สส.เอกราชชี้ คดีน้องเมยสะท้อนปัญหาศาลทหาร ชงแก้กฎหมายให้ทหารกระทำผิดขึ้นศาลพลเรือน
วันนี้ (22 กรกฎาคม) เอกราช อุดมอำนวย สส. กทม.พรรคประชาชน แสดงความเห็นต่อกรณีศาลทหารชั้นฎีกามีคำพิพากษาในคดี ภคพงศ์ ตัญกาญ หรือ ‘เมย’ นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 เสียชีวิตหลังถูกธำรงวินัยภายในโรงเรียนเตรียมทหาร โดยให้นักเรียนเตรียมทหารดังกล่าว รับโทษจำคุก 4 เดือน 16 วัน ปรับ 15,000 บาท ให้รอลงอาญา 2 ปี
เอกราชระบุว่า เรื่องนี้สะท้อนความอยุติธรรมในค่ายทหาร อย่างร้ายแรงและสมควรแก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธรรมนูญศาลทหาร และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
เอกราชกล่าวถึงความลักลั่นในกระบวนการสอบสวนและการพิจารณาการดำเนินคดีในศาลทหาร ขาดความเท่าเทียมระหว่างจำเลย (ที่ได้รับการแต่งตั้งทนายได้) กับโจทก์ (ครอบครัวที่ไม่สามารถมีทนายในศาลทหารได้ ) เกิดจากอำนาจฟ้องของพลเรือน เป็นโจทก์ร่วมมิได้
“การดำเนินคดีแบบนี้จึงสร้างความรู้สึก ‘คนละชั้น’ และอาจส่งผลให้การพิจารณาผิดพลาดหรือลิดรอนสิทธิของครอบครัว ในร่าง พ.ร.บ. ธรรมนูญศาลทหาร ที่ผมได้ยื่นแก้ไขไปแล้ว ขณะนี้บรรจุในระเบียบวาระ” เอกราชกล่าว
เอกราชชี้ว่า มีบทลงโทษที่ไม่สอดคล้อง และไม่ได้สัดส่วน โทษรอลงอาญา 2 ปี เนื่องจากศาลเห็นว่าจำเลยสามารถรับราชการต่อได้ แต่ในกรณีที่มีผู้เสียชีวิต การให้โอกาสแบบนี้ อาจลดทอนความเป็นธรรม และจิตสำนึกต่อความรุนแรงในการฝึกทหาร เปรียบเทียบกับคดีในศาลอาญาทุจริตตัดสินคดีที่ วรปรัชญ์ พัดมาสกุล สังกัดหน่วยฝึกทหารใหม่ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ถูกครูฝึกและรุ่นพี่ทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บสาหัส มีอาการสมองบวม ซี่โครงหักทั้ง 2 ข้าง ปอดฉีก ไหปลาร้าหัก และกระดูกสันหลังหัก ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมาศาลสั่งจำคุกครูฝึกซ้อมทหารเกณฑ์ตาย สูงสุด 20 ปี นับเป็นคดีแรก ตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย
เอกราชยังระบุถึงความรับผิดชอบของสถาบันทหาร และกระทรวงกลาโหม โดยชี้ว่า กลาโหมยังพยายามจะดึงคดีทำนองนี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอำนาจศาลอาญาทุจริตฯ เพื่อให้คดีกลับไปสู่อำนาจของศาลทหารฯ สะท้อนจากการให้ความเห็นของศาลทหาร กรณีทำคำวินิจฉัยเขตอำนาจศาลว่า คดีของ กิตติธร เวียงบรรพต ทหารเกณฑ์พลัดที่ 1/66 ค่ายเม็งรายมหาราช จังหวัดเชียงราย เสียชีวิตหลังเข้ารับการเกณฑ์ทหารควรขึ้นศาลทหาร
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้สะท้อนว่า ทหารทำผิดควรขึ้นศาลพลเรือน และยังร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่ค้างอยู่ในสภาว่าคดีอาญาทุจริตควรขึ้นศาลพลเรือนด้วย
“คดีน้องเมยเป็นสัญญาณเตือนสำคัญว่า ระบบทหารต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน ทั้งในเรื่องกระบวนการยุติธรรม การดูแลสิทธิของเหยื่อ และระบบการเยียวยา หากเราไม่ลงมือแก้ไข อาจจะมีเรื่องราวของชีวิตที่สูญเสียอีกโดยไม่รู้ตัวในสถาบันทหาร ซึ่งเป็นที่พึงให้สังคมสามารถไว้ใจได้” เอกราชระบุ
เอกราชย้ำว่า ในฐานะ สส. ฝ่ายนิติบัญญัติ จะผลักดันการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอิสระ เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบ การพิจารณา และการเยียวยาถูกต้องเป็นธรรม โปร่งใสต่อสาธารณะ และเป็นการสร้างระบบทหารที่ทันสมัย เคารพสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง