"สนทช" เตรียมแผนตั้งรับ พายุฝน คาดเสี่ยงน้ำท่วมหลายจังหวัด
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) เปิดเผยว่า ปริมาณฝนในช่วงเดือนกรกฎาคมจะยังคงมีน้อย ก่อนที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม โดยเฉพาะในภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก รวมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งจากอิทธิพลของพายุหมุนเขตร้อน 1-2 ลูกที่อาจพัดเข้าประเทศไทย
สทนช. ได้ประเมินและชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้าจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2568 พบว่า:
- เดือนกรกฎาคม : 18 จังหวัด 55 อำเภอ 203 ตำบล
- เดือนสิงหาคม : 29 จังหวัด 125 อำเภอ 348 ตำบล
- เดือนกันยายน : 50 จังหวัด 281 อำเภอ 1,038 ตำบล
- เดือนตุลาคม : 54 จังหวัด 342 อำเภอ 1,604 ตำบล
- เดือนพฤศจิกายน : 37 จังหวัด 204 อำเภอ 962 ตำบล
ทั้งนี้ ได้มีการดำเนินงานตาม 9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ดังนี้
1. คาดการณ์ ชี้เป้า และแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยง : มีการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำไปแล้ว 9 ฉบับ และตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์เตือนภัยทั่วประเทศ รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่เปราะบาง
2. ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำ : วางแผนบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกันในระดับลุ่มน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำให้เต็มศักยภาพ และเพียงพอต่อการใช้งานในฤดูแล้งถัดไป
3. เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ บุคลากร : จัดทำฐานข้อมูลเครื่องจักร-เครื่องมือ ตรวจสอบความแข็งแรงของเขื่อนทุกแห่ง (พบว่ามั่นคงแข็งแรง) ตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ และจัดทำแผนกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ
4. ตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยคันกั้นน้ำ : ปรับปรุงซ่อมแซมคันกั้นน้ำ พนังกั้นน้ำ และทำนบแล้ว 467 แห่ง เสริมความสูงในจุดเสี่ยง เพื่อให้พร้อมใช้งานตลอดฤดูฝน
5. เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ : กำจัดผักตบชวาและวัชพืชไปแล้วกว่า 4.56 ล้านตัน ขุดลอกคูคลอง 251.74 กิโลเมตร และลอกท่อ 3,664 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
6. ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุและจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้า : จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย อาทิ ลุ่มน้ำโขงเหนือ (เชียงราย) ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออกและลุ่มน้ำบางปะกง (ระยอง) และเตรียมจัดตั้งในลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ (หนองคาย) พร้อมฐานข้อมูลศูนย์พักพิงอุทกภัยชั่วคราว 10,764 แห่ง
7. เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำช่วงปลายฤดูฝน : หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างจัดทำฐานข้อมูลกักเก็บน้ำ
8. สร้างการรับรู้และสร้างความเข้มแข็งเครือข่าย : จัดทำแผนบูรณาการการแจ้งเตือนอุทกภัยทั้งระบบ และแผนยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ในภาวะวิกฤติ รวมถึงจัดอบรมเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติแผ่นดินถล่มใน 4 จังหวัด (เชียงใหม่ ตาก เชียงราย แม่ฮ่องสอน)
9. ติดตามประเมินผลและปรับมาตรการ : ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ประชาสัมพันธ์ข้อมูลแก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง และปรับแผนบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์