบันอาจจะกำลังดำเนินกิจการในรูปแบบซื้อมาขายไปหรือมีเพียงกระบวนการแปรรูปขั้นต้น ต่างหันมาปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปสู่การผลิตจริงภายในประเทศจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทยได้อย่างน้อย 1.5 แสนล้านบาทต่อปี3 หรือคิดเป็นประมาณ 3% ของ GDP ภาคการผลิตในปี 20244 โดยมูลค่าเพิ่มดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพเชิงโครงสร้างที่ซ่อนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ และชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมการผลิตที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานในประเทศยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อรับมือกับแนวโน้มการนำเข้าที่เร่งตัว
นโยบายเชิงรุกจากภาครัฐที่ครอบคลุมทั้งด้านการปกป้อง กำกับดูแล และการส่งเสริมถือเป็นกลไกสำคัญในการรักษาความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในระยะยาว
โครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเร่งตัวขึ้นของมูลค่าการนำเข้า การเพิ่มจำนวนของธุรกิจที่พึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าเป็นหลัก รวมถึงความเสี่ยงจากกิจกรรมสวมสิทธิและโรงงานประกอบขั้นต้นที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยความท้าทายเหล่านี้กำลังเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจากประเทศผู้ผลิต ไปสู่ประเทศที่มีบทบาทเป็นเพียงผู้ซื้อและทางผ่านของสินค้าในห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งในอนาคตอันใกล้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงจากการเผชิญกับมาตรการกีดกันการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น อีกทั้ง ยังอาจทำให้กิจกรรมการผลิตในประเทศทยอยเสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จากข้อค้นพบดังกล่าว SCB EIC เห็นว่า ภาครัฐควรเร่งดำเนินนโยบายใน 5 มิติสำคัญ ดังนี้
- มาตรการปกป้องผู้ประกอบการและสินค้าที่ผลิตในประเทศจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นกับธุรกิจและสินค้านำเข้าจากต่างชาติ ซึ่งมาตรการที่เกี่ยวข้องและควรเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน ประกอบด้วยมาตรการป้องกันการทุ่มตลาดและมาตรการคุ้มครองชั่วคราวสำหรับสินค้านำเข้าที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมในประเทศ เช่น เหล็ก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์และพลาสติก นอกจากนี้ภาครัฐยังควรยกระดับการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานสินค้านำเข้าให้เข้มงวดและรัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ควบคู่กับการกำหนดราคาขั้นต่ำสำหรับสินค้านำเข้า เพื่อเป็นกลไกในการคัดกรองและสร้างสมรภูมิการแข่งขันให้เป็นธรรมกับผู้ผลิตภายในประเทศ
- การปรับปรุงกลไกการคัดกรองและติดตามการลงทุนจากต่างชาติ เพื่อลดความเสี่ยงจากกิจกรรมที่เข้าข่ายการแปรรูปขั้นต้นหรือการสวมสิทธิ โดยแม้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะได้ดำเนินการบางส่วนไปแล้ว เช่น การกำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศ และกระบวนการตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบ แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรองและติดตามการลงทุน ควรพิจารณากำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม อาทิ การลงทุนขั้นต่ำในสินทรัพย์ถาวร อัตราการจ้างงานแรงงานท้องถิ่นในระดับที่เหมาะสม ควบคู่กับการพัฒนาระบบติดตามโครงการลงทุนและตรวจสอบโรงงานเชิงลึก เพื่อประเมินมูลค่าเพิ่มและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริงภายในประเทศ
- มาตรการดูแลผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะกระบวนการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อช่วยลดต้นทุนและเสริมสร้างศักยภาพผู้ส่งออกไทย ผ่านการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาแบบบูรณาการระหว่างกรมศุลกากร, กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ BOI โดยเน้นการให้คำปรึกษาเชิงเทคนิค และสนับสนุนการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการบันทึกข้อมูลวัตถุดิบและกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ
- มาตรการยกระดับผลิตภาพกิจกรรมการผลิตในประเทศ โดยสามารถดำเนินการใน 3 แนวทางหลัก คือ 1) พัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น เคมีภัณฑ์ โลหะพิเศษ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เพื่อเพิ่มความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานในท้องถิ่น 2) สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการไทยผ่านโมเดล Cluster-Based และ Local Supplier Matching โดยมีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐและเอกชนเป็นกลไกหนุน และ 3) ขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น ศูนย์ R&D และระบบโลจิสติกส์คาร์บอนต่ำ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโตของอุตสาหกรรม Deep Tech และ BCG Economy5
- มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการเข้าถึง E-marketplace ในต่างประเทศ ควบคู่กับการปกป้องผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากแพลตฟอร์มข้ามชาติได้มากขึ้น โดยในส่วนของการส่งออก ควรจัดทำ Thai Product Verified Mark สำหรับผู้ส่งออกรายย่อย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในตลาดโลก ขณะที่ในด้านการนำเข้า ควรเร่งปรับโครงสร้างภาษีนำเข้าสินค้าจากแพลตฟอร์มต่างประเทศโดยกำหนดเกณฑ์เฉพาะเจาะจงในกลุ่มสินค้าที่ต้องการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ
โดยสรุป เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญแรงกดดันเชิงโครงสร้างจากการพึ่งพาการนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้สินค้านำเข้าเริ่มเข้ามาแทนที่การผลิตภายในประเทศ ทั้งในภาคการบริโภคและการส่งออก ขณะเดียวกันธุรกิจไทยบางส่วนอาจหันมาใช้โมเดลซื้อมา–ขายไป หรือกำลังเป็นเพียงโรงงานแปรรูปเบื้องต้นกันมากขึ้นซึ่งมักมีการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศค่อนข้างจำกัด ดังนั้น หากแนวโน้มนี้ดำเนินต่อไป เศรษฐกิจไทยอาจค่อย ๆ สูญเสียบทบาทจาก “ผู้ผลิต” และกลายเป็นเพียง “ผู้ซื้อ” หรือ “ประเทศทางผ่าน” ในห่วงโซ่อุปทานโลก อันจะนำไปสู่การลดทอนศักยภาพของผู้ประกอบการในท้องถิ่น ยิ่งไปกว่านั้น ไทยยังอาจเผชิญความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้า และการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งจะยิ่งเพิ่มต้นทุนและบั่นทอนความสามารถทางการแข่งขันของภาคธุรกิจ ดังนั้น โจทย์สำคัญที่ทุกภาคส่วนควรคำนึงถึง คือ การเติบโตร่วมกันอย่างมีคุณภาพและสร้างโอกาสให้ทั่วถึง โดยภาครัฐควรเร่งดำเนินนโยบายเชิงรุกในทุกมิติ ทั้งด้านการปกป้อง คัดกรอง กำกับดูแล และส่งเสริม เพื่อยกระดับศักยภาพการผลิตภายในประเทศ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข็งแรงและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
บทวิเคราะห์โดยhttps://www.scbeic.com/th/detail/product/Import-influx-trap-140725
อ้างอิง
1.การประกาศขึ้นกำแพงภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมในอัตรา 25% ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กจากเกาหลีใต้ไปยังสหรัฐระหว่างเดือน เม.ย. – พ.ค. 2025 ปรับลดลง -5% จากปีก่อน ขณะที่การส่งออกมายังไทย, เวียดนาม และสิงคโปร์ ขยายตัว 9% 4% และ 43% ตามลำดับ
2.การวิเคราะห์โดย SCB EIC ภายใต้เกณฑ์การประเมิน คือ หากอุตสาหกรรมที่มีอัตราส่วนทางการเงินทั้ง 3 ประเภทเกินกว่า 75 percentile ของอุตสาหกรรมย่อยนั้น ๆ จะถูกประเมินให้อยู่ในกลุ่ม Trade-based manufacturers (อ้างอิงการวิเคราะห์จาก 1) OECD Transfer Pricing Guidelines for Multinational Enterprises and Tax Administrations 2) Trade-Based Money Laundering: Risk Indicators, FATF (2020) และ 3) Transshipment and Re-export Analysis, Nelson, C. (2023)
3.SCB EIC ประเมินมูลค่าเพิ่มที่อาจเกิดขึ้น โดยอิงจากส่วนต่างของกำไรขั้นต้น (Gross profit) ที่จะเพิ่มขึ้น หากกิจการทั้ง 3,000 แห่งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจจากการซื้อมาขายไปสู่กระบวนการผลิตจริง โดยสมมติให้บริษัทเหล่านี้จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการได้ในระดับเดียวกับค่ากลางของอัตรากำไรขั้นต้น (Gross margin) ในแต่ละอุตสาหกรรม (Industry median)
4.อัตรากำไรขั้นต้น (Gross profit) ของภาคธุรกิจ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่สามารถใช้สะท้อนถึง GDP ภาคการผลิต ที่คำนวณจากรายได้จากการขายสินค้าและบริการ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าสินค้าคงคลัง และหักต้นทุนการผลิตขั้นต้น เช่น ค่าวัตถุดิบ, ค่าไฟฟ้าและ เชื้อเพลิง อ้างอิงจากคู่มือการประมวลผลสถิติบัญชีประชาชาติ จัดทำโดยสภาพัฒน์ฯ
5.อุตสาหกรรม Deep Tech ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรชีวภาพ ส่งเสริมการนำกลับมาใช้ซ้ำหรือเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรและสุขภาพ การผลิตวัสดุจากธรรมชาติอย่างยั่งยืน และการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ