ลือสนั่น “อภิมหาแผ่นดินไหว” 5 ก.ค.68 จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่? คำทำนายมังงะทำผวาทั่วเอเชีย!
ในช่วงกลางปี 2568 นี้ ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่ซับซ้อน ทั้งจากธรรมชาติและแรงกดดันทางสังคม โดยเฉพาะจากข่าวลือเกี่ยวกับ “อภิมหาแผ่นดินไหว” ที่แพร่กระจายบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นของประชาชนอย่างเห็นได้ชัด
แม้ญี่ปุ่นจะทำสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุดในประวัติศาสตร์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ด้วยตัวเลขกว่า 3.9 ล้านคน แต่ในเดือนพฤษภาคม จำนวนกลับลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากฮ่องกงซึ่งลดลงถึง 11% จากปีก่อน สืบเนื่องจากข่าวลือที่แพร่ในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเดือนกรกฎาคม 2568
ข่าวลือเหล่านี้มีต้นตอมาจากมังงะชื่อ “The Future I Saw” โดยศิลปิน “เรียว ทัตสึกิ” ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2542 และมีการพาดพิงถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอดีตอย่างแม่นยำ เช่น แผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี 2554 จนทำให้หลายคนเชื่อว่าเนื้อหาในเล่มล่าสุดเป็นการทำนายแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2568
แม้ผู้เขียนจะออกมาแถลงว่าเธอไม่ใช่ผู้พยากรณ์ แต่กระแสความเชื่อกลับยังคงแรง โดยเฉพาะในกลุ่มชาวฮ่องกงที่มีความเชื่อเรื่องโชคลางสูง บริษัททัวร์รายใหญ่ เช่น EGL Tours ยืนยันว่าจำนวนผู้จองทริปญี่ปุ่นลดลงถึงครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้สายการบิน Greater Bay Airlines ต้องยกเลิกเที่ยวบินไปญี่ปุ่นหลายเที่ยว
เพื่อลดความสูญเสียจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัติ แผนบรรเทาภัยพิบัติฉบับปรับปรุง โดยมุ่งรับมือกับแผ่นดินไหวขนาด 9 ตามแนวร่องลึกนันไก (Nankai Trough) ซึ่งนักวิชาการเตือนว่ามีโอกาสเกิดสูงถึง 70–80% ภายใน 30 ปีข้างหน้า แผนใหม่นี้มีเป้าหมายชัดเจน คือลดจำนวนผู้เสียชีวิตลง 80% และลดความเสียหายต่ออาคารลง 50% ภายใน 10 ปี
มาตรการสำคัญที่บรรจุในแผนได้แก่ การเสริมโครงสร้างอาคารในพื้นที่เสี่ยง การสร้างศูนย์อพยพต้านสึนามิ การขยายพื้นที่ส่งเสริมความพร้อมสู่ 723 เทศบาลใน 30 จังหวัด และการประเมินความเสี่ยงและซ้อมอพยพเป็นประจำภายในปีงบประมาณ 2573 นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาศูนย์พักพิงให้เหมาะสมกับการใช้งานระยะยาว และรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ในระดับชุมชน
ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ใน “หมู่เกาะโทคาระ” ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดคาโกชิมะ ได้สร้างความตึงเครียดเพิ่มขึ้น หลังเกิดแผ่นดินไหวมากกว่า 1,000 ครั้งในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.5 แมกนิจูด ทางการได้ประกาศให้อพยพประชาชนบนเกาะอาคุเซกิ (จำนวน 89 คน) ออกโดยสมัครใจเพื่อความปลอดภัย และแม้จะยังไม่มีรายงานความเสียหายรุนแรงหรือผู้เสียชีวิต แต่ประชาชนในพื้นที่เริ่มแสดงความกังวลอย่างชัดเจน บางคนเล่าว่าได้ยินเสียง “คำรามจากมหาสมุทร” ก่อนเกิดแผ่นดินไหวในยามค่ำคืน ซึ่งสร้างบรรยากาศชวนขนลุก ด้านสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ได้แนะนำให้ชาวไทยที่พำนักในพื้นที่ใกล้เคียงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำของทางการญี่ปุ่น
อีกหนึ่งปัจจัยที่เสริมความวิตกคือการปะทุของภูเขาไฟ “ชินโมเอะดาเกะ” บนภูเขาคิริชิมา ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างจังหวัดคาโงชิมาและมิยาซากิ โดยภูเขาไฟได้ปะทุอย่างต่อเนื่องมาแล้วกว่า 10 วัน และปล่อยเถ้าถ่านขึ้นสู่ท้องฟ้าสูงถึง 2,800 เมตร สำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (JMA) เตือนอาจมีไหลของวัสดุภูเขาไฟในรัศมี 3 กิโลเมตร ระดับเตือนภัยยังคงอยู่ที่ ระดับ 3 จาก 5 ระดับ แต่เจ้าหน้าที่เน้นว่าจำเป็นต้องติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเร่งตัวของแม็กมาภายในภูเขาไฟ
แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่เผชิญกับแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1,500 ครั้งต่อปี และตั้งอยู่ใน "วงแหวนไฟแปซิฟิก" (Pacific Ring of Fire) ซึ่งเป็นจุดบรรจบของแผ่นเปลือกโลกหลายแผ่น แต่ประสบการณ์และความพร้อมทางเทคโนโลยีทำให้ญี่ปุ่นมีระบบรับมือที่แข็งแกร่งที่สุดประเทศหนึ่ง
ในภาวะที่ข่าวลือและความกลัวกระจายอย่างรวดเร็ว การสื่อสารที่ชัดเจน การเตรียมพร้อมอย่างจริงจัง และความร่วมมือของประชาชนจึงเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยลดความสูญเสีย และรักษาความเชื่อมั่นของประชาคมโลกต่อประเทศญี่ปุ่นได้อย่างยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เตือนอย่าหลงเชื่อข่าวลือ 2 จังหวัดภาคใต้จะเกิดสึนามิ วันที่ 5 ก.ค. 68
- เช็กด่วนแจ้งเตือน 7 จังหวัด เฝ้าระวังแผ่นดินถล่ม 3 - 5 กรกฎาคม 2568
- แผ่นดินไหวกว่า 900 ครั้งเขย่าหมู่เกาะโทคาระของญี่ปุ่นในเวลาเพียง 2 สัปดาห์
- สรุปเหตุการณ์แผ่นดินไหวหมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย ไม่เกิดสึนามิในไทย
- เตือน! ข่าว “สึนามิ” ไม่ตระหนก แต่ต้องตระหนักถึงความรุนแรง-ความสูญเสีย