ศึกวงการบันเทิงเดือด! ONEE เร่งเกม Idol ดึงคู่จิ้นซีรีย์วายดันไตรมาส 2/68
ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น "บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ONEE" ปิดการซื้อขายวันนี้ (21 ก.ค.68) อยู่ที่ 2.24 บาท ลดลง 0.02 บาท คิดเป็น -0.88% มูลค่าการซื้อขาย 1.09 ล้านบาท ราคาขึ้นสูงสุด 2.28 บาท และลดลงต่ำสุด 2.22 บาท
"บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ONEE" เป็นผู้นำในธุรกิจสื่อ และบันเทิงครบวงจร มีรายได้ 3 ธุรกิจสร้างรายได้ผ่านช่องทางออฟไลน์-ออนไลน์ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รายละเอียดดังนี้คือ
- Content Marketing เป็นธุรกิจการหารายได้จาก Content ที่ผลิตขึ้น โดยนำไปหารายได้ในช่องทางต่างๆ ทั้งจาก TV, Online, Copyright & Licensing, Radio
- Idol Marketing เป็นรายได้ที่มาจากกิจกรรมต่างๆของศิลปินในสังกัด ซึ่งประกอบไปด้วย Artist Management, Concert & Event และ Merchandising ซึ่งเป็นธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของฐานแฟนคลับของศิลปิน และมีแนวโน้มเติบโตอย่างชัดเจน
- Production Business ประกอบด้วย Production Services และ Studio Rental ซึ่งเป็นธุรกิจที่ช่วยเติมเต็ม Ecosystem ให้กับกลุ่มบริษัทให้มีธุรกิจครบถ้วนตั้งแต่ ต้นน้ำ-ปลายน้ำ
Content Marketing ปี67 คิดเป็นสัดส่วน 63% ของรายได้รวม
Idol Marketing สัดส่วน 34.8%
Production สัดส่วน 2.2%
ผลงานไตรมาส 1/68 หุ้น ONEE ขาดทุนสุทธิ 22 ล้านบาท พลิกจากกำไร 106 ล้านบาทในไตรมาส 4/67 และ 31 ล้านบาทในไตรมาส 1/67 จากภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปยังคงกดดันให้ส่วนแบ่งเม็ดเงินโฆษณาของอุตสาหกรรมโทรทัศน์หดเหลือ 37.2% จาก 38.4% ณ สิ้นปี 2024
ผนวกกับ ONEE มี content ใหม่น้อย และผู้ซื้อสื่อโฆษณาชะลอตามฤดูกาล เหล่านี้ทำให้รายได้ Content Marketing หดตัว -13.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และ Production ลดลง -50.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ดีIdol Marketing โตแรง +48.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายสัดส่วนรายได้เป็น 45.2% จาก 34.8% ณ สิ้นปี 2024 เป็นผลต่อเนื่องจากผลสำเร็จของ Series Y ทำให้ภาพรวมรายได้รวมยังโตได้ +4.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โครงสร้าง Idol Marketing ในไตรมาส 1/68 แบ่งเป็น
- รายได้บริหารศิลปิน 349 ล้านบาท ขยายตัว 45.19% จากพรีเซนเตอร์-แบรนด์แอมบาสเดอร์
- รายได้คอนเสิร์ตและอีเวนต์ 152 ล้านบาท ขยายตัว 19.5% เช่น งานคู่จิ้นต่างๆ
- รายได้สินค้าที่ระลึก 156 ล้านบาท ขยายตัว 107.2% เนื่องจากมีฐานแฟนคลับที่หนาแน่น
อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin หรือ GPM) หดตัว 30.4% จาก 38.5%ในไตรมาส 4/67 และ 36.2% ในไตรมาส 1/67 จากสัดส่วนรายได้ Idol Marketing ที่สูงขึ้น อัตรากำไรขั้นต้น 25-35% ทดแทน Content Marketing อัตรากำไรขั้นต้น 40%-50% ซึ่งอิงกับรายได้โฆษณาเป็นหลักยังไม่ได้
ขณะที่ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้รวมของบริษัท (SG&A/revenue) 32.4% ลดลง -130bps จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาคุมให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยในงาน Opportunity Day ไตรมาส 1/68 ผู้บริหารตั้งเป้าเพิ่มกำไรรายอีเว้นต์, สินค้า, ผลักดันศิลปินใหม่ และใช้ Data Analytics ในการวางแผนเชิงกลยุทธ์
ส่วนประเด็นสหรัฐอาจขึ้นภาษีภาพยนตร์ที่ผลิตในต่างประเทศ 100% ยังต้องเฝ้าระวังเพราะอาจกระทบธุรกิจ co-production ได้
นายจรูญพันธ์ วัฒนวงศ์ หัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.ลิเบอเรเตอร์ กล่าวว่า ในปี 2568 กำไรยังหดตัว คาดไตรมาส 2/68 กำไรฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้า(QoQ) จาก content ใหม่และกิจกรรมคอนเสิร์ตหลายรายการ แต่ด้วยฐานกำไรสูงปีก่อน 120 ล้านบาท ทำให้กำไรในไตรมาส 2/68 จะยังหดตัวจากปีก่อนเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน ส่วนปีนี้ Bloomberg consensus คาดกำไร 322 ล้านบาท หดตัวลง -23.5% จากปีก่อน
หุ้น ONEE ซื้อขายที่ P/E ปี68 ที่ 17 เท่า ถูกกว่า BEC มี P/E 19.4 เท่า เพราะกำไรสุทธิต่อหุ้น (Earning Per Share หรือ EPS) ปี 2568 คาดหดตัว 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สวนทางกับ BEC ที่ Core Earnings Per Share หรือ กำไรต่อหุ้นหลัก ยังโตได้ 8-10% ทำให้ BEC น่าสนใจกว่า
อย่างไรก็ดีIdol Marketing เป็นจุดแข็งที่น่าสนใจในระยะกลาง เพียงแต่สัดส่วนรายได้ของ Content Marketing ยังสูง ทำให้ต้องใช้เวลาในการผลักดัน Idol Marketing ขึ้นมาสอดรับทดแทนกัน
ด้านความเสี่ยง เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงถูกปรับคาดการณ์ GDP ลงหลังประเด็นภาษีนำเข้าสหรัฐชัดเจน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินโฆษณาที่ลดลงตามมา ซึ่งจะกระทบ Content Marketing อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ ธุรกิจ Idol Marketing จะต้องมีการสร้าง/ทดแทน/เติมศิลปินใหม่ต่อเนื่องเพื่อรักษาการเติบโต
"ในเชิงกลยุทธ์เราแนะนำ wait & see ไปก่อนจนกว่าจะเห็นความชัดเจนเรื่อง GDP ซึ่งแม้ Bloomberg Consensus ให้ราคาเป้าหมาย 2.38 บาท คาด Dividend Yield ที่ 5.2% แต่ยังไม่ดึงดูดมากนัก"