ชาวเขมรโอด “นมสด” ขาดตลาดหนักใน กัมพูชา หลังปิดด่าน แบนสินค้าไทย
ชาวกัมพูชา ทนไม่ไหว! ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ไม่มีนมสดขายแม้แต่ยี่ห้อเดียว หลังเกิดปัญหาการนำเข้าที่ชายแดนไทย-เขมร
กลายเป็นประเด็นร้อนที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้บริโภคใน ประเทศกัมพูชา เมื่อมีรายงานจาก Cambodia Expats Online ว่า เกิดภาวะขาดแคลน นมสด อย่างหนัก จนทำให้ชั้นวางสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ว่างเปล่า ไม่เว้นแม้แต่แบรนด์ยอดนิยมของกัมพูชาอย่าง คิริสุ (Kirisu)
ผู้บริโภคและชาวเน็ตในกัมพูชาต่างพากันตั้งคำถามและแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว หลังจากพบว่าชั้นวางจำหน่ายนมสดในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศแทบจะถูกกวาดจนเกลี้ยง เหลือทิ้งไว้เพียงผลิตภัณฑ์นม UHT เท่านั้น
จากการวิเคราะห์เบื้องต้น คาดว่าภาวะขาดแคลนในครั้งนี้มีต้นตอมาจาก ความวุ่นวายบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งส่งผลให้การนำเข้านมสดจากประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าหลักของกัมพูชา ต้องหยุดชะงักลงอย่างกะทันหัน
เมื่ออุปทานนมสดจากไทยซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดหายไป จึงก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ ทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อและกักตุนนมสดยี่ห้อท้องถิ่นของกัมพูชาแทน จนส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนในวงกว้างอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนว่าจะคลี่คลายลงเมื่อใด และมีความกังวลว่าอาจจะไม่ใช่ปัญหาชั่วคราว ทำให้เกิดการเสนอแนวทางแก้ไขในระยะยาว เช่น การกระจายความเสี่ยงโดยการนำเข้าจากประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้น หรือการส่งเสริมและขยายกำลังการผลิตนมสดภายในประเทศกัมพูชาเองเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค
กัมพูชาแบน “ผักผลไม้ไทย” เสี่ยงเสียหายหนักไม่แพ้ “นมสด”
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการค้าบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชากำลังเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง หลังจากรัฐบาลกัมพูชาได้ออกมาตรการจำกัดการนำเข้าผักและผลไม้จากประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและสร้างความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในหมู่ผู้ค้าและนักวิเคราะห์ของกัมพูชา
ที่ตลาดดองตอง จังหวัดเกาะกง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พึ่งพาสินค้าจากไทยเป็นหลัก ผู้ค้าหลายรายได้แสดงความกังวลต่อรายได้ที่หายไปและจำนวนลูกค้าที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
นายยาล ยาโก พ่อค้าทุเรียนวัย 31 ปี เล่าว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เขานำเข้าสินค้าจากไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะทุเรียนที่นำเข้ามาขายก่อนที่ฤดูกาลของกัมพูชาจะเริ่มขึ้น เขากล่าวว่า “หากการจำกัดการนำเข้ายังคงดำเนินต่อไป ธุรกิจของผมก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน” แต่ในอีกมุมหนึ่งเขาก็มองเห็นโอกาส “ก่อนหน้านี้ แม้เราจะขายสินค้าท้องถิ่น แต่ผู้ซื้อก็คิดว่าเป็นของนำเข้า ตอนนี้เราสามารถขายได้อย่างมั่นใจมากขึ้น”
ขณะที่ นางเยือน มาจ แม่ค้าผลไม้รวมวัย 52 ปี กล่าวว่า 80% ของผลไม้ที่เธอขายนำเข้ามาจากไทย “ตั้งแต่ด่านจามเยี่ยมจำกัดเวลาข้ามแดน ลูกค้าก็ลดลงแล้ว พอมาแบนผักผลไม้อีก นี่คือความท้าทายครั้งใหม่” เธอกล่าวว่าจะหันมาสนับสนุนสินค้าท้องถิ่นแม้จะมีราคาสูงกว่าก็ตาม
ด้าน นางรี มาว แม่ค้าขายผักที่มีประสบการณ์กว่า 20 ปี เผยว่าตอนนี้เธอสามารถขายสินค้าท้องถิ่นได้ในปริมาณมาก เพราะผู้บริโภคไม่มีทางเลือกอื่น แต่เธอก็แสดงความกังวลเรื่องราคา “พ่อค้ากัมพูชาจะขึ้นราคาเมื่อมีความต้องการสูง ซึ่งต่างจากฝั่งไทยที่รักษาราคาตลาดให้คงที่”
ในกรุงพนมเปญ ผู้ค้าส่วนใหญ่รายงานว่าได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าจากหลายแหล่ง ทั้งเวียดนาม, จีน และสินค้าท้องถิ่น
นางสาม โสธี แม่ค้าผลไม้วัย 57 ปีในตลาดเดิมกอ เล่าว่าเธอได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะสินค้านำเข้าจากไทยมีเพียงส่วนน้อย และมองว่า “นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับเกษตรกรของเราที่จะได้แข่งขันในตลาดท้องถิ่น”
เช่นเดียวกับ นางเมียน สุคม ที่ชี้ว่าแม้เธอจะไม่เดือดร้อนมากนักเพราะขายของจาก จ.กันดาล และกัมปงสปือเป็นหลัก แต่ก็ยอมรับว่า “ผลไม้บางชนิดอาจมีราคาแพงขึ้นเพราะเราเสียแหล่งนำเข้าไปหนึ่งแห่ง”
นายเจย เทค นักวิเคราะห์เศรษฐกิจของกัมพูชา ให้ทรรศนะว่าในเกมนี้ ประเทศไทยในฐานะผู้ขายจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด “ไทยส่งออกสินค้ามากัมพูชามูลค่าวันละ 14 ล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้เป็นผักผลไม้ถึง 1 ล้านดอลลาร์” เขากล่าว “ผักผลไม้ของไทยอาจเน่าเสียเพราะขายไม่ออก ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลและกองทัพไทย”
เขามองว่ากัมพูชามีทางเลือกอื่น เช่น การนำเข้าจากจีน หรือการส่งเสริมการผลิตในประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร “ไม่ว่าความตึงเครียดชายแดนจะนานแค่ไหน กัมพูชาจะได้ประโยชน์ในท้ายที่สุด ขณะที่ผู้ผลิตไทยต้องเผชิญกับกองสินค้าที่ขายไม่ออก”
ในทางกลับกัน เกษตรกรใน จ.กัมปอต และกำปงจาม ส่วนใหญ่ต่างยินดีกับมาตรการนี้ นางพัต พันนี ผู้ขายทุเรียนในกำปงจาม เผยว่ายอดขายของเธอเพิ่มขึ้นเพราะพ่อค้าชายแดนหันมารับซื้อจากเธอ แต่ นางชาย ศรีโส ผู้ขายทุเรียนในกัมปอต ก็แสดงความกังวลในระยะยาวว่า “เมื่อพวกเขานำเข้าอีกครั้ง สินค้าของพวกเขาจะถูกกว่าของเรา แม้ว่าของเราจะเป็นของธรรมชาติ แต่ราคาของเราก็สูงกว่า นั่นคือสิ่งที่ฉันกังวล”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กัมพูชา หยิบวรรณคดีไทย ขึ้นทะเบียนยูเนสโก้ 22 เรื่อง วธ. ว่าแบบนี้
- วัดภูม่านฟ้า คนแห่เที่ยวเพิ่มเท่าตัว หลังกัมพูชาฟ้องยูเนสโก ปมลอกนครวัด
- สาเหตุ 2 นทท.ไทย ตะบันหน้าทหารเขมร เจอยั่วก่อนจริงไหม ล่าสุดรู้ตัวมือสาวแล้ว
อ้างอิง : Khmer Times, Kiripost, cambodia expats online