ไม่ใช่แค่ 50 ปี แต่มันคือประวัติศาสตร์พันกว่าปีของความสัมพันธ์ไทย-จีน
ในวันนี้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว คือวันเริ่มต้นการสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน
แต่ไทยกับจีนผูกพันกันมายาวนานกว่านั้น ในระยะพันกว่าปีมีบันทึกเรื่องไมตรีระหว่างสองประเทศไม่ได้ขาด เว้นแต่ช่วงปลายสมัยราชวงศ์ชิงจนถึงต้นยุคสาธารณรัฐประชาชนจีนเท่านั้นที่ความสัมพันธ์ทางการขาดช่วงไป
ที่ขาดช่วงไม่ใช่เพราะไทยกับจีนบาดหมางกัน แต่เพราะ "โลกสมัยใหม่" ที่ขับเคลื่อนด้วยมหาอำนาจตะวันตก ทำให้ไทยและจีนต้องรับมือกับการคุกคามโดยศัตรูต่างทวีป
จีนต้องตกอยู่ในยุคแห่งความวุ่นวายหลายสิบปีเพราะแผ่นดินถูกฝรั่งและญี่ปุ่นเข้ามาเฉือนไป เช่นเดียวกับไทยที่ต้องคอยระวังการล่าอาณานิคม
จนกระทั่งจีนกลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้งเมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 1949 จีนก็ไม่ต้องเป็น "คนป่วยแห่งเอเชีย" อีกต่อไป และพร้อมที่สานสัมพันธ์กับนานาประเทศอีกคร้ัง
แต่ความสัมพันธ์กับไทยนั้นยังมีอุปสรรคอีกอย่างหนึ่ง คือ ไทยเข้าร่วมกับฝ่าย "โลกเสรี" ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น และยังต้องสู้รบปรบมือกับ "พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย"
กระแสเกลียดและกลัวคอมมิวนิสต์ในไทยนั้นหนักหนายิ่งกว่าความกลัวผี ขึ้นไปฝังอยู่ในสมองของฝ่ายผู้ปกครองบ้านเมืองและประชาชน และทำให้ระแวง "จีนแดง" ไปด้วย
แต่ไม่ใช่ทุกคนในประเทศไทยที่ระแวง "จีนแดง" โดยเฉพาะในหมู่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองและปัญญาชน
ดังนั้น จึงมีความพยายามที่จะติดต่อกับสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่สมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม (สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) แม้จะไม่ประสบความสำเร็จเพราะเกิดความผันแปรทางการเมืองในไทย เนื่องจากสงครามเย็นยังร้อนแรง และฝ่าย "โปรอเมริกัน" ในไทยมีชัยชนะเหนืความพยายามนั้น
แต่ในที่สุด แม้แต่สหรัฐอเมริกาที่เคยหมายหัวจีนเป็นศัตรูตัวฉกาจ ก็ต้องหันเข้าหาจีนในทศวรรษที่ 70 ก็เพราะความผันแปรทางการเมืองนระหว่างประเทศ
และนี่เองที่เปิดโอกาสให้ไทยที่อยากจะคบหากับจีนอีกครั้ง สามารถติดต่อกับจีนได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้เดินทางไปเจรจากับผู้ทรงอำนาจสูงสุดของจีนด้วยตัวเอง นั่นคือ ประธานเหมาเจ๋อตง
เรื่องราวกับพบกันของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ กับประธานเหมาเจ๋อตง ที่ทำเนียบจงหนานไห่นั้น มีให้อ่านกันอย่างแพร่หลาย ไม่ต้องเสียเวลามาทำซ้ำที่นี่อีก และควรย้ำว่าในการพบกันครั้งนั้น ประธานเหมาได้แสดงไมตรีจิตและความเป็น "ญาติ" ต่อผู้นำฝ่ายไทยแล้ว อย่าง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ได้กล่าวว่า "คุยกันอย่างผู้ใหญ่ ที่เห็นเราเหมือนกับเป็นลูกเป็นหลาน"
ในที่สุด ทั้งสองประเทศก็สามารถประกาศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ
ตั้งแต่นั้นมา ในระดับรัฐต่อรัฐ จีนกับไทยยิ่งแนบแน่นขึ้นทุกวัน มีหลายเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่า "จีนช่วยไทย" และ "ไทยสนับสนุนจีน"
ส่วนในระดับประชาชนไม่ได้ "สนิท" กันรวดเร็วปานนั้น คนทั้งสองประเทศคบหากันอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผ่านช่วงเวลาแห่งการปรับตัวที่ค่อนข้างนาน อาจเป็นเพราะ "ความระแวง" ที่ตกค้างมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น
แม้กระทั่งในยุคสมัยนี้ "ความระแวง" ก็ยังคงอยู่แต่มาในรูปแบบอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลทั้งสองควรตระหนักและหาหนทางแก้ไขเสียที เพราะเป็นสิ่งที่บั่นทอน "พื้นฐาน" ความสัมพันธ์ที่มีรากฐานอันยาวนานนับพันปี
ไมตรีอายุพันปีนี้มีหลักฐานปรากฏในหนังสือจีนโบราณหลายเล่ม "ประเทศสยาม" ได้แปลเอกสารเหล่านี้มาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำการแปลโดย หลวงเจนจีนอักษร (สุดใจ) ชื่อว่า "จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ" พรรณนาถึงการเจริญสัมพันธไมตรีแต่โบราณระหว่าง "แว่นแคว้นในแผ่นดินไทย" กับ "ราชวงศ์ต่างๆ ของจีน"
ที่ใช้คำว่า "แว่นแคว้นในแผ่นดินไทย" กับ "ราชวงศ์ต่างๆ ของจีน" ก็เพราะในเวลานั้นยังไม่มีรัฐชาติสมัยใหม่ที่เรียกว่า "ราชอาณาจักรไทย" และ "สาธารณรัฐประชาชนจีน"
ดังนั้น บางคนจึงบอกว่ายุคนั้นไม่มีประเทศไทย ซึ่งก็ถูกเสี้ยวหนึ่ง แต่ก็ไม่ถูกเสียมาก เพราะแม้จะไม่มี "ปรเทศไทย" แต่ก็มี "บรรพบุรุษของคนในประเทศไทย" ปรากฏอยู่แล้ว บรรพบุรุษของคนไทยเหล่านั้นที่เริ่มต้นติดต่อกับจีน
อย่างไรก็ตาม "จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ" คัดเอาเฉพาะบันทึกไมตรีระหว่าง "สยาม" (จีนเรียกว่าประเทศเซียนหลัว) เท่านั้น นั่นคือในยุคหลังจากที่ "ประเทศเซียน" (สุพรรณภูมิหรืออาจเป็นสุโขทัย) รวมกับ "ประเทศหลัวหู่" (ละโว้) กลายเป็นประเทศเซียนหลัว อันถือเป็นจุดกำเนิดของ "สยามประเทศ" ในสายตาของนักประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ยุคต้น
ดังนั้น บันทึกไมตรีนี้จึงมีอายุแค่ราชวงศ์หยวนหรือสมัยสุโขทัย แต่ความจริงแล้ว "ประเทศเสียน" และ "หลัวหู่" มีอายุยาวนานกว่านั้น และยังมีแว่นแคว้นอื่นๆ ในดินแดนสยามประเทศที่เก่าแก่ถึงยุค "หกราชวงศ์" ของจีนและติดต่อกับจีนมาตั้งแต่ยุคนั้น หรือมากกว่า 1,500 ปี
แม้ผมจะเขียนว่า จีนไทยเกี่ยวพันกันมาเป็นพันปี แต่แท้จริงแล้ว "ว่ากันโดยสายเลือด" "คนไทย" กับ "คนจีน" เป็นเครือญาติกันมาหลายพันปี
เพราะ "คนไทย" (รวมถึงไท ไต ลาว จ้วง ผู้ที่พูดภาษาตระกูลไททั้งสิ้น) มีบรรพบุรุษมาจากลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง นั่นคือ "ชาวไป่เยว่" ซึ่งเคยมีถิ่นฐานในแถบตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี และสร้างรัฐโบราณอันก้าวหน้าด้วยอารยธรรมสำริด คือ รัฐอู๋ และรัฐเยว่ ในยุคชุนชิวเรื่อยมาจนถึงยุคจ้านกั๋ว
จนกระทั่ง "จิ๋นซีฮ่องเต้" ทำการรวบรวมแผ่นดินจีนและไล่ตีรัฐต่างๆ รวมถึงรัฐของคนไป่เยว่ ทำให้ให้ชาวไป่เยว่ต้องถอยลงใต้ไปเรื่อยๆ จนไปตั้ง "รัฐหนานเยว่" (เยว่ทางใต้) ที่กวางตุ้ง แล้วก็ถูกไล่ตีอีกจากราชวงศ์รุ่นหลังๆ จน "ถูกกลืนให้เป็นหัวเซี่ย" โดยสมบูรณ์แบบ
"หัวเซี่ย" หมายถึงคนจีนฮั่นที่มีอารยธรรมในแถบแม่น้ำเหลือง ส่วนไป่เยว่มีรากอารยธรรมที่แยงซีเกียง
แต่ยังมีไป่เยว่หรือคนพูดภาษาไทกลุ่มอื่นๆ อพยพไปยังดินแดนห่างไกล เช่น กว่างซีและยูนนาน ทำให้ดินแดนนี้มีคนพูดไทเป็นจำนวนมาก และยังเป็นกลุ่มที่ไม่ "ถูกกลืนให้เป็นหัวเซี่ย" (Sinicized) นั่นคือ ยังไม่ใช่ชื่อแซ่แบบคนหัวเซี่ย ไม่ถือธรรมเนียมหัวเซี่ย และที่สำคัญไวยากรณ์ภาษายังเป็นแบบไท คือ "ใช้คำวิเศษณ์ตามหลัง ไม่ใช่วิเศษณ์นำหน้าเหมือนจีน"
ดังเช่น ภาษากวางตุ้งนั้นมีไวยากรณ์แบบจีน แต่ศัพท์พื้นฐานมากมายล้วนแต่คล้ายภาษาไทย เพราะคนกวางตุ้งเป็น "ไป่เยว่" หรือคนไทที่ถูกกลืนเป็นหัวเซี่ยแล้ว และเมื่อไม่นานมานี้ยังมีการตรวจสอบ DNA พบว่า คนกวางตุ้งและคนไทย (รวมถึงลาว) มี DNA ของฝ่ายมารดาเป็นพวกไปเยว่เหมือนกัน
แม้เรายังไม่รู้ว่าไป่เยว่จากกวางตุ้ง กว่างซี และยูนนนาน อพยพมายังดินแดนของไทยเมื่อใด กี่ระลอก และยาวนานแค่ไหน แต่เรามีจุดเชื่อมโยงของการเคลื่อนตัวของ "คนไทยมาจากจีน" ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการอพยพรุ่นแรกในยุคโบราณเอามากๆ
นี่คือสายใยความเป็น "เครือญาติ" ระหว่างจีนกับไทยในยุคโบราณ
จนกระทั่งอาณาจักรยุคสมัยใหม่ได้ถูกสถาปนาขึ้น คือ ยุคธนบุรีและกรุงเทพฯ เกิดการอพยพของ "คนจีน" เข้ามาชดเชยแรงงานที่ขาดแคลนหลังเสียกรุงศรีอยุธยา กลายเป็นการอพยพระลอกล่าสุดของ "คนจากเมืองจีน" มายังดินแดนของประเทศไทย และอพยพต่อเนื่องมาจนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นาน
การอพยพของ "คนหัวเฉียว" (จีนโพ้นทะเล) ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีคนจีนโพ้นทะเลมากที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก
กระทั่งกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องยากที่ "คนไทย" สักคนจะไม่เกี่ยวข้องกับคนเชื้อสายจีน
และยิ่งกล่าวไม่ได้ว่า "คนไทยอยู่ที่นี่" เพราะต้นกำเนิดของคนที่พูดภาษาไทย มาจากรัฐของชาวไป่เยว่ในแถบมณฑลเจียงซูและเจ้อเจียงในปัจจุบัน และคนเหล่านี้อพยพต่อมาจากกวางตุ้ง กว่างซี และยูนนนานเข้าสู่ดินแดนไทย จากนั้นผสมผสานกลมกลืนกับพวกมอญ-เขมร ซึ่งเป็นเจ้าถิ่นเดิม
นี่คือ "สายเครือไท" และ "สายเลือดจีน" ที่โยงใยไปถึงเมืองจีนแต่โบราณ เพียงแต่ "ความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่" และความไม่รู้ทางประวัติศาสตร์ ทำให้สองดินแดนห่างเหินกันเกินไปในระดับประชาชน
คำกล่าวที่ว่า "จีนไทยใช่อื่นใด พี่น้องกัน" จึงไม่เกินเลยจากความจริงแม้แต่น้อย
แน่นอนว่า แม้แต่ในหมู่พี่น้องท้องเดียวกันก็ยังทะเลาะกันเพราะผลประโยชน์ไม่ลงตัว หรือเพราะความริษยาต่อกัน แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังมีคำว่า "เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ"
ขึ้นอยู่กับว่า "พี่น้อง" เหล่านั้นเห็นแก่อะไรมากกว่ากัน
บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better