‘คลัง’ กวาดเงินทุกบัญชี โยก 6 หมื่นล้านสู้ภาษีทรัมป์
รัฐกวาดเงินทุกกอง โยกงบเยียวยาผลกระทบภาษีทรัมป์ 2 แสนล้าน 4 รายการ สั่งคลัง-สภาพัฒน์ เร่งปั้นโครงการ-จัดงบผูกพันภายใน ก.ย. 68 ดันแผนเข้าประชุมอนุกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ 21 ก.ค.นี้ ชงเข้าบอร์ดใหญ่ที่มีนายกฯรักษาการเป็นประธานวาระฉุกเฉินเร่งด่วนพิเศษ เข้า ครม. หวั่นการเมืองไม่นิ่งเงินโดนแช่แข็ง
การจัดสรรงบประมาณเพื่อลดผลกระทบจากการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ที่สหรัฐเรียกเก็บจากไทย ในอัตราก่อนเจรจา 36% เดินหน้าคู่ขนานการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569
โยกงบฯเยียวยาเฉียด 6 หมื่นล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งบประมาณที่กระทรวงการคลังจัดสรร โดยการกันวงเงินไว้ 4.7 หมื่นล้าน ซึ่งตัดมาจากยอดงบฯกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.57 แสนล้าน นอกจากนี้ยังมีงบฯกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนที่รัฐบาลอนุมัติไปเพื่อลดผลกระทบภาคการส่งออก เพิ่มผลิตภาพ และดิจิทัล วงเงินรวม 11,122 ล้านบาท ยอดงบประมาณที่จะใช้ในการลดผลกระทบจากภาษีตอบโต้จากสหรัฐ ประมาณ 5.8 หมื่นล้าน
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เร่งจัดทำโครงการเตรียมไว้ เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการขึ้นภาษีตอบโต้ของสหรัฐ ซึ่งต้องรอขั้นตอนและพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง และผ่านการกลั่นกลองระดับอนุกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ และนำเสนอเข้าบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และผลักดันเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี (ครม.)
นอกจากนั้น บอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจยังต้องเห็นชอบให้มีการเปลี่ยนแปลงรายการใช้งบประมาณ จากเดิมใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เปลี่ยนเป็นใช้เพื่อโครงการ หรือแผนงานที่ลดผลกระทบจากการตอบโต้ภาษีของสหรัฐ
“คาดว่าขั้นตอนทั้งหมดต้องเร่งอย่างรวดเร็ว เพื่อเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ให้ได้ก่อนเดือนกันยายนนี้ เพื่อทำรายการก่อหนี้ผูกพัน”
หวั่นการเมืองไม่นิ่ง เงินแช่แข็ง
แหล่งข่าวระบุด้วยว่า ส่วนราชการที่ต้องจัดทำโครงการมีความกังวลเรื่องการเมืองที่มีความไม่แน่นอน และกลไกของคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เดิมมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอนุมัติ เมื่อเปลี่ยนแปลงเป็นนายกฯรักษาการ จะสามารถเร่งรัดหรืออนุมัติโครงการและงบประมาณทั้งหมดได้หรือไม่ อีกทั้งยังวิเคราะห์กันด้วยว่า หากมีการลาออก หรือยุบสภา งบประมาณก้อนนี้ต้องถูกแขวน เพื่อรอความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในกรณีเป็นรัฐบาลรักษาการหรือไม่
อย่างไรก็ตาม งบประมาณก้อนนี้ยังสามารถปรับเปลี่ยนไปเป็นการตั้งกองทุนเพื่อการเยียวยาผลกระทบจากภาษีสหรัฐ ที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.กองทุนหมุนเวียน ก็สามารถทำได้
สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ขณะนี้ผ่านความเห็นชอบในหลักการจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคณะรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าจะผ่านเข้าสู่วาระ 2-3 และเข้าสู่กระบวนการทูลเกล้าฯ และประกาศใช้ตามเวลาที่คาดหมาย ต้นเดือนตุลาคม 2568 แต่ถ้ามีอุบัติเหตุทางการเมือง หรือมีการยุบสภา ก็ต้องเริ่มตั้งต้นจัดทำพระราชบัญญัติงบประมาณกันใหม่
ในงบประมาณ 2569 ตั้งงบฯกลางรายการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท แต่ในชั้นกรรมาธิการได้ตกลงให้มีการปรับ และปรับลดงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นออกมา แล้วนำไปรวมไว้ในส่วนของงบประมาณที่เป็นงบฯกลาง รายการกระตุ้นเศรษฐกิจ เกลี่ยเข้างบฯกลางเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินจำเป็น หรือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดสรรในโครงการช่วยเหลือธุรกิจ และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐได้
คลังประชุมกระตุ้น ศก. 21 ก.ค.นี้
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในวันที่ 21 ก.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีการพิจารณางบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนที่เป็นงบฯดิจิทัลวอลเลตเดิม ที่ยังมีวงเงินเหลืออีกเกือบ 50,000 ล้านบาท ว่าจะนำมาใช้ในการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภาษีตอบโต้ของสหรัฐอย่างไรบ้าง
“ไม่ว่าการเจรจาภาษีจะออกมาที่อัตราภาษีเท่าใด ก็จำเป็นจะต้องมีการเยียวยา เพราะเรื่องนี้เป็น Global Trade War ทุกประเทศกระทบกันหมด และต้องหาทางเอาตัวรอด ซึ่งสำหรับไทยเองก็คาดว่าสินค้าจากจีนจะไหลเข้ามา ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศได้รับผลกระทบ ก็ต้องมีการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถรับมือได้”
โดยกระทรวงการคลังได้วางแนวทางการรับมือ ซึ่งจะใช้เงินประมาณ 200,000 ล้านบาท โดยเงินส่วนนี้จะมาจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ วงเงินกว่า 100,000 ล้านบาท อีกส่วนจะเป็นเงินที่จัดสรรให้กระทรวงแรงงานไป 10,000 ล้านบาท ซึ่งทางกระทรวงแรงงานจะนำเงินดังกล่าวไปฝากแบงก์ เพื่อให้แบงก์ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับภาคเอกชน และแรงงานที่ได้รับผลกระทบ
ขณะที่วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหลือเกือบ 50,000 ล้านบาทนั้น ก็กำลังพิจารณาว่าจะนำมาใช้กับโครงการลักษณะใดบ้าง และตอนใกล้สิ้นปีงบประมาณ 2568 จะพิจารณาว่า งบฯที่ใช้ไม่ทันสิ้นเดือน ก.ย.ก็จะรวบมา นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารพาณิชย์จะสนับสนุนอีกส่วนหนึ่ง
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณ จากงบฯดิจิทัลวอลเลต ที่เหลือเกือบ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐ จะดำเนินการได้ทันสิ้นเดือน ก.ย. 2568 นี้ โดยรายละเอียดจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ‘คลัง’ กวาดเงินทุกบัญชี โยก 6 หมื่นล้านสู้ภาษีทรัมป์
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net