8 ปี คดี "น้องเมย" สู้บนศาลทหาร ยุติธรรมหรือไม่?
คำพิพากษาของศาลทหารสูงสุด ในคดีการเสียชีวิตของภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ เมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 โรงเรียนเตรียมทหารหลังถูกรุ่นพี่สั่งธำรงวินัย ให้จำเลยจำคุก 4 เดือน 16 วัน ปรับ 15,000 บาท โดยแต่ให้รอลงอาญา จุดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์และเป็นคำถามถึงความยุติธรรมสองมาตรฐานหรือไม่ ในกรณีที่พลเรือนจะต้องสู้คดีในศาลทหาร
คดีนี้ ครอบครัวซึ่งเป็นพลเรือนต้องมาต่อสู้ให้ลูกชายที่เป็นนักเรียนเตรียมทหาร และสถานที่เกิดเหตุก็เป็นที่โรงเรียนเตรียมทหาร จึงต้องสู้คดีในศาลทหาร เพราะเป็นการกำหนดเขตอำนาจศาล ทั้งที่เหตุเรื่องนี้ น่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับการธำรงวินัยแต่อย่างใด ตามที่ ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตไว้
ผศ.ปริญญา มองว่า คดีนี้ควรขึ้นศาลอาญาปกติ แต่ครอบครัวตัญกาญจน์ไม่ได้รับสิ่งนั้น
"มีการดำเนินการแบบไม่ตรงไปตรงมา มีคำถามเกิดขึ้น เรื่องที่สำคัญที่สุด สภาพร่างกายบอบช้ำไม่ใช่เรื่องของการธำรงวินัย ธำรงวินัยคือส่วนของการฝึกก็ยังพอทำเนา แต่กรณีนี้เป็นเรื่องของรุ่นพี่ดำเนินการ และจากข้อเท็จจริงภคพงศ์ถูกสั่งให้ฝึกโดยรุ่นพี่จนบาดเจ็บ ยังถูกฝืนมากกว่า 1 และเข้าใจว่าเรื่องของการขึ้นบันไดเป็นผลของการทำร้ายมากกว่าทำร้ายทางวินัยตามขอบเขตของการฝึก"
การต่อสู้คดีในศาลทหาร ทำให้ครอบครัวไม่สามารถตั้งทนายความสู้คดีได้ ต้องใช้อัยการมาช่วยในการต่อสู้คดี ในขณะที่จำเลยกลับได้รับสิทธิในการแต่งตั้งทนายความสู้คดีได้
ยังไม่นับรวมข้อสังเกตเรื่องความยากในการหาพยานหลักฐานมายืนยันที่ยากลำบาก ไปจนถึงกรณีที่อวัยวะบางส่วนที่หายไป อย่างสมอง หัวใจ กระเพาะอาหาร ซึ่งอาจจะเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ถึงอาการบาดเจ็บจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต ไม่ใช่เพราะอาการเจ็บป่วย ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดจากการช่วยเหลือ หรือบิดเบือนหลักฐาน ทำให้ความยุติธรรมบิดเบี้ยว จากความลักลั่นด้วยหรือไม่
"มีการกลบเกลื่อนที่เห็นได้ชัด ว่ามีการส่งอวัยวะที่หายไปคืนให้ญาติแล้ว แต่พอไปรับไม่ใช่ของภคพงศ์ ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้ความเป็นธรรมต่อไป และทางกองทัพก็ไม่ควรนิ่งเฉย"
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ประธานกรรมาธิการการทหารสภาผู้แทนราษฎร ชี้ให้เห็นเรื่องนี้เช่นกัน
"ไม่ใช่คำพิพากษาสุดท้าย ก่อนการพิพากษาต้องมีการสืบคดีต่างๆ การสอบปากคำต่างๆ จากปากคำของคนในครอบครัว พยานที่จะเข้าให้ปากคำในทางที่เป็นคุณ เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของภคพงศ์ ถูกข่มขู่ ถูกกีดกัน ถูกขัดขวางมาโดยตลอด ทำให้กระบวนยุติธรรมบิดเบี้ยว ซึ่งจะแตกต่างจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพราะใช้การไต่สวน"
คดีภคพงศ์ เกิดขึ้นก่อนที่จะมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือ อุ้มหาย ซึ่งถ้าเทียบเคียงกับคดีในลักษณะคล้ายกัน คือการคดีที่ครูฝึกและรุ่นพี่ซ่อม พลทหารวรปรัชญ์ พัดมาสกุล หน่วยฝึกทหารใหม่ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ที่ถูกทำร้ายร่างกายโดยอ้างว่าเป็นการซ่อม จนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตเมื่อเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว คดีนี้ใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย มาดำเนินคดี พิจารณาโดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2568 ที่ผ่านมา ลงโทษจำเลยที่เป็นครูฝึกและรุ่นพี่ตั้งแต่ 10-20 ปี ตามลำดับ จึงอดเทียบเคียงไม่ได้ว่าถ้าหากมีการนำคดีขึ้นศาลอาญา บทสรุปของคดีจะเปลี่ยนไปหรือไม่
ความลักลั่นในลักษณะนี้เอง เป็นเหตุให้พรรคประชาชน เตรียมผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร เพื่อให้เกิดความยุติธรรมขึ้นอย่างแท้จริง
"ยืนยันชัดเจนแล้วว่าต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตฯ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อให้คดีทุจริตซึ่งหลายกรณียังพิจารณาในศาลทหาร ดังนั้นทหารที่ทุจริตก็ต้องขึ้นศาลอาญาทุจริต"
หลังจากนี้ครอบครัวยืนยันจะพยายามเดินหน้าต่อในคดีอวัยวะหาย ซึ่งก็ไม่ชัดว่าจะได้ผลให้แพทย์ที่ต้องรับผิดชอบความพยายามกลบเกลื่อนการกระทำผิด ปิดบังหลักฐานการเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บ ไม่ใช่อาการป่วย ได้รับโทษด้วยหรือไม่ และไม่ชัดว่าจะมีคดีแพ่งต่อไปหรือไม่ แต่อย่างน้อยในคดีที่เกิดขึ้นนี้ แสดงถึงวัฒนธรรมช่วยให้ลอยนวลพ้นผิดในแวดวงทหารที่ควรต้องยุติ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ครอบครัวของผู้ที่ต้องสูญเสียในลักษณะนี้
อ่านข่าว :
ชยพล-วิโรจน์ซัดศาลทหาร "คดีน้องเมย" สะท้อนความอยุติธรรม
ไทม์ไลน์ 8 ปี คดี "เมย ภคพงศ์" นตท.ปี 1 เสียชีวิต ใน รร.เตรียมทหาร