NETBAY กางแผนครึ่งปีหลัง 68 ฝ่าสงครามการค้า
NETBAY กางแผนธุรกิจครึ่งหลังปี 68 ฝ่าสงครามการค้า ชู AI อัพเกรด 3 แพลตฟอร์มหลัก เสริมทัพ RegTech เต็มสูบ งานเอกชนโตต่อเนื่อง
นางกอบกาญจนา วีระพงษ์ประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เน็ตเบย์ (NETBAY) เปิดเผยถึงการดำเนินธุรกิจครึ่งปีหลัง 2568 ว่า หัวใจสำคัญคือธุรกิจหลัก 3 แพลตฟอร์มที่เป็น Recurring Income และการพัฒนาใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์โลกยุคดิจิทัล โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI ) และ RegTech มาใช้ยกระดับบริการ
ในครึ่งปีหลังคาดว่าจะเห็นการเติบโตต่อเนื่องของ NETBAY โดยเฉพาะงานภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 90% ของรายได้รวม และอีก 10% เป็นงานภาครัฐ
“คาดว่าจะได้รับงานภาครัฐเพิ่มในช่วงที่เหลือของปีนี้แต่คงส่งมอบได้ในปี 2569 แม้ยังต้องจับตาการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐอย่างใกล้ชิด”
นางกอบกาญจนา กล่าวว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้บริษัทระมัดระวังในการดำเนินงานมากขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องสงครามการค้าสหรัฐฯ แม้ว่าจะไม่ได้กระทบกับการดำเนินงานของบริษัทโดยตรง แต่ก็เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบทางอ้อมผ่านลูกค้า
พร้อมกันนี้จะเดินหน้าพูดคุยกับพันธมิตรในกลุ่ม IT&Consult อย่างต่อเนื่อง คาดเห็นความชัดเจนภายในปีนี้ถึงปีหน้า
ปัจจุบัน NETBAY ให้บริการ 3 แพลตฟอร์มหลัก
- ShippingNet Pluz แพลตฟอร์มให้บริการจัดทำ นำส่งใบขนสินค้านำเข้า-ส่งออก ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องและยาวนานสำหรับกลุ่มลูกค้าโลจิสติกส์ โดยได้ Add Value และเปิดตัว Feature ใหม่โดยการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการทำงานให้ลูกค้าที่ใช้บริการได้รับความสะดวก ลดระยะเวลา เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากยิ่งขึ้น
- AiBox เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาต่อยอดจาก iBox เดิมเพื่อยกระดับให้เป็น “The Trusted Digital Transformation Platform” ที่สมบูรณ์แบบ พร้อมร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง
- CHECK+ แพลตฟอร์มที่เน้นการให้บริการกลุ่มงานด้านการกำกับดูแล (Compliance) อย่างครบวงจร อาทิ ตรวจสอบตัวตน บันทึกข้อมูลการทำธุรกรรม และนำส่งรายงานการทำธุรกรรมให้กับหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อช่วยยกระดับให้ภาคธุรกิจสามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของหน่วยงาน อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในภาคธุรกิจได้
นอกจากนี้ บริษัท เคลาด์ ครีเอชั่น จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทย่อย ของ NETBAY ได้มีการลงนามใน NDA ทั้ง 2 ฉบับกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อครอบคลุมบริการเชื่อมต่อระบบตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงด้านการฟอกเงินและรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด และได้รับอนุญาตเชื่อมต่อระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการรายงานธุรกรรมในฐานะผู้ให้บริการตัวกลาง
กอบกาญจนา กล่าวว่า บริษัทฯ ยังคงเติบโตทั้งมุมรายได้และความสามารถในการขยายฐานลูกค้าในบริการเดิมและบริการใหม่ของบริษัท โดยมีการนำเทคโนโลยี เช่น AI หรืออื่นๆ เข้ามา Add Value เพื่อขยายบริการของบริษัทได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่า เมื่อมีการพัฒนาแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง และสามารถให้บริการได้ครอบคลุมมากกว่าเดิม
นอกจากนี้สามารถขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ การให้บริการ AiBox กับลูกค้ากลุ่มธุรกิจ Retail และ Nano Leasing, การให้บริการ CHECK+ กับกลุ่มผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 13 (สหกรณ์) และมาตรา 16 (ร้านทอง อัญมณี, เต้นท์รถมือสอง, ผู้ค้าของเก่า เป็นต้น) ตลอดจนการให้บริการ ShippingNet Pluz บนกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการทำธุรกิจมากขึ้น