“ราคาน้ำมันดิบ” พุ่ง เบรนท์ปรับขึ้น 0.8% รับข่าวอิหร่านระงับความร่วมมือ IAEA
"ราคาน้ำมันดิบ" พุ่ง เบรนท์ปรับขึ้น 0.8% รับข่าวอิหร่านระงับความร่วมมือ IAEA นักลงทุนจับตาข้อมูลจ้างงานและสต๊อกน้ำมันสหรัฐ กำหนดทิศทางเศรษฐกิจและอุปสงค์น้ำมันในระยะถัดไป
วันที่ 2 กรกฎาคม 2568 เวลา 16.59 น. สำนักข่วารอยเตอร์รายงานว่า ราคาน้ำมันขยับขึ้นเล็กน้อยในวันพุธ หลังอิหร่านประกาศระงับความร่วมมือกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ขณะที่ตลาดประเมินแนวโน้มซัพพลายจากผู้ผลิตรายใหญ่ที่จะเข้าสู่ตลาดในเดือนหน้า ขณะเดียวกันเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงต่อเนื่อง
*ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับขึ้น 56 เซนต์ หรือ 0.8% อยู่ที่ 67.67 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ณ เวลา 09.34 GMT ขณะที่ น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส อินเตอร์มีเดียต (WTI) ของสหรัฐ ปรับขึ้น 53 เซนต์ หรือ 0.8% อยู่ที่ 65.98 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล*
ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 66.34-69.05 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังความกังวลเกี่ยวกับซัพพลายจากตะวันออกกลางลดลงจากข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล
อิหร่านมีผลบังคับใช้กฎหมายเมื่อวันพุธที่ผ่านมา กำหนดให้การตรวจสอบสถานที่นิวเคลียร์ของอิหร่านโดย IAEA ในอนาคตต้องได้รับอนุมัติจากสภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุดของเตหะราน โดยอิหร่านกล่าวหา IAEA ว่าเข้าข้างชาติตะวันตกและเป็นข้ออ้างให้เกิดการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล
จิโอวานนี สตาโนโว นักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์จาก UBS กล่าวว่า "ตลาดกำลังสะท้อนความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์จากการเคลื่อนไหวของอิหร่านกับ IAEA ผ่านราคาน้ำมัน แต่ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของ Sentiment เท่านั้น ยังไม่มีซัพพลายถูกรบกวนจริง"
ด้านความคืบหน้าการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) รวมถึงรัสเซีย ดูเหมือนว่าตลาดได้ปรับตัวรับข่าวไปแล้ว และไม่น่าจะมีผลกระทบช็อกตลาดอีกในระยะสั้น ตามความเห็นของปรียังกา ซาเชวา นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Phillip Nova
แหล่งข่าวจาก OPEC+ เผยกับ Reuters เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า กลุ่มมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 411,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณที่เพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา
ข้อมูลจาก Kpler ระบุว่า ซาอุดีอาระเบียเพิ่มการส่งออกน้ำมันในเดือนมิถุนายน 450,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนพฤษภาคม สูงสุดในรอบกว่า 1 ปี อย่างไรก็ตามภาพรวมการส่งออกของกลุ่ม OPEC+ ตั้งแต่เดือนมีนาคมยังคงทรงตัวหรืออ่อนตัวลงเล็กน้อย ซึ่งคาดว่าจะดำเนินต่อเนื่องในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากอากาศร้อนทำให้ความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศเพิ่มขึ้น
เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ล่าสุดแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ซึ่งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์มักจะเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมัน เพราะช่วยกระตุ้นความต้องการของผู้ซื้อที่ใช้สกุลเงินอื่น
โทนี ไซคามอร์ นักวิเคราะห์จาก IG ระบุว่าข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ ที่จะประกาศในวันพฤหัสบดีนี้จะเป็นตัวกำหนดทิศทางความคาดหวังต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงมีแนวโน้มกระตุ้นเศรษฐกิจ และผลักดันความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันตลาดยังรอข้อมูลสต๊อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ซึ่งจะประกาศในเวลา 10.30 น. ตามเวลาสหรัฐ โดยข้อมูลจากสถาบันปิโตรเลียมอเมริกัน (API) ระบุว่าสต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 680,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งที่ตามปกติในช่วงฤดูร้อน สต๊อกน้ำมันจะลดลงจากดีมานด์ที่เพิ่มสูงขึ้น
อ้างอิง : www.reuters.com